We are currently investigating intermittent issues affecting access to some articles and pages on our site. We apologize for any inconvenience and are working to resolve this as quickly as possible.

สรุปภาพรวมกองทุน Thai ESG ปี 2024

แม้ว่ากองทุน Thai ESG จะเป็นกองทุนลดหย่อนภาษีน้องใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวเป็นครั้งแรกในช่วงปลายปี 2024 แต่ก็นับว่าเป็นกองทุนมาแรงที่ได้รับความนิยมจากนักลงทุนอย่างมาก 

Morningstar 06/01/2568
Facebook Twitter LinkedIn

แม้ว่ากองทุน Thai ESG จะเป็นกองทุนลดหย่อนภาษีน้องใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวเป็นครั้งแรกในช่วงปลายปี 2024 แต่ก็นับว่าเป็นกองทุนมาแรงที่ได้รับความนิยมจากนักลงทุนอย่างมาก โดยในปัจจุบันมีจำนวนกองทุนทั้งสิ้น 53 กองทุน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิสูงถึง 3.2 หมื่นล้านบาท หรือเติบโตเกือบ 400%จากปีที่ผ่านมาซึ่งมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิเพียงประมาณ 6.5 พันล้านบาทเท่านั้น โดยมียอดเงินไหลเข้าสุทธิในปี 2567 สูงถึง 2.8 หมื่นล้านบาท 

หากเปรียบเทียบเป็นรายไตรมาส จะเห็นว่าในช่วงต้นปีนั้น ยอดเงินลงทุนในกอง Thai ESG ค่อนข้างเบาบาง อยู่เพียงหลักร้อยล้านเท่านั้น จนกระทั่งในไตรมาส 3 ที่มีการปรับเงื่อนไขการลงทุนของกองทุนให้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น โดยมีการลดระยะเวลาการถือครองหน่วยลงทุนลงจากเดิม 8 ปี เหลือเพียง 5 ปี และปรับเพิ่มวงเงินลดหย่อนจากเดิม 1 แสนบาทเป็น 3 แสนบาท จึงทำให้ยอดเงินไหลเข้าในกองทุน Thai ESG เริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในไตรมาส 4 ที่มีเงินไหลเข้าสูงถึง 2.5 หมื่นล้านบาท

1

บลจ.กสิกรไทย กวาดตำแหน่งผู้นำตลาด

มูลค่าทรัพย์สินของ บลจ.กสิกรไทย มีการเติบโตอย่างโดดเด่นในปีที่ผ่านมา และกลายเป็น บลจ. ที่มีทรัพย์สินสุทธิเป็นอันดับ 1 ของอุตสาหกรรมในกลุ่มกองทุน Thai ESG คิดเป็นมูลค่าประมาณ 8.2 พันล้านบาท หรือประมาณ 26% ของตลาดโดยรวม ตามด้วย บลจ.ไทยพาณิชย์ มีมูลค่าทรัพย์สิน 5.9 พันล้านบาท และ อันดับที่ 3  บลจ.บัวหลวง 5.6 พันล้านบาท คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดประมาณ 18% และ 17% ตามลำดับ ทั้งนี้ จะเห็นว่าส่วนแบ่งตลาดค่อนข้างมีความกระจุกตัวใน บลจ.ขนาดใหญ่ โดยหากนับเฉพาะ บลจ. 6 อันดับแรก จะมีสัดส่วนรวมกันเกือบ 91%

นอกจากนี้ ในด้านเงินไหลเข้าสุทธิ บลจ.กสิกรไทยก็ครองตำแหน่ง บลจ. ที่มีเงินไหลเข้าสุทธิมากที่สุดเช่นกัน โดยมีเงินไหลเข้า 7.5 พันล้านบาท ทิ้งห่าง บลจ. อันดับ 2 และ 3 อย่าง บลจ.บัวหลวง และ บลจ.ไทยพาณิชย์ ซึ่งมีเงินไหลเข้าใกล้เคียงกันที่ประมาณ 5 ล้านบาท

1

กองทุนตราสารหนี้ครองแชมป์ความนิยม

แม้ว่าสินทรัพย์ที่กองทุน Thai ESG สามารถลงทุนได้จะต้องเป็นสินทรัพย์ในประเทศเท่านั้น แต่สามารถลงทุนได้ทั้งในหุ้นและตราสารหนี้ในประเทศที่เป็นไปตามเกณฑ์การลงทุน ดังนั้น กองทุน Thai ESG ที่เสนอขายในปัจจุบัน จึงมีกลยุทธ์การลงทุนที่หลากหลายทั้งกองทุนตราสารหนี้ กองทุนผสม และกองทุนหุ้น

กองทุนตราสารหนี้ เป็นสินทรัพย์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ทั้งในแง่มูลค่าทรัพย์สิน, อัตราการเติบโต และเงินไหลเข้าสุทธิ โดยมี มูลค่าทรัพย์สินสุทธิประมาณ 1.65 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 51% ของตลาด ในขณะที่ กองทุนหุ้นมีมูลค่าประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท คิดเป็นเพียง 35%  และมีอัตราการเติบโตต่ำสุดเมื่อเทียบกับกองทุนประเภทอื่นๆ นอกจากนี้กองทุนตราสารหนี้ยังมีเงินไหลเข้ามากที่สุดเช่นกัน โดยมีเงินไหลเข้าประมาณ 1.74 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับเงินไหลเข้าทั้งหมดที่ 2.8 หมื่นล้านบาท หรือเป็นสัดส่วนสูงถึง 62% รองลงมาคือ กองทุนหุ้นและกองทุนผสม ซึ่งมีเงินไหลเข้าประมาณ 7.4 พันล้านบาท และ 3.4 พันล้านบาทตามลำดับ

1

จากความสนใจของนักลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ และความผันผวนในตลาดหุ้นไทยที่ยังคงมีอยู่ ทำให้หลายๆ บลจ. ออกกองทุนตราสารหนี้เพื่อตอบสนองความต้องการของนักลงทุนอย่างแพร่หลาย โดยในปี 2567 มีกองทุน Thai ESG ออกใหม่ทั้งหมด 23 กองทุน (นับแยกชนิดหน่วยลงทุนเป็น 1 กองทุน) ซึ่งเป็นกองทุนตราสารหนี้ถึง 10 กองทุน รองลงมา คือ กองทุนหุ้นจำนวน 8 กองทุน และกองทุนผสม 5 กองทุน

ในด้านรายกองทุน กองทุนตราสารหนี้ยังครองตำแหน่งกองทุนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของอุตสาหกรรมเช่นกัน โดยกองทุน KKP GB THAI ESG ของ บลจ.เกียรตินาคินภัทร ซึ่งเป็นกองทุน Thai ESG ประเภทตราสารหนี้กองแรกของไทย นับเป็นกองทุนที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีมูลค่าทรัพย์สินประมาณ 4.7 พันล้านบาท นอกจากนี้ จาก 5 อันดับแรกของกองทุน Thai ESG ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด พบว่าเป็นกองทุนประเภทตราสารหนี้ถึง 3 กองทุน ในขณะที่กองทุน Thai ESG ที่มีเงินไหลเข้าสูงสุด 5 อันดับแรก เป็นกองทุนตราสารหนี้ถึง 4 กองทุน ซึ่งกองทุนที่มีเงินไหลเข้ามากที่สุด คือ กองทุน K-ESGSI-ThaiESG ของ บลจ.กสิกรไทย ซึ่งมีเงินไหลเข้าเกือบ 5 พันล้านบาท รองลงมาคือกองทุน KKP GB THAI ESG ที่มีเงินไหลเข้าประมาณ 4.3 พันล้านบาท

1

กองทุน Top performer

ส่วนหนึ่งของความนิยมในกองทุนตราสารหนี้ อาจมีสาเหตุมาจากผลการดำเนินงานที่ค่อนข้างมีความแตกต่างจากกองทุนประเภทอื่นๆ  โดยในปี 2567 กองทุน Thai ESG โดยรวมมีผลตอบแทนเฉลี่ย -3.4% ในขณะที่กองทุนตราสารหนี้สามารถสร้างผลตอบแทนได้เป็นบวก โดยมีผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 6.4% ในทางตรงกันข้าม กองทุนหุ้นปรับตัวลดลงติดลบมากที่สุดในกลุ่ม โดยมีผลตอบแทนเฉลี่ย -4.2%  

เมื่อพิจารณาผลตอบแทนตั้งแต่จัดตั้งกองทุน กองทุนตราสารหนี้ก็ยังมีผลตอบแทนเฉลี่ยสูงสุด โดยมีผลตอบแทนเฉลี่ยเกือบ 6% ต่อปี ในขณะที่กองทุนหุ้นมีผลตอบแทนเฉลี่ย -5.7% ทำให้ภาพรวมตลาดกองทุน Thai ESG มีผลตอบแทนตั้งแต่จัดตั้งกองทุนประมาณ -2.5% ต่อปี

1

สำหรับกองทุน Thai ESG ที่มีผลตอบแทนสูงที่สุด 5 อันดับแรกในปี 2567 ล้วนมีผลตอบแทนเป็นบวก และประกอบด้วยทั้งกองทุนตราสารหนี้ กองทุนผสม และกองทุนหุ้น อีกทั้งยังมีผลตอบแทนเฉลี่ยตั้งแต่จัดตั้งเป็นบวกทั้งหมดเช่นกัน โดยกองทุน Thai ESG ที่มีผลตอบแทนสูงที่สุด คือ กองทุน KKP GB THAI ESG ของ บลจ.เกียรตินาคินภัทร ที่มีผลตอบแทน 6.4% ซึ่งนับเป็นกองทุนตราสารหนี้กองทุนเดียวที่ติดอันดับ 5 อันดับแรกของกองทุนที่มีผลตอบแทนสูงที่สุด (ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากกองทุนตราสารหนี้ส่วนใหญ่เพิ่งมีการจัดตั้งในระหว่างปี 2567) รองลงมา คือ กองทุน  K-TNZ-ThaiESG ของ บลจ.กสิกรไทย ซึ่งมีผลตอบแทนประมาณ 3.6% โดยนับเป็นกองทุนหุ้นที่มีผลตอบแทนสูงที่สุด และสามารถสร้างผลตอบแทนได้เป็นบวกแม้ว่าค่าเฉลี่ยผลตอบแทนของกองทุนหุ้นในอุตสาหกรรมจะติดลบ นอกจากนี้ กองทุน SCBTM(ThaiESG) ของ บลจ.ไทยพาณิชย์ นับเป็นกองทุนผสมกองทุนเดียวที่ติดอันดับในกลุ่ม

1

ถึงแม้ว่าผลตอบแทนโดยเฉลี่ยของกองทุน Thai ESG จะติดลบ แต่จากภาพข้างต้นแสดงให้เห็นว่าในทุกประเภทสินทรัพย์มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ลงทุนได้ และเมื่อประกอบกับผลประโยชน์จากการลดหย่อนภาษีและเงื่อนไขการลงทุนที่ผ่อนคลายลง จึงทำให้กองทุน Thai ESG เป็นหนึ่งในทางเลือกการลงทุนที่น่าสนใจสำหรับผู้ลงทุนที่กำลังมองหากองทุนเพื่อลดหย่อนภาษี

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar  Morningstar