ทุกวันนี้บรรดา บลจ. ต่างๆ ให้ความสำคัญกับการนำเสนอกองทุนรวมสำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการลงทุนเพื่อวัยเกษียณ พูดง่ายๆ มีการบริหารพอร์ตลงทุนเพื่อวัยเกษียณมากยิ่งขึ้น โดยจะออกแบบกองทุนรวมเพื่อมีนโยบายการลงทุนสอดคล้องกับการลงทุนเพื่อวัยเกษียณและผมเชื่อว่าอีกไม่นาน ผู้ลงทุนที่สนใจจะวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณผ่านกองทุนรวม จะสามารถลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีกองทุนรวมเพื่อวัยเกษียณ แต่ไม่ใช่สูตรสำเร็จ 100% เพราะในระหว่างทางต้องมีการปรับเปลี่ยนหน้าตาพอร์ตลงทุน เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ แต่ครั้นจะตัดสินใจปรับพอร์ตลงทุนด้วยตัวเอง ดูจะไม่ดีนักเพราะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ ดังนั้นจึงมีอาชีพหนึ่งขึ้นมา นั่นคือ นักวางแผนการเงิน
ผมเชื่อว่าในอนาคตนักวางแผนการเงินจะมีความสำคัญกับผู้ลงทุน โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการลงทุนเพื่อวัยเกษียณยิ่งต้องมีนักวางแผนการเงินคอยให้คำปรึกษาข้างกาย ซึ่งแน่นอนว่าต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้กับนักวางแผนการเงินด้วย
แต่วันนี้ ผู้ลงทุนอาจจะยังไม่คุ้นชินกับการต้องจ่ายค่าที่ปรึกษาให้กับนักวางแผนการเงิน บางคนถึงกับมองว่าทำไมต้องจ่ายเงินอีกในเมื่อต้องจ่ายให้กับผู้จัดการกองทุนไปแล้ว
ดังนั้น หากผู้ลงทุนไทยยังไม่พร้อมที่จะจ้างนักวางแผนการเงิน ก็สามารถเริ่มจัดพอร์ตลงทุนได้ด้วยตัวเอง
อันดับแรกเลย ก็ต้องรู้จักระดับความเสี่ยงของตัวเอง คือต้องวัดความเสี่ยง ซึ่งตามตำราทั่วไปจะมีปัจจัยในการวัดความเสี่ยงหลักๆ 5 อย่าง
1.สภาพคล่อง (Liquidity needs) ดูว่ามีทรัพย์สินที่มีสภาพคล่องมากน้อยแค่ไหน มีความต้องการในการใช้เงินมากน้อยแค่ไหน เพื่อที่จะนำมาวัดว่าตัวเองรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน
2.ระยะเวลาในการลงทุน (Time horizon) แนวคิดง่ายๆ ก็คือ ถ้ายังเหลือเวลาในการลงทุนนาน เช่น อายุ 30 ปี กว่าจะเกษียณยังมีระยะเวลาในการลงทุน 30 ปี แน่นอนว่ารับความเสี่ยงได้สูง ตรงกันข้ามหากเหลือเวลาในการลงทุนไม่มาก เช่น อายุ 50 ปีก็จะรับความเสี่ยงในการลงทุนได้น้อยตามไปด้วย
3.ภาษี (Tax) คือดูว่าในแต่ละปีจ่ายภาษีมากน้อยแค่ไหน
4.กฎระเบียบด้านการลงทุน (Legal & regulation) เพราะการลงทุนบางประเภทจะมีกฎระเบียบหรือข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนพอสมควร เช่น กองทุนรวม LTF หรือ RMF ซึ่งกฎระเบียบบางอย่างก็จะเป็นข้อจำกัดในการลงทุนเหมือนกัน
5.ความประสงค์ส่วนบุคคล (Unique preference) คือ ผู้ลงทุนจะมีความชอบการลงทุนแตกต่างกัน หมายความว่า ความชอบที่แตกต่างกันจะมีผลต่อการจัดพอร์ตลงทุน
แน่นอนว่าก่อนการลงทุน จะต้องตอบคำถาม 5 ข้อนี้ก่อน ซึ่งเป็นคำถามเบื้องต้นก่อนการลงทุน เพื่อที่จะให้ที่ปรึกษาทางการเงินนั้นสามารถจัดพอร์ตลงทุนให้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่รับได้
แต่การตอบคำถาม 5 ข้อ อาจจะยังไม่เพียงพอ ผมจึงอยากจะให้ผู้ลงทุนตอบคำถามดังต่อไปนี้เพิ่มก่อนตัดสินใจลงทุน
6.ความมั่นคงทางการเงิน เพราะแต่ละคนสถานะทางการเงินแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่การงาน ดังนั้นแต่ละอาชีพจะรับความเสี่ยงได้ไม่เท่ากัน ซึ่งส่งผลในแง่ของรายได้ที่ได้รับและเงินที่จะไปลงทุนต่อ ยกตัวอย่างเช่น อายุ 50 ปี คนแรกเป็นข้าราชการประจำ ก็จะมีรายได้แน่นอน มั่นคง ที่สำคัญมีสวัสดิการพร้อม ขณะที่คนที่สองอายุ 50 ปี มีอาชีพเป็นพนักงานขายสินค้า โดยเงินเดือนไม่สูงเพราะรายได้หลักขึ้นอยู่กับค่าคอมมิชชั่น แน่นอนค่าคอมมิชชั่นในแต่ละเดือนอาจจะไม่สม่ำเสมอ เพราะขึ้นอยู่กับผลงานในการขายสินค้า
ดังนั้น เวลาจัดพอร์ตลงทุนให้กับพนักงานขายสินค้า ความเสี่ยงของพอร์ตต้องอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า พูดง่ายๆ คนอายุเท่ากันก็ไม่ได้หมายความว่าการจัดพอร์ตจะต้องเหมือนกัน เพราะอย่างที่บอกแต่ละคน แต่ละอาชีพการงาน จะมีความมั่นคงด้านรายได้แตกต่างกัน ดังนั้นหน้าตาพอร์ต ความเสี่ยงต้องแตกต่างกันด้วย
7.พอร์ตการลงทุนเพื่อวัยเกษียณที่แท้จริงหรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงๆ ก็ขอแสดงความยินดีด้วย แต่ในทางปฏิบัติแล้ว มีความเป็นไปได้สูงมากที่จะมีการถอนเงินจากพอร์ตนี้ไปใช้ในทางอื่น เช่น อยากซื้อรถแต่เงินไม่พอ หรือเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินก็อาจจะถอนเงินจากพอร์ตการลงทุนเพื่อวัยเกษียณไปใช้ก่อน
ความหมายก็คือ หากผู้ลงทุนมีพอร์ตการลงทุนเพื่อวัยเกษียณอย่างแท้จริง คือ ไม่แตะเงินตรงนี้เลยจนกว่าจะเกษียณ พอร์ตการลงทุนก็สามารถรับความเสี่ยงสูงๆ ได้ ตรงกันข้ามหากยังมีการถอนเงินจากพอร์ตลงทุนเพื่อวัยเกษียณไปใช้อยู่ พอร์ตการลงทุนก็ต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น
8.วัตถุประสงค์ของการใช้เงินเพื่อวัยเกษียณ หมายความว่า หลังเกษียณไปแล้ว เงินที่เก็บออมเอาไว้นั้นจะนำไปใช้อะไรบ้าง เพราะประเด็นนี้จะมีผลต่อการจัดพอร์ตลงทุน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคิดว่าเงินก้อนนี้จะเก็บไว้ใช้คนเดียว พอร์ตลงทุนจะแตกต่างไปจากคนที่คิดว่าเงินก้อนนี้จะแบ่งเอาไว้ให้ลูกหลานใช้ด้วย
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคิดว่าหลังเกษียณจะใช้เงินคนเดียว อาจจะมีเงินแค่ 3 ล้านบาทก็เพียงพอแล้ว ขณะที่อีกคนมองว่าจะต้องเก็บเงินไว้ให้ลูกหลานใช้ด้วย อาจจะต้องมีเงินถึง 6 ล้านบาท ดังนั้นหน้าตาพอร์ตลงทุน และการรับความเสี่ยงต้องแตกต่างกัน
9.ที่มาของรายได้หลังเกษียณ บางคนหลังเกษียณออกไปแล้วนอกจากจะมีเงินก้อนจากการเก็บออมเพื่อวัยเกษียณแล้ว อาจจะมีรายได้จากช่องทางอื่นๆ ด้วย เช่น ลูกหลานจ่ายเป็นรายเดือน มีรายได้จากการเป็นที่ปรึกษา หรือมีรายได้จากการเปิดร้านของเล็กๆ น้อยๆ
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าหลังเกษียณออกไปแล้วจะมีรายได้จากช่องทางอื่นๆ ที่แน่นอน แต่ในความเป็นจริงแล้วก็ต้องวางแผนการเงินเพื่อเกษียณเป็นหลัก อย่าไปหวังพึ่งรายได้อื่นๆ ว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะหากไม่มีรายได้อื่นๆ เข้ามา ความเสี่ยงจะเกิดขึ้นทันที
10.จะมีอายุยืนยาวกี่ปี คนเราไม่สามารถกำหนดวันตายได้ แต่อย่างน้อยก็ต้องคิดเผื่อเอาไว้ตั้งแต่วัยทำงาน โดยอาจจะใช้ค่าเฉลี่ยอายุของคนไทยเป็นตัวกำหนด เช่น 80 ปี เพราะการที่คิดเรื่องการมีชีวิตอยู่หลังเกษียณนั้น จะทำให้รู้ว่าจะต้องเก็บเงินเอาไว้ใช้หลังเกษียณอีกกี่ปี เช่น คิดว่าจะมีอายุ 80 ปี แสดงว่าหลังเกษียณ (60 ปี) จะมีอายุอีก 20 ปี หมายความว่าจะต้องเก็บเงินไว้ใช้หลังเกษียณอีก 20 ปี ซึ่งมีผลต่อการจัดพอร์ตลงทุนเพื่อวัยเกษียณ
แน่นอนว่าทั้ง 10 ข้อนี้ โดยเฉพาะ 5 ข้อหลัง จะมีรายละเอียดเยอะพอสมควร บางครั้งอาจจะไม่สามารถคิดเองได้ ก็ต้องใช้นักวางแผนการเงินเข้ามาช่วยในการหาคำตอบเพื่อจัดพอร์ตลงทุนเพื่อวัยเกษียณ ซึ่งผมมองว่าถึงแม้จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้กับนักวางแผนการเงิน แต่ในระยะยาวมีความคุ้มค่าอย่างแน่นอน