สำหรับ 6 แนวทางการลงทุนอย่างยั่งยืนที่เป็นแนวโน้มที่สำคัญในปี 2025 ได้แก่ เรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล, การลงทุนเพื่อรับมือสู่สังคมคาร์บอนต่ำ, การลงทุนในตราสารหนี้เพื่อส่งเสริมความยั่งยืน, ภูมิทัศน์ของกองทุน ESG, Biodiversity finance และจริยธรรมของ AI โดยมีรายละเอียดดังนี้
ปีแห่งการทดสอบกฏระเบียบด้าน ESG
ปี 2025 นับเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญสำหรับสหภาพยุโรปด้านการทบทวนกฎระเบียบการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินเกี่ยวกับรายงานความยั่งยืนและเป็นช่วงแรกที่ภาคธุรกิจจะรายงานข้อมูลด้านความยั่งยืน โดยทั้งภาคเอกชนและการเมืองต่างกดดันไปยังหน่วยงานกำกับที่เกี่ยวข้องเพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญและคุณค่าของ ESG
ขณะที่ในสหรัฐ รัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของทรัมป์มีแนวโน้มที่จะยกเลิกโครงการที่เกี่ยวข้องกับ ESG ซึ่งสร้างความท้าทายต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำและแนวทางการลงทุนอย่างยั่งยืน เช่น การที่ทรัมป์มีแนวโน้มที่จะออกจากข้อตกลงปารีสอีกครั้ง สภาคองเกรสอาจลดหรือยกเลิกการอุดหนุนพลังงานสะอาด และ ก.ล.ต. อาจยกเลิกกฎที่กำหนดให้บริษัทมหาชนต้องเปิดเผยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ
ด้านประเทศอื่นๆยังคงมุ่งเน้นการเปิดเผยข้อมูลเรื่องสภาพภูมิอากาศและความยั่งยืน เช่น ตามมาตรฐาน International Sustainability Standards Board
ภูมิทัศน์กองทุน ESG
ปัจจัยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงหลักคือแนวทางการตั้งชื่อกองทุน ESG ที่ออกโดย European Securities and Markets Authority เพื่อปกป้องนักลงทุนจากความเสี่ยงเรื่อง Greenwashing โดยให้มีมาตรฐานขั้นต่ำสำหรับกองทุนในสหภาพยุโรปที่จะใช้ชื่อที่เกี่ยวข้องกับ ESG ทำให้คาดการณ์ว่าประมาณ 30%-50% ของกองทุน ESG ในสหภาพยุโรปจะมีการเปลี่ยนชื่อภายในกลางปี 2025 ส่วนกองอื่นๆที่เหลือคาดว่าจะมีการปรับแนวทางการลงทุนเพื่อที่จะรักษาชื่อกองทุน ESG ไว้
ขณะเดียวกันคาดว่าการปิดกองทุนทั่วโลกจะเร่งตัวมากขึ้น โดยตลาดกองทุน ESG ในสหรัฐมีมูลค่า 3.53 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐซึ่งมีจำนวนกองทุนที่เปิดลดลงจาก 647 กองทุนเมื่อต้นปี เหลือ 595 กองทุน ณ สิ้นเดือนกันยายน (ในแง่มูลค่าสินทรัพย์ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามภาพตลาดหุ้นสหรัฐที่ปรับขึ้น) ส่วนกองทุน ESG ในประเทศอื่นๆซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนประมาณ 5%ของกองทุน ESG ทั่วโลกนั้นยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแต่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง
การลงทุนเปลี่ยนจากเป้าหมายไปสู่สิ่งที่จับต้องได้
เราคาดว่าภาพการลงทุนจากนี้จะยังมุ่งเน้นไปที่การลดคาร์บอน โดยจะเปลี่ยนจากเดิมที่แค่สนับสนุนให้ภาคธุรกิจตั้งเป้าหมายไปสู่ภาคปฏิบัติที่จับต้องได้จริง นอกจากนี้นักลงทุนจะมองหาโอกาสการลงทุนที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน โดยข้อมูลจาก International Energy Agency ระบุว่าจะมีการลงทุนมูลค่ากว่า 6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปีจนถึงปี 2030 ที่จะทำให้สามารถไปสู่การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานได้สำเร็จ
ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2021 ด้วยภาวะดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงทำให้การลงทุนในธุรกิจสีเขียวอย่างเช่น พลังงานลม แสงแดด แบตเตอรี่ และรถยนต์ไฟฟ้านั้นให้ผลตอบแทนแก่นักลงทุนที่ไม่ดีมากนัก แต่คาดว่าปีหน้าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐมีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงและการมีประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้นของธุรกิจเหล่านี้ แม้ว่าทรัมป์มีแนวโน้มที่จะยกเลิกการให้ภาษีคืนสำหรับธุรกิจสีเขียวก็ตาม นอกจากนี้ภาพโครงสร้างของอุตสาหกรรมก็ยังส่งเสริมการเติบโตอีกเช่นกันไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาขึ้นของเทคโนโลยี ต้นทุนที่ปรับลดลง และความต้องการใช้พลังงานที่มากขึ้น
ภาวะดอกเบี้ยต่ำส่งเสริมการออกตราสารหนี้ยั่งยืนให้เพิ่มขึ้น
ในปี 2025 เราคาดว่าการออกขายตราสารหนี้ที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน (ทั้งเรื่องของสังคมและสิ่งแวดล้อม) จะเพิ่มมากขึ้นเป็นกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มลดลงและความต้องการในตราสารประเภทนี้ที่มีมากขึ้นจากนักลงทุน
ด้านสหภาพยุโรปมีเป้าหมายที่จะเสริมสร้างความไว้วางใจจากนักลงทุนในตลาดตราสารหนี้สีเขียวหรือ EU green-bond market ด้วยการสร้างมาตรฐานใหม่ของการรายงานและการตรวจสอบที่เพิ่มขึ้น โดยพันธบัตรที่ออกภายใต้ EU GBS จะต้องจัดสรรอย่างน้อย 85% ของรายได้ไปสู่กิจกรรมที่ยั่งยืนสอดคล้องกับเป้าหมายสีเขียว
ทั้งนี้เราคาดว่าจะมีการออกตราสารหนี้สีเขียวมากขึ้นเพื่อใช้ในกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสู่สังคมสีเขียว เช่น การลงทุนในบริษัทที่ผลิตลิเธียมซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของเทคโนโลยีสีเขียว หรือบริษัทที่ผลิตวัสดุที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอาคาร
Biodiversity Finance
การเสื่อมโทรมของความหลากหลายทางชีวภาพที่มีมาอย่างต่อเนื่องนั้นจัดเป็นหนึ่งในความเสี่ยงระดับโลกที่รุนแรงในทศวรรษข้างหน้าหน้า ขณะที่ในช่วงสองปีที่ผ่านมาจะเห็นว่าโครงการริเริ่มต่างๆ เช่น การมี Nature-related Financial Disclosures หรือการนำกรอบ Global Biodiversity Framework มาปรับใช้ รวมถึงการประชุมของ UN Biodiversity Conference (COP16) ได้มีส่วนช่วยให้นักลงทุนมีส่วนร่วมในประเด็นที่เกี่ยวกับ Biodiversity Finance อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทั้งนี้คาดว่าการให้ความสนใจในเรื่อง Biodiversity จะยังคงมีอย่างต่อเนื่องจากนี้ไปภายใต้เงินลงทุนที่เพิ่มมากขึ้น โดยนวัตกรรมทางการเงินที่เพิ่มขึ้นก็เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความต้องการของนักลงทุนที่เพิ่มมากขึ้นสำหรับการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ ภายใต้ความท้าทายที่สำคัญต่างๆและความไม่แน่นอนด้านกฎระเบียบ
การขยายตัวของ AI นำไปสู่ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่มากขึ้น
AI นับเป็นธีมการลงทุนที่โดดเด่นในปี 2024 และมีแนวโน้มที่ธีม AI จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องไปยังด้านความยั่งยืนในปี 2025 เนื่องจากเชื่อว่าเทคโนโลยี AI น่าจะมีศักยภาพที่ดีในการช่วยรับมือเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของโลกและยังช่วยให้บรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนในอุตสาหกรรมต่างๆได้
อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงที่สำคัญด้าน ESG ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เช่น ด้านสิ่งแวดล้อม พบว่าการใช้ข้อมูลของ AI ในบริษัทเทคโนโลยีต่างๆ เช่น Google และ Microsoft ทำให้มีความต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นอย่างมากจนไม่อาจนำไปสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำได้
ในด้านสังคม AI ก่อให้เกิดความเสี่ยงใหม่ๆมากมายจนอาจทำให้บริษัทต้องสูญเสียเงินเป็นจำนวนมาก เช่น การละเมิดความเป็นส่วนตัว ข่าวปลอม และการละเมิดลิขสิทธิ์ ตัวอย่างเช่น ในเดือนพฤษภาคม 2023 Meta ถูกสหภาพยุโรปปรับ 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เกี่ยวกับการจัดการข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง