กองทุนตัวท็อปประจำปี 2567

ปี 2567 นับเป็นอีกหนึ่งปีทองของอุตสาหกรรมกองทุนรวมไทย ทั้งในด้านอัตราการเติบโตของทรัพย์สิน, เงินลงทุนไหลเข้า, กองทุนออกใหม่ 

Morningstar 10/02/2568
Facebook Twitter LinkedIn

ปี 2567 นับเป็นอีกหนึ่งปีทองของอุตสาหกรรมกองทุนรวมไทย ทั้งในด้านอัตราการเติบโตของทรัพย์สิน, เงินลงทุนไหลเข้า, กองทุนออกใหม่ และผลการดำเนินงานที่โดดเด่น บทความฉบับนี้จึงได้สรุปสุดยอดกองทุนตัวท็อปของอุตสาหกรรมในแต่ละด้าน เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับนักลงทุนที่กำลังพิจารณาลงทุนในกองทุนประเภทต่างๆสำหรับปี 2568 นี้

กองทุนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรม

กองทุน K-SF-A ของ บลจ.กสิกรไทย ยังคงรักษาตำแหน่งกองทุนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของอุตสาหกรรมไว้ได้อีกปีหนึ่ง ด้วยขนาดทรัพย์สินสุทธิโดยรวมกว่า 2 แสนล้านบาท ทิ้งห่างกองทุนอันดับ 2 เกือบเท่าตัว   ตามมาด้วย K-SFPLUS ที่ได้ไต่อันดับแซงหน้ากองทุน B-TNTV ของ บลจ.บัวหลวง และ SCBSFFPLUS-A ของ บลจ.ไทยพาณิชย์ ที่เคยเป็นกองทุนที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 2 และ 3 ในปีก่อนหน้านี้  โดยกองทุนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดทั้ง 10 อันดับนั้น ล้วนเป็นกองทุนในกลุ่มที่เน้นลงทุนตราสารหนี้ในประเทศทั้งสิ้น

1

หากไม่รวมกองทุนตราสารหนี้ในประเทศทั้ง 3 กลุ่ม (Money market, Short term bond และ Mid/Long Term Bond) กองทุน 10 อันดับแรกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดนั้นมีความหลากหลายทั้งด้านการลงทุน และประเภทกองทุน เช่น กลุ่ม Equity Large-Cap, Global Equity, Allocation เป็นต้น สังเกตเห็นว่า 7 ใน 10 กองทุนนั้นล้วนเป็นกองทุนเพื่อลดหย่อนภาษี ซึ่งมี บลจ.บัวหลวง ครองตำแหน่งกองทุนที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ทั้งในกลุ่มกองทุน LTF (B-LTF) และ RMF (B-FLRMF) ในขณะที่กองทุนทั่วไป มีกองทุน ES-GQG ของ บลจ.อีสท์สปริง ที่มีขนาด เกือบ 2.2 หมื่นล้านบาท และนับเป็นกองทุนเดียวในกลุ่ม Global Equity ที่ติดโผกองทุน 10 อันดับนี้

1

กองทุน K-WPBALANCED จาก บลจ.กสิกรไทย เป็นกองทุนที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่ม Moderate Allocation ที่ 1.6 หมื่นล้านบาท โดยในปีที่แล้วไม่มีกองทุนใดในกลุ่มนี้ติด 10 อันดับแรกได้ , กองทุน AIA-ES50 ของ บลจ.เอไอเอ เป็นกองทุน Equity Large-Cap ที่ไม่ใช่กองทุนลดหย่อนภาษีที่ใหญ่ที่สุด และเป็นกองทุนเดียวใน 10 อันดับแรก แซงกองทุน ES-SET50-A ของบลจ.อีสท์สปริงที่เคยครองแชมป์ปีที่แล้ว

กองทุนที่มีเงินไหลเข้า-ออกสูงที่สุด

กองทุนที่มีเงินไหลเข้าสูงสุดยังคงกระจุกตัวอยู่ในกองทุนตราสารหนี้ในประเทศ และเป็นกองทุนของ บลจ. เพียง 4 ราย ได้แก่ บลจ.กสิกรไทย, บลจ.เกียรตินาคินภัทร, บลจ.กรุงศรี และ บลจ.ไทยพาณิชย์ โดย บลจ.กสิกรไทยครองแชมป์จำนวนกองทุนที่มีเงินไหลเข้ามากที่สุด 5 กองทุน ซึ่งมีทั้งกองทุน K-SF-A ที่มีเงินไหลเข้าในปีที่ผ่านมาเกือบ 4.3 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ยังมีกองทุน K-WPBALANCED และ K-WPSPEEDUP ซึ่งเป็นเพียง 2 กองทุนในกลุ่มที่ไม่ใช่กองทุนประเภทตราสารหนี้ และติดอันดับกองทุนที่มีเงินไหลเข้าสูงที่สุด

ในทางตรงกันข้าม กองทุนที่มีเงินไหลออกสูงสุดค่อนข้างมีความหลากหลาย โดยมีทั้งกองทุนในกลุ่มตราสารหนี้, กองทุนหุ้นไทย และกองทุนหุ้นต่างประเทศ โดยในกลุ่มกองทุนที่มีเงินไหลออกสูงสุด 10 อันดับแรก เป็นกองทุน LTF ถึง 3 กองทุน ได้แก่ กองทุน B-LTF, BLTF75 และ SCBLT1 ซึ่งทั้ง 3 กองทุนเป็นกองทุนที่ติดอันดับกองทุนที่มีขนาดใหญ่ที่สุด 10 อันดับแรกที่ไม่ใช่กองทุนตราสารหนี้ในประเทศ

1

หากวิเคราะห์เฉพาะในกลุ่มกองทุนหุ้น พบว่ากองทุนที่มีเงินไหลเข้าสูงสุด 10 อันดับแรกล้วนเป็นกองทุนหุ้นต่างประเทศทั้งหมด โดยส่วนใหญ่เป็นกองทุนในกลุ่ม Global Equity ถึง 5 กองทุน รองลงมา คือกองทุน US Equity และ Vietnam Equity ตามลำดับ

ทั้งนี้ กองทุนที่มีเงินเข้ามากที่สุดในกลุ่ม คือ กองทุน SCBVNALPHA ของ บลจ.ไทยพาณิชย์ ซึ่งมีกลยุทธ์เน้นลงทุนในหุ้นเวียดนาม โดยมีเงินไหลเข้าเกือบ 8 พันล้านบาท, รองลงมา คือ กองทุน K-GLOBE ของ บลจ.กสิกรไทย ซึ่งเป็นกองทุน Global Equity ที่มีเงินไหลเข้าสูงที่สุด  4.7 พันล้านบาท และกองทุน K-US500X-A(A) ของ บลจ.กสิกรไทยอีกเช่นกัน นับเป็นกองทุนหุ้นสหรัฐฯที่มีเงินไหลเข้าสูงสุด เกือบ 3 พันล้านบาท ในขณะที่กองทุน SCBSEMI(A) ของ บลจ.ไทยพาณิชย์ เป็นกองทุนกลุ่มอุตสาหกรรมกองทุนเดียวที่ติดในกลุ่ม โดยมีเงินไหลเข้าในปีที่ผ่านมาราว 2.4 พันล้าน

1

กองทุนออกใหม่ยอดฮิต

ในปี 2567 มีกองทุนออกใหม่รวมถึงกองทุนที่มีการแตกชนิดหน่วยลงทุนใหม่ รวมกันเป็นจำนวนกว่า 300 กองทุน (ไม่รวมกองทุนประเภท Fix term) โดยกองทุนออกใหม่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด 4 อันดับแรกเป็นกองทุนเดียวกันกับกองทุนที่มีเงินไหลเข้ามากที่สุด 4 อันดับแรก นำโดย กองทุน SCBVNALPHA ของ บลจ.ไทยพาณิชย์ ซึ่งมีนโยบายเน้นลงทุนในหุ้นเวียดนาม โดยมีขนาดกองทุน ณ สิ้นปี 2567 ที่ 8.4 พันล้านบาท และมีเงินไหลเข้าตลอดทั้งปีรวมประมาณ 7.9 พันล้านบาท นอกจากนี้ บลจ.ไทยพาณิชย์ ยังมีกองทุนติดอันดับอีก 1 กองทุน คือ กองทุน SCBDBOND(A) ซึ่งเป็นกองทุนที่เน้นลงทุนตราสารหนี้ในประเทศ

ทั้งนี้ กองทุนทั้ง 5 อันดับมีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นกองทุนหุ้นเวียดนาม (SCBVNALPHA), กองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ (BCAP-DHSL), กองทุนตราสารหนี้ในประเทศ (SCBDBOND(A) และ B-ST), กองทุนหุ้นทั่วโลก (TGQUALITY-A) และกองทุนที่เน้นลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล (MBTCETF-UI) นอกจากนี้ ยังเป็นที่น่าสังเกตว่ามีกองทุนสำหรับผู้ลงทุนที่ไม่ใช่รายย่อยติดอันดับถึง 2 กองทุน คือ SCBVNALPHA และ MBTCETF-UI แสดงให้เห็นถึงศักยภาพการเติบโตของนักลงทุนในกลุ่มนี้

1

กองทุนที่มีผลตอบแทนสูงที่สุด

หากพิจารณาในภาพรวมทั้งอุตสาหกรรม กองทุน 5 อันดับแรกที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุดในปี 2567 ล้วนมีการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ซึ่งกองทุนที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงสุด คือ กองทุน LHESPORT ของ บลจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ มีผลตอบแทน 40.51% ในปีที่ผ่านมา ใกล้เคียงกับกองทุนอันดับ 2 อย่าง DAOL-PLAY ของ บลจ.ดาโอ ซึ่งลงทุนในกองทุนหลักเดียวกัน คือ VanEck Vectors Video Gaming and eSports ETF

1

นอกจากนี้ กองทุนที่สร้างผลตอบแทนได้สูงที่สุดในแต่ละ Morningstar category 10 อันดับแรก ยังสามารถสร้างผลตอบแทนได้ในระดับ 20% ขึ้นไป โดยส่วนใหญ่ยังคงเป็นกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นต่างประเทศ ทั้งในตลาดพัฒนาแล้ว และตลาดเอเชีย รวมถึงกลุ่มที่เน้นเจาะจงเป็นรายอุตสาหกรรม อีกทั้งยังมีกองทุนในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์อย่างเช่นทองคำ ติดในกลุ่มกองทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดเช่นกัน

1

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar  Morningstar