ญี่ปุ่นเป็นภาพใหม่หรือเหมือนเดิม

เป็นระยะเวลาหลายปีแล้วที่ผู้จัดการกองทุนต่างประเทศเห็นว่าผู้บริหารขององค์กรในญี่ปุ่นมักมีการจัดสรรเงินทุนที่ไม่มีประสิทธิภาพและมีทัศนคติที่ไม่เหมาะสมต่อผู้ถือหุ้น

Morningstar 18/11/2567
Facebook Twitter LinkedIn

เป็นระยะเวลาหลายปีแล้วที่ผู้จัดการกองทุนต่างประเทศเห็นว่าผู้บริหารขององค์กรในญี่ปุ่นมักมีการจัดสรรเงินทุนที่ไม่มีประสิทธิภาพและมีทัศนคติที่ไม่เหมาะสมต่อผู้ถือหุ้น และแม้ว่าเริ่มมีภาพที่เห็นว่าผู้บริหารขององค์กรเริ่มที่จะมีการเปลี่ยนแปลง แต่โดยรวมผู้จัการกองทุนส่วนใหญ่ก็ยังมองว่าภาคธุรกิจในญี่ปุ่นยังเหมือนเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง และยังมีความน่าสนใจที่น้อยกว่าบริษัทในประเทศที่พัฒนาแล้วอื่นๆ เช่นการที่บริษัทใหญ่ในญี่ปุ่นมักนิยมไปถือหุ้นในบริษัทอื่นๆแทนที่จะนำเงินมาใช้พัฒนานวัตกรรมในองค์กรหรือเอาเงินมาจ่ายคืนผู้ถือหุ้นเดิม ทำให้โดยรวมแล้วผู้จัดการกองทุนส่วนใหญ่เห็นว่าตลาดหุ้นญี่ปุ่นยังอยู่ในสถานะที่ยังรอดูไปก่อน

ประวัติความเป็นมาของญี่ปุ่น

การไปถือหุ้นบริษัทอื่นๆไม่ใช่เรื่องเดียวที่เป็นปัญหา แต่ผู้บริหารของบริษัทก็ยากที่จะเข้าถึง เงินปันผลต่ำ และการซื้อหุ้นคืนก็เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยมี นอกจากนี้หลายๆบริษัทในญี่ปุ่นยังมีแต่รายงานของบริษัทที่เป็นภาษาญี่ปุ่นอย่างเดียวอีกด้วย อย่างไรก็ดีการเปลี่ยนแปลงเริ่มมีให้เห็นบ้างเป็นช่วงๆแต่มีเพียงในบางบริษัทเท่านั้นและยังเป็นที่สงสัยว่าการปรับปรุงในเรื่องต่างๆที่กล่าวถึงนั้นเป็นเรื่องที่ยากและยังไม่เป็นที่ถูกใจในสายตาของผู้จัดการกองทุน ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่กองทุนขนาดใหญ่ในต่างประเทศจะถือหุ้นญี่ปุ่นต่ำกว่าน้ำหนักในดัชนี MSCI EAFE

บทบาทของตลาดหลักทรัพย์

ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2022 ตลาดหลักทรัพย์ของญี่ปุ่นหรือ Tokyo Stock Exchange ได้สั่งให้บริษัทต่างๆในญี่ปุ่นบริหารจัดการเงินทุนให้มีประสิทธิภาพและมีแนวทางที่เป็นมิตรกับผู้ถือหุ้นมากขึ้น รวมถึงมีคําสั่งให้บริษัทต่างๆ เผยแพร่รายงานเป็นภาษาอังกฤษ หากบริษัทไหนไม่ปฏิบัติตามก็จะมีการประกาศชื่อบริษัทเหล่านี้ต่อสาธารณะและเป็นไปได้ว่าอาจถูกเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์ได้ ส่งผลให้บริษัทต่างๆเริ่มจ่ายปันผลหรือเพิ่มเงินปันผลให้มากขึ้น บางบริษัทก็ทำการซื้อหุ้นคืนในตลาด และผู้บริหารออกมาพบเจอนักลงทุนมากขึ้น

ญี่ปุ่นจึงเริ่มเป็นที่สนใจของนักลงทุนทั่วโลกมากขึ้น ทั้งนี้ Financial Times ได้ตั้งข้อสังเกตว่า Warren Buffett เป็นเพียงหนึ่งในนักลงทุนระดับโลกที่มาเยือนโตเกียวและติดต่อกับบริษัทหลักทรัพย์ในญี่ปุ่นเพื่อหาโอกาสในการลงทุน อย่างไรก็ดีการปฎิรูปบริษัทไม่ได้เป็นเพียงปัจจัยเดียวที่ทำให้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นกลับมาน่าสนใจ การอ่อนค่าของเงินเยนยังทำให้ภาพการส่งออกของประเทศดีขึ้นด้วย ส่งผลให้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับเพิ่มขึ้นอย่างมากตั้งแต่ปี 2023 จนถึงปีนี้ และแม้ว่าตลาดจะย่อตัวลงบ้างจากค่าเงินเยนที่กลับมาแข็งค่าแต่โดยรวมตลาดหุ้นก็ยังมีแนวโน้มปรับขึ้นได้ดี

Japan stock market returns, 2014-2024

1

Source: Morningstar Direct data as of Sept. 30, 2024.

การตอบรับของกองทุนรวม

กองทุนต่างประเทศซึ่งจัดกลุ่มโดย Morningstar(กลุ่ม Foreign large value, Foreign large blend, Foreign large growth) พบว่ามีน้ำหนักการลงทุนในญี่ปุ่นปรับเพิ่มขึ้น 2-3% หลังจากมีการปฎิรูปโดยตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่น แต่น้ำหนักการลงทุนในญี่ปุ่นโดยรวมของกองทุนเหล่านี้ก็ยังต่ำกว่าน้ำหนักหุ้นญี่ปุ่นใน MSCI EAFE Index นอกจากนี้น้ำหนักการลงทุนที่ปรับเพิ่มขึ้นในญี่ปุ่นส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นญี่ปุ่นหรือก็คือไม่ได้เกิดจากการซื้อเพิ่มน้ำหนักเข้าไปใหม่

Percentage of assets in Japan, 2014-2024

1

Source: Morningstar Direct data as of Sept. 30, 2024.

ญี่ปุ่นน่าสนใจลงทุนหรือไม่

Rajiv Jain ผู้จัดการกองทุนของ Goldman Sachs GQG Partners International Opportunities รวมไปถึง David Herro ผู้จัดการกองทุน Oakmark International ได้ให้ความเห็นต่อการลงทุนในญี่ปุ่นแม้ว่าจะมีการปฎิรูปเรื่องต่างๆแล้วก็ตามว่า โดยรวมในด้านราคาตลาดเมื่อเทียบกับมูลค่าพื้นฐานยังนับว่าอยู่ในระดับปานกลางดังนั้นความน่าสนใจของตลาดจึงต่ำกว่าที่อื่นที่ยังซื้อขายในระดับที่ถูกกว่าญี่ปุ่น ส่วนการเติบโตของอัตรากำไรในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาพบว่าบริษัทในญี่ปุ่นทำได้ดีกว่าจีนเพียงเล็กน้อยเท่านั้นและก็ยังน้อยกว่าการเติบโตของบริษัทที่อยู่ในยุโรปและสหรัฐ ด้านการปฎิรูปบริษัทต่างๆในญี่ปุ่นก็อาจเป็นเพียงหลักการมากกว่าทำได้จริง ผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นแทบจะไม่ปรับขึ้นเรยที่ผ่านมา ภาพเศรษฐกิจที่เติบโตช้า แนวโน้มประชากรก็ลดลง ไม่มีการเคลื่อนย้ายแรงงานเข้าไปใหม่ ประสิทธิภาพการดำเนินงานก็ยังต่ำอีกด้วย

David Samra ผู้จัดการกองทุน Artisan International Value ชี้ให้เห็นมุมที่ดีของญี่ปุ่นโดยเชื่อว่าภาคธุรกิจเริ่มมีการปรับปรุงที่ดีขึ้น แต่การที่ยังไม่ได้เข้าไปลงทุนเนื่องจากยังขาดความเชื่อมั่นในการบริหารจัดการด้านการคลังของรัฐบาล ค่าเงินเยนที่อ่อนค่าทำให้ราคาอาหารและต้นทุนพลังงานแพงขึ้นซึ่งกระทบต่อกำลังซื้อประชาชน ความผันผวนของค่าเงินเยนก็เป็นอีกปัจจัยที่สร้างความไม่แน่นอน

Percentage of assets in Japan for GSIMX, OAKIX, and ARTKX.

1

Source: Fund companies' data as of Sept. 30, 2024.

ญี่ปุ่นจะแตกต่างจากเดิมหรือไม่

Christopher Lees ผู้จัดการกองทุน JOHCM International Select ซึ่งให้น้ำหนักการลงทุนที่มากในญี่ปุ่นเมื่อเทียบกับกองต่างๆในกลุ่มกลยุทธ์ Foreign large-cap โดยมีสินทรัพย์รวมสุทธิ 27% ในญี่ปุ่นซึ่งมีน้ำหนักที่มากกว่าน้ำหนักใน MSCI EAFE Index ทั้งนี้ Lees เชื่อว่าในอดีตภาคธุรกิจไม่เข้าใจว่าการปฎิรูปตัวเองทำให้เกิดความสามารถในการแข่งขันและเป็นมิตรต่อผู้ถือหุ้นได้อย่างไร แต่ปัจจุบันมีหลายๆธุรกิจที่ได้เริ่มทำการเปลี่ยนแปลงแล้ว ทั้งการขายส่วนงานที่ไม่ทำกำไรออกไปและการซื้อหุ้นคืนจากผู้ถือหุ้น แนวทางการปฎิรูปจากตลาดหลักทรัพย์มีการปรับใช้อย่างรวดเร็ว มีการปรับปรุงที่เห็นได้ชัด ผู้บริหารบางบริษัทก็มีการขอคำแนะนำจากนักลงทุนอีกด้วย

ตัวอย่างเช่น Hitachi และ Fujifilm เป็นบริษัทที่มีการปฎิรูปที่ดีขึ้นแล้ว ในขณะที่ Toyota Group เริ่มลดการถือหุ้นข้ามบริษัทลงและยังมีการซื้อหุ้นคืนในตลาดด้วย การปฎิรูปครั้งนี้ของตลาดหุ้นญี่ปุ่นจึงอยู่บนรากฐานที่แข็งแกร่งมากกว่าภาพในอดีตที่ผ่านมา

บทสรุป

โดยรวมกองทุนต่างประเทศยังมีน้ำหนักการลงทุนในญี่ปุ่นที่ไม่มาก ส่วนใหญ่ผู้จัดการกองทุนยังคอรอภาพการเปลี่ยนแปลงให้ชัดเจนมากขึ้นหรือรอให้ราคาปรับลงมาให้มากอีกหน่อยจึงจะเริ่มพิจารณาในการเข้าลงทุน

อย่างไรก็ดีการเลือกลงทุนหรือให้น้ำหนักการลงทุนในญี่ปุ่นหรือไม่นั้นไม่เพียงคำนึงถึงแต่แนวคิดของผู้จัดการกองทุนที่มีต่อญี่ปุ่น แต่ต้องคำนึงถึงสถานะหรือน้ำหนักการลงทุนที่มีในพอร์ตโฟลิโอเทียบกับน้ำหนักตลาดญี่ปุ่นในดัชนีชี้วัดด้วยทั้งในภาวะที่ตลาดขึ้นมากๆจะได้ไม่ต้องมาไล่ตามหรือภาวะที่ตลาดลงมากๆก็จะได้ไม่ต้องถูกกระทบหนักไปด้วย ในขณะเดียวกันจากนี้ไปคงต้องรอดูว่าการปฎิรูปของญี่ปุ่นจะประสบความสำเร็จหรือไม่ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ได้ก็จะพร้อมรับการลงทุนจากกองทุนต่างประเทศได้ในท้ายที่สุด

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar  Morningstar