กองทุนหุ้นสหรัฐฯ เลือก Active หรือ Passive

กองทุนหุ้นสหรัฐฯ นับเป็นหนึ่งในกองทุนหุ้นต่างประเทศที่ติดอันดับจำนวนกองทุนมากที่สุดในอุตสาหกรรมกองทุนรวมของไทย 

Morningstar 20/04/2568
Facebook Twitter LinkedIn

1

กองทุนหุ้นสหรัฐฯ นับเป็นหนึ่งในกองทุนหุ้นต่างประเทศที่ติดอันดับจำนวนกองทุนมากที่สุดในอุตสาหกรรมกองทุนรวมของไทย โดยปัจจุบันมีจำนวนประมาณ 150 กองทุน (นับรวมทุกชนิดหน่วยลงทุน) คิดเป็นมูลค่าทรัพย์สินรวมสูงถึง 1.16 แสนล้านบาท (อ้างอิงจากข้อมูล NAV ล่าสุด ณ 3 เม.ย. 68) โดยมีทั้งกลยุทธ์การลงทุนที่เน้นลงทุนผ่านกองทุนต่างประเทศการลงทุนทางตรงในหุ้นสหรัฐฯ รวมถึงการลงทุนแบบผสมทั้งการลงทุนผ่านกองทุนต่างประเทศและการลงทุนทางตรง ซึ่งหากพิจารณาจากสัดส่วนทรัพย์สินของแต่ละกลยุทธ์นั้น พบว่าการลงทุนผ่านกองทุนต่างประเทศมีสัดส่วนมากที่สุด ประมาณ 98%

ในด้านเป้าหมายการลงทุน กองทุนหุ้นสหรัฐฯที่เสนอขายในปัจจุบันมากกว่าครึ่งหนึ่ง (พิจารณาจากสัดส่วนมูลค่าทรัพย์สิน) เป็นกองทุนที่มีเป้าหมายแบบเชิงรับ (Passive) คือ กองทุนที่มีเป้าหมายการสร้างผลตอบแทนให้เคลื่อนไหวไปตามดัชนีที่อ้างอิง ซึ่งส่วนใหญ่จะอ้างอิงกับดัชนีหลักๆของตลาดหุ้นสหรัฐฯ เช่น S&P 500, NASDAQ, Russell เป็นต้น ในขณะที่กลุ่มกองทุนเชิงรุก (Active) ซึ่งมีเป้าหมายในการสร้างผลตอบแทนที่เหนือกว่าดัชนี มีสัดส่วนประมาณ 39%

1

กองทุนประเภท Passive ได้รับความนิยมจากนักลงทุนเพิ่มมากขึ้น

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจนถึงในปีนี้ กองทุนหุ้นสหรัฐฯมีเงินไหลเข้าต่อเนื่อง โดยมียอดเงินไหลเข้าเฉลี่ยปีละประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งตั้งแต่ปี 2563 – 2564 กองทุนประเภท Active มีเงินไหลเข้าสูงกว่ากองทุน Passive โดยเฉพาะในปี 2564 ที่เงินไหลเข้าในกองทุน Passive แตะระดับสูงสุดที่เกือบ 1.5 หมื่นล้านบาท จากนั้นตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา กองทุนประเภท Passive เริ่มมีเงินไหลเข้าเพิ่มขึ้นจนอยู่ในระดับสูงกว่ากองทุน Active และขึ้นไปแตะระดับสูงสุดในปี 2567 ที่มีเงินไหลเข้าเกือบ 1.6 หมื่นล้าน ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าที่กองทุน Active เคยทำได้ในปี 2564 ทั้งนี้ เงินไหลเข้าในกองทุน Passive ส่วนใหญ่ จะเป็นกองทุนที่มีกองทุนหลักอ้างอิงกับดัชนี S&P 500 และ NASDAQ 100 ซึ่งเป็นสองดัชนีสำคัญของตลาดหุ้นสหรัฐฯ

1

ผลการดำเนินงาน Active เอาชนะ Passive ได้จริงหรือ?

ผลตอบแทนย้อนหลังรายปีปฎิทินในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา รวมถึงในปี 2568 พบว่ากองทุน Active สามารถสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยเหนือกว่ากองทุน Passive ได้เพียง 2 ปีคือ ปี 2563 และ 2566 ซึ่งเป็นปีที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น ในทางตรงข้าม เป็นที่น่าสังเกตว่าในปีที่ตลาดปรับตัวลดลง เช่นในปี 2565 และปีนี้ ผลตอบแทนของกองทุน Passive จะมีการปรับตัวลดลงน้อยกว่ากองทุน Active

1

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลข้างต้นเป็นเพียงผลตอบแทนเฉลี่ยของกองทุน ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีกองทุน Active กองทุนใดที่สามารถสร้างผลตอบแทนเหนือกว่าดัชนีได้เลย โดยหากพิจารณาช่วงกว้างของผลตอบแทนในกลุ่มกองทุน Active จะพบว่ามีช่วงกว้างค่อนข้างสูงระหว่างกองทุนที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงสุดและต่ำสุด ข้อมูลดังกล่าวจึงชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของความสามารถในการบริหารจัดการของผู้จัดการกองทุนและการคัดเลือกกองทุนที่ถูกต้องเพื่อการสร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืน

1

ในอีกด้านหนึ่ง ปัจจัยที่มักมาคู่กับผลตอบแทนคือความผันผวน ซึ่งเมื่อพิจารณาระดับความผันผวนย้อนหลังในอดีตจะพบว่ากองทุนประเภท Passive มีระดับความผันผวนที่ต่ำกว่ากองทุน Active มาอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยกรอบค่าความผันผวนของกองทุนประเภท Passive จะอยู่ที่ 10.9% - 22.7% ในขณะที่กองทุน Active อยู่ที่ 18.3% - 31.6%

1

ต้นทุนในการลงทุน: เรื่องเล็กที่กระทบผลตอบแทน

ปัจจัยหนึ่งที่นักลงทุนไม่ควรมองข้าม ได้แก่ค่าธรรมเนียมของกองทุน โดยเฉพาะค่าธรรมเนียมการจัดการซึ่งมักจะเป็นค่าธรรมเนียมที่มีสัดส่วนสูงที่สุดในกลุ่มค่าธรรมเนียมต่างๆ และมีโอกาสส่งผลต่อความแตกต่างของผลตอบแทนได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยจากข้อมูลกองทุนหุ้นสหรัฐฯของไทย พบว่ากองทุนประเภท Active มีค่าธรรมเนียมการจัดการเฉลี่ย 1.13% ในขณะที่กองทุน Passive มีค่าธรรมเนียมเฉลี่ย 0.71% ซึ่งจะเห็นว่าส่วนต่างของค่าธรรมเนียมราว 40 bps ดังนั้นนักลงทุนจึงควรพิจารณาว่าผลตอบแทนที่กองทุน Active จะมีโอกาสสร้างได้นั้น อยู่ในระดับมากเพียงพอที่จะชดเชยค่าธรรมเนียมต่างๆที่เกิดขึ้นหรือไม่

1

นอกจากนี้ อีกปัจจัยหนึ่งที่อาจส่งผลต่อผลการดำเนินงานของกองทุนคือ นโยบายการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐและบาท โดยหากกองทุนมีนโยบายป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ก็จะต้องพิจารณาถึงต้นทุนในการป้องกันความเสี่ยงด้วย และในทางตรงกันข้าม หากกองทุนไม่มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน ก็อาจจะทำให้กองทุนมีโอกาสทั้งในการสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่ม หรือโอกาสขาดทุนจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนได้ โดยหากเปรียบเทียบจากผลตอบแทนของดัชนี S&P 500 ในรูปสกุลเงิน USD และรูปสกุลเงินบาท จะพบว่าในปี 2564 ความแตกต่างของผลตอบแทนอยู่ในระดับค่อนข้างสูง เนื่องจากการแข็งค่าของค่าเงินสหรัฐเมื่อเทียบกับค่าเงินบาท (เงินบาทอ่อนค่า) โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐฯภายหลังสถานการณ์แพร่ระบาด COVID-19 และธนาคารกลางมีการส่งสัญญาณถึงโอกาสในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา ผลตอบแทนในรูปสกุลเงินบาทและสกุลเงินดอลลาร์มีความแตกต่างกันไม่สูงมากนัก โดยผลตอบแทนในรูปสกุลเงินบาทจะน้อยกว่าผลตอบแทนในรูปสกุลเงิน USD เล็กน้อย

1

อาจไม่มีคำตอบที่ถูกต้องที่สุด

หลังจากการปรับตัวลดลงอย่างมากของตลาดหุ้นสหรัฐฯในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นักลงทุนหลายท่านอาจเริ่มพิจารณาการเข้าลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ โดยหากพิจารณาจากปัจจัยต่างๆตามที่กล่าวมาในข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นทิศทางเงินลงทุน ผลการดำเนินงาน และต้นทุนต่างๆ อาจดูเหมือนว่ากองทุนแบบ Passive เป็นทางเลือกการลงทุนที่น่าสนใจไม่น้อยสำหรับการลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ และอาจเป็นทางเลือกการลงทุนที่เหมาะสมสำหรับนักลงทุนมือใหม่ที่อยากเข้าลงทุนในตลาด อย่างไรก็ตาม ในอีกมุมหนึ่ง ยังคงต้องไม่ลืมว่ากองทุน Active หลายกองทุนก็ยังคงสร้างผลตอบแทนได้อย่างน่าประทับใจ และอาจต้องให้ระยะเวลาในการพิสูจน์ความสามารถของผู้จัดการกองทุน เนื่องจากส่วนใหญ่จะเน้นมุมมองการลงทุนระยะยาว โดยความได้เปรียบของกองทุนแบบ Active ก็คือการคัดเลือกหรือหลบหลีกการลงทุนในบางหลักทรัพย์หรือบางกลุ่มอุตสาหกรรมที่ผู้จัดการกองทุนสามารถมองเห็นและเข้าทำกำไรได้ก่อนตลาด

สุดท้ายแล้ว การกระจายความเสี่ยงระหว่างทั้งสองแนวทางอาจเป็นทางเลือกที่ดี โดยไม่ต้องเลือกเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยนักลงทุนบางท่านอาจเลือกใช้กองทุน Passive เป็นพอร์ตหลัก เพราะมีต้นทุนต่ำและมีทิศทางสอดคล้องไปกับการเติบโตของตลาดโดยรวม ขณะที่กองทุน Active อาจถูกใช้เป็น “เครื่องมือเสริม” ที่ช่วยสร้างโอกาสในการเพิ่มผลตอบแทนหรือลดความเสี่ยงในบางสถานการณ์  ดังนั้น คำถามว่าควรเลือกลงทุนในหุ้นสหรัฐฯแบบ Active หรือ Passive อาจจะไม่สามารถตอบได้ง่ายนัก หากแต่นักลงทุนต้องพิจารณาหลายปัจจัยประกอบกันว่าอะไรคือสิ่งที่เหมาะสมที่สุดสำหรับเป้าหมายการลงทุนของนักลงทุนแต่ละราย

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar  Morningstar