เมื่อการลงทุนไม่ใช่แค่ตัวเลขผลตอบแทน

โดยปกติ นักลงทุนอาจคัดเลือกสินทรัพย์หรือกองทุนที่จะลงทุนโดยให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านผลตอบแทนเป็นหลัก แต่อีกปัจจัยที่มีความสำคัญไม่แพ้กันนั่นก็คือ ความเสี่ยง 

Morningstar 21/02/2568
Facebook Twitter LinkedIn

1

โดยปกติ นักลงทุนอาจคัดเลือกสินทรัพย์หรือกองทุนที่จะลงทุนโดยให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านผลตอบแทนเป็นหลัก แต่อีกปัจจัยที่มีความสำคัญไม่แพ้กันนั่นก็คือ ความเสี่ยง ที่อาจส่งผลให้ผลตอบแทนที่คาดหวังนั้นไม่เป็นไปตามเป้าหมายได้ ทั้งนี้เครื่องมือที่นักลงทุนจะใช้วัดความเสี่ยงของกองทุนนั้นค่อนข้างมีความหลากหลาย แต่ตัวชี้วัดที่ค่อนข้างใช้กันอย่างแพร่หลายและสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย คือ ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน หรือ Standard Deviation (SD) ซึ่งเป็นการวัดว่าผลตอบแทนของสินทรัพย์หรือกองทุนที่เราสนใจนั้นมีการเบี่ยงเบนไปจากค่าเฉลี่ยในอดีตมากน้อยเพียงใด โดยค่า SD ยิ่งสูง ก็หมายถึงความเหวี่ยงของผลตอบแทนที่สูงขึ้นเมื่อเทียบค่าเฉลี่ย ซึ่งสะท้อนถึงความเสี่ยงของการลงทุนที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง

สำหรับกองทุนรวมของไทย ข้อมูลสถิติในปี 2567 พบว่าประเภทกองทุนที่มีค่า SD สูงสุด คือ Commodities Energy ซึ่งเป็นประเภทกองทุนที่เน้นลงทุนในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับด้านพลังงาน เช่น น้ำมัน เป็นต้น รองลงมา คือ China Equity และ Global Technology ตามลำดับ โดย 10 อันดับประเภทกองทุนที่มีค่า SD สูงสุดล้วนเป็นกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นต่างประเทศทั้งหมด และเป็นกองทุนที่เน้นลงทุนในประเทศกลุ่ม Emerging markets ถึง 6 ประเภทกองทุน ในขณะที่กลุ่มกองทุนหุ้นไทยนั้นมีค่า SD เฉลี่ยประมาณ 13.5% ในปีที่ผ่านมา นับเป็นระดับที่ยังคงต่ำกว่ากองทุน 10 อันดับแรกนี้  

1

ในทางตรงกันข้าม ประเภทกองทุน 10 อันดับแรกที่มีค่า SD ต่ำที่สุดส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้เกือบทั้งหมด โดยไล่เลียงไปตามอายุเฉลี่ยตราสารหนี้และประเภทตราสารหนี้ ตัวอย่างเช่น กองทุนตราสารตลาดเงิน (Money Market Fund) ซึ่งเป็นกองทุนที่เน้นลงทุนในตราสารระยะสั้นที่มีสภาพคล่องสูง จะมีค่า SD ต่ำที่สุด รองลงมาคือ กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น (Short Term Bond) และ กองทุนตราสารหนี้ระยะกลาง-ยาว (Mid/Long Term Bond) ตามลำดับ 

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าในประเภทกองทุน 10 อันดับแรกที่มีค่า SD ต่ำสุดนี้ นอกเหนือไปจากกองทุนตราสารหนี้แล้ว ยังมีกองทุนผสมติดอยู่ในอันดับ 6 โดยเป็นกองทุนในกลุ่ม Conservative Allocation ซึ่งจะมีการลงทุนส่วนใหญ่ในตราสารหนี้และมีสัดส่วนในหุ้นโดยเฉลี่ยไม่เกิน 35% นอกจากนี้ จะเห็นว่ามีกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ 3 ประเภทที่ติดอันดับด้วย คือ Global High Yield Bond, Emerging Market Bond และ Global Bond โดยกองทุน Global Bond มีค่าเฉลี่ย SD สูงที่สุดใน 3 ประเภทกองทุนนี้ 

1

ทั้งนี้ SD เป็นการวัดความเบี่ยงเบนของผลตอบแทนจากค่าเฉลี่ย โดยจะพิจารณาจากทั้งผลตอบแทนที่สูงกว่าและต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ซึ่งในแง่ของนักลงทุนแล้วอาจมองว่าผลตอบแทนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยนั้นไม่ได้เป็นความเสี่ยงเสมอไป ดังนั้น นอกจาก SD แล้ว อีกมาตรวัดหนึ่งที่นักลงทุนอาจนำมาใช้วัดความเสี่ยงจากการลงทุนคือ ค่า Maximum drawdown หรือระดับการขาดทุนสูงสุดที่เกิดขึ้นจริง โดยวัดจากจุดสูงสุดของกองทุนไปยังจุดต่ำสุด ซึ่งนอกจากค่าขาดทุนสูงสุดแล้ว นักลงทุนมักจะพิจารณาควบคู่กับระยะเวลาที่ใช้ในการฟื้นตัวจากจุดขาดทุนสูงสุดนั้นสู่จุดเดิม

ในปี 2567 ประเภทกองทุนรวมของไทยที่มีระดับการขาดทุนสูงสุด 4 อันดับแรก คือ Commodities Energy, Japan Equity, China Equity และ Global Technology ซึ่งจะเห็นว่าเป็นกลุ่มกองทุนเดียวกันกับที่มีค่า SD สูงสุด โดยกองทุนที่มีระดับขาดทุนติดลบ 2 อันดับแรก คือ Commodities และ Japan Equity นั้น มีระดับขาดทุนสูงสุดราว -19% ถึง -20% และระดับผลตอบแทนในปัจจุบันยังสามารถไม่ฟื้นตัวกลับจุดเดิมได้ ในขณะที่กองทุนในกลุ่ม China Equity นั้น มีระดับขาดทุนสูงสุดราว -16% ในปีที่ผ่านมา โดยเป็นการปรับตัวติดลบสูงสุดในช่วงต้นเดือนกันยายน หลังจากที่ตลาดมีปัจจัยกดดันอย่างรอบด้านไม่ว่าจะเป็นปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ความอ่อนแอของตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ยังคงไม่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม ต่อมาภาครัฐของจีนได้ประกาศนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและตลาดทุนครั้งใหญ่ในช่วงปลายเดือน ทำให้ตลาดหุ้นจีนฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งและกลับสู่จุดสูงสุดเดิมของปี โดยใช้เวลาเพียง 17 วัน

1

ถึงแม้ว่ากลุ่มกองทุนหุ้นไทยจะไม่ติดอันดับในกลุ่มกองทุนที่มีค่า SD สูงสุดในปีที่ผ่านมา แต่จากตารางด้านบน จะเห็นว่ามีกลุ่มกองทุนหุ้นไทยติดอันดับกองทุนที่มีผลตอบแทนขาดทุนสูงสุด 2 กลุ่ม คือ Property – Indirect และ Equity Small/Mid Cap ซึ่งมีระดับขาดทุนสูงสุดใกล้เคียงกันที่ราวๆ -14% โดย Property – Indirect เป็นกองทุนที่เน้นลงทุนในบริษัทในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์หรือโครงสร้างพื้นฐานที่จดทะเบียนในไทย ซึ่งมีการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีจนแตะจุดต่ำสุดในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม ก่อนจะฟื้นตัวกลับขึ้นไปจุดสูงสุดเดิมได้ อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาต่อมาก็มีการปรับตัวลดลงตามทิศทางของตลาดหุ้นไทย ในขณะที่กลุ่ม Equity Small/Mid Cap นั้น มีการปรับตัวลดลงสูงสุดในช่วงเดือนสิงหาคม และมีการฟื้นตัวขึ้นได้ในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม แต่ยังคงไม่กลับสู่จุดสูงสุดเดิม จนกระทั่งตลาดปรับตัวลดลงในเวลาต่อมา

ทั้งนี้ เรามักเคยได้ยินประโยคเกี่ยวกับการลงทุนที่ว่า “High Risk, High Return” ซึ่งเป็นการกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างความเสี่ยงและผลตอบแทน ที่โดยปกตินั้นระดับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นก็มักจะมาพร้อมกับผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม ในโลกแห่งการลงทุนที่เกิดขึ้นจริง ความสัมพันธ์ดังกล่าวอาจไม่ได้เกิดขึ้นจริงเสมอไป โดยหากนำประเภทกองทุน 10 อันดับแรกที่มีค่า SD สูงสุด มาเปรียบเทียบกับผลตอบแทนที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา พบว่า กองทุนในกลุ่ม Commodities Energy ซึ่งมีระดับความผันผวนสูงที่สุดนั้น กลับไม่ได้สร้างผลตอบแทนสูงที่สุดในกลุ่ม โดยยังมีอีกหลายประเภทกองทุนที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงกว่า และมีบางประเภทกองทุนที่ถึงแม้ว่าจะมีความผันผวนสูง แต่ผลตอบแทนยังคงปรับตัวติดลบได้เช่นกัน

1

ดังนั้น ในการพิจารณาการลงทุนแล้ว นอกเหนือไปจากปัจจัยด้านผลตอบแทน เราจึงควรคำนึงถึงโอกาสที่ผลตอบแทนที่จะไม่เป็นไปตามคาดหวังจากความเสี่ยงต่างๆเหล่านี้ด้วย โดยอาจนำมาตรวัดอื่นๆมาประกอบการพิจารณา เช่น Sharpe ratio ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบผลตอบแทนส่วนเกินจากการลงทุนในสินทรัพย์ที่ปราศจากความเสี่ยง เทียบกับค่าความผันผวน ซึ่งค่า Sharpe ratio ยิ่งสูงก็จะหมายถึงกองทุนนั้นสามารถสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่มเพื่อชดเชยกับความเสี่ยงได้ดีกว่า โดยในปี 2567 ประเภทกองทุนในอุตสาหกรรมที่มีค่า Sharpe ratio ดีที่สุด คือ Commodities Precious Metals ซึ่งเป็นกลุ่มโลหะมีค่า เช่น ทองคำ ซึ่งในปีที่ผ่านมามีผลตอบแทนเฉลี่ยกว่า 20% ในขณะที่มีความผันผวนค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับกองทุนหุ้น ทำให้ค่าผลตอบแทนเมื่อเทียบกับความเสี่ยงหรือ Sharpe Ratio มีระดับสูงสุดเมื่อเทียบกับกองทุนประเภทอื่นๆ

 

ในทางตรงกันข้าม ประเภทกองทุนที่มีค่า Sharpe ratio ต่ำที่สุดในปีที่ผ่านมา คือ กองทุนกลุ่ม Global Healthcare ที่ถึงแม้ว่าจะมีความผันผวนสูง แต่ผลตอบแทนที่เกิดขึ้นกลับติดลบสูงที่สุดเมื่อเทียบกับกองทุนอื่นๆ จึงทำให้ค่า Sharpe ratio ค่อนข้างต่ำ นอกจากนี้ กองทุนหุ้นไทยในกลุ่ม Small/Mid Cap ยังติดในกลุ่มเป็นอันดับ 2 ของประเภทกองทุนที่มีค่า Sharpe ratio ต่ำที่สุด และนัวมีกองทุนตราสารหนี้หลากหลายประเภทที่ติดในกลุ่มนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผลตอบแทนที่เกิดขึ้นอาจยังไม่สามารถชดเชยผลตอบแทนจากการลงทุนในสินทรัพย์ที่ปราศจากความเสี่ยงได้มากพอเมื่อเทียบกับระดับความเสี่ยง

1

หากนักลงทุนรู้สึกว่าการพิจารณาปัจจัยด้านความเสี่ยงควบคู่กับผลตอบแทนนี้เป็นเรื่องยาก อาจเริ่มต้นจากการนำ Morningstar rating หรือสัญลักษณ์รูปดาว XXXX มาประกอบการพิจารณาแทนได้ เนื่องจากการจัดอันดับ Morningstar rating นี้จะพิจารณาทั้งในด้านประวัติผลตอบแทนและความเสี่ยงของแต่ละกองทุนควบคู่กันอยู่แล้ว โดยจำนวนดาว Morningstar rating ยิ่งมาก ก็จะบ่งบอกถึงประวัติผลตอบแทนที่ดีกว่ากองทุนอื่นๆในกลุ่มเมื่อเทียบกับระดับความเสี่ยง ทั้งนี้ เครื่องมือข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างปัจจัยที่สามารถนำมาใช้ในการพิจารณาการลงทุน โดยเฉพาะในด้านความเสี่ยงซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น ปัจจัยด้านมหภาค, ประเภทสินทรัพย์ที่ลงทุน, ปัจจัยเฉพาะของแต่ละประเทศ รวมถึงกลยุทธ์การลงทุนของทีมผู้จัดการกองทุน เป็นต้น ดังนั้น นอกเหนือไปจากปัจจัยด้านผลตอบแทนแล้ว นักลงทุนจึงควรพิจารณาถึงปัจจัยความเสี่ยงเหล่านี้ให้รอบด้านมากยิ่งขึ้น เพื่อให้การลงทุนเป็นไปถึงเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar  Morningstar