รถยนต์ไฟฟ้าและการเลือกตั้งใน US

อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าอาจเป็นประเด็นทางการเมืองสําหรับผู้สมัครชิงตําแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ

Morningstar 23/10/2567
Facebook Twitter LinkedIn

อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าอาจเป็นประเด็นทางการเมืองสําหรับผู้สมัครชิงตําแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯซึ่งมีมุมมองที่ต่างกันเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนและวิธีจัดการ โดย โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ได้สนับสนุนใน EV ขณะที่ กมลา แฮร์ริส คาดว่าจะยังคงใช้มาตรการส่งเสริมพิเศษสําหรับ EV ตามการบริหารของ Joe Biden

แม้ที่ผ่านมาภาพอุตสาหกรรมกระทบจากความต้องการซื้อที่อ่อนแอจนทำให้ Tesla ต้องปรับลดราคาขายต่อเนื่อง แต่นักวิเคราะห์คาดว่าจะยังเห็นการลดราคามากขึ้นอีก ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยที่สูงได้หักล้างกับมาตรการจูงใจใน EV และผู้บริโภคยังกังวลเกี่ยวกับราคารถยนต์ที่สูงและระยะการขับขี่ที่จํากัดทำให้หลายคนเลือกใช้ไฮบริดมากกว่า EV

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านไปสู่ EV โดยมีแรงขับเคลื่อนจากเรื่อง Carbon transition ยังดําเนินต่อไปอย่างรวดเร็ว โดยข้อมูลของสํานักงานพลังงานระหว่างประเทศพบว่ารถยนต์เกือบ 1 ใน 5 ที่ขายในปี 2023 เป็นรถยนต์ไฟฟ้า ขณะที่แนวโน้มของ EV เชื่อว่ายังขึ้นอยู่กับแนวโน้มระยะการขับขี่ อัตราดอกเบี้ย และกำลังซื้อของผู้บริโภค มากกว่าผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี

1

นโยบายของพรรคการเมืองต่อ EV

ในสมัยรัฐบาลไบเดนได้มีนโยบายให้เงินอุดหนุนและมาตรการสนับสนุนการผลิต EV ในประเทศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยรัฐบาลไบเดนต้องการให้ EV มีสัดส่วนเป็นครึ่งหนึ่งของรถยนต์ที่ซื้อขายภายในปี 2030 ซึ่งองค์ประกอบที่สําคัญคือการให้เครดิตภาษีของรัฐบาลสูงถึง 7,500 ดอลลาร์สําหรับ EV ใหม่ และสูงถึง 4,000 ดอลลาร์สําหรับรถยนต์ EV มือสอง นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังขึ้นภาษีรถยนต์ไฟฟ้าของจีนเป็น 100%  และเป็นไปได้ว่าในอนาคตพรรคเดโมแครตยังมีแนวโน้มที่จะออกกฎหมายเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการผลิต EV ในประเทศอีกด้วย นักวิเคราะห์ของ Morningstar เชื่อว่าหากแฮร์ริสชนะการเลือกตั้งอาจเห็นการกระตุ้นการสร้างสถานีชาร์จและให้เงินอุดหนุนสําหรับผู้บริโภคมากขึ้น

ด้านทรัมป์ไม่ได้สนับสนุนเรื่องสภาพภูมิอากาศ โดยในสมัยที่เค้าดำรงตำแหน่งก็ได้ถอนสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงปารีสเพื่อควบคุมภาวะโลกร้อน ทรัมป์ให้การสนับสนุนการลงทุนพลังงานในประเทศและเชื่อว่า EV เป็นการทำร้ายอุตสาหกรรมเครื่องยนต์สันดาป ขณะที่ทางพรรครีพับลิกันต้องการผ่อนคลายมาตรฐานการปล่อยมลพิษเพื่อให้รถยนต์และรถบรรทุกใหม่ที่ขายภายในปี 2035 เป็นรถยนต์ไฟฟ้าหรือปลั๊กอินไฮบริด ซึ่งหากทรัมป์ชนะการเลือกตั้งเป็นไปได้ว่าอาจยกเลิกมาตรการสนับสนุน EV ก่อนหน้านี้ แต่การสนับสนุนของฝ่ายบริหารของพรรครีพับลิกันก็อาจทำให้การยกเลิกมาตรการช่วยเหลือที่ผ่านมาเป็นไปได้ยากเช่นกัน

การเลือกตั้งมีผลอย่างไรต่อ Tesla

ที่ผ่านมา Tesla ได้ประโยชน์จากกฏระเบียบเรื่องคาร์บอนเครดิตอย่างมาก โดยในปี 2023 บริษัททําเงินได้ 1,790 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากการซื้อขายคาร์บอนเครดิตให้กับผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นที่ไม่สามารถปฏิบัติตามกฎระเบียบเรื่องการปล่อยมลพิษในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และจีน ซึ่งภายใต้การบริหารของทรัมป์ Tesla น่าจะยังได้ประโยชน์อย่างต่อเนื่อง และแม้ว่าหากเครดิตภาษี EV ถูกยกเลิก Tesla อาจเห็นยอดขายในสหรัฐฯลดลงบ้าง แต่ไม่น่าส่งผลกระทบมากนักเนื่องจากรถยนต์ของบริษัทมีราคาในระดับพรีเมี่ยมอยู่แล้ว ซึ่งแปลว่าผู้บริโภคเต็มใจที่จะจ่ายเงินสําหรับรถของ Tesla นอกจากนี้อัตราดอกเบี้ยที่ลดลงก็จะช่วยผ่อนแรงสำหรับเงินรายงวดในการผ่อนรถยนต์ทำให้แม้ไม่มีเงินอุดหนุน 7,500 ดอลลาร์ก็คงไม่กระทบกำลังซื้อมาก

ด้านราคาหุ้นดูเหมือนจะตอบสนองต่อแผนการพัฒนารถยนต์แบบไร้คนขับหรือ Autonomous self-driving cars และการพัฒนา Robotaxi มากกว่าเรื่องของการเลือกตั้งในสหรัฐ

การเลือกตั้งต่อผู้ผลิตรถยนต์รายอื่น

การยกเลิกเครดิตภาษี EV อาจส่งผลเสียต่อผู้ผลิตรถยนต์ที่มีสินค้าคงคลังที่สูง เพราะนอกจากความต้องการที่อ่อนแอลงแล้วยังมีการแข่งขันที่สูงจากผู้ผลิตจากญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และผู้ผลิต EV อีกด้วย

ปัจจุบันผู้ผลิตรถยนต์ทั้ง GM และ Ford ได้ปรับลดการลงทุนใน EV และเพิ่มการลงทุนในเทคโนโลยีไฮบริดมากขึ้น โดย Ford ได้ลดขนาดของโรงงานแบตเตอรี่ลงจากแผนเดิมและลงทุนในเทคโนโลยีไฮบริดมากขึ้นนอกเหนือจาก EV   ด้าน GM ยังวางแผนที่จะเปิดตัวปลั๊กอินไฮบริดอีกครั้งในอเมริกาเหนือ ในขณะเดียวกัน Stellantis ก็ประกาศว่าจะใช้เงิน 400 ล้านดอลลาร์ในแผนสําหรับ EV และไฮบริดที่โรงงานสามแห่งในมิชิแกน

ระบบนิเวศของ EV

เนื่องจากแฮร์ริสจะสานต่อนโยบายของรัฐบาลไบเดน รัฐบาลแฮร์ริสจึงน่าจะสนับสนุนอุตสาหกรรม EV ต่อเนื่องทั้งในกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์และอุปกรณ์ชิปต่างๆเพื่อแข่งขันกับจีน โดยนับตั้งแต่เกิดโรคระบาดรัฐบาลไบเดนได้สนับสนุนการทําให้ห่วงโซ่อุปทาน EV ทั่วโลกมีความยืดหยุ่นมากขึ้นอีกด้วย ด้านทรัมป์ก็เห็นว่ามาตรการภาษีเป็นเครื่องมือเชิงนโยบายที่สําคัญเช่นกัน ดังนั้นผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกจะมีนัยสําคัญและก่อให้เกิดความท้าทายต่อการวางแผนและการผลิตต่อไปในอนาคต ส่วนภาคเอกชนก็มีเงินลงทุนเข้าสู่เทคโนโลยีใหม่ที่เกี่ยวข้องกับ Autonomous driving อย่างมากโดยเฉพาะโมเดลที่ใช้ AI

อุตสาหกรรม EV ของจีน

ยอดขายรถยนต์ EV เติบโตขึ้นเร็วมากในจีน โดยประมาณกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนรถยนต์จดทะเบียนใหม่ในจีนในปี 2023 เป็น EV  ซึ่งมากกว่าอัตรา 1 ใน 5 ในยุโรป และ 1 ใน 10 ในสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้จีนเป็นผู้ส่งออก EV รายใหญ่ที่สุดของโลก และจีนยังมีผู้ผลิตรถ EV มากกว่า 100 เจ้าและส่งออก EV เกือบ 1.6 ล้านคันในปีที่แล้ว

ด้านผู้ผลิตรถยนต์จีนอย่าง BYD กําลังมองหาการจัดตั้งโรงงานในเม็กซิโก ซึ่งตามข้อตกลงระหว่างสหรัฐอเมริกา-เม็กซิโก-แคนาดา ภายใต้การเจรจายุคทรัมป์นั้นได้ตั้งเป้าให้ 75% ของมูลค่ารถยนต์มาจากอเมริกาเหนือ รวมถึงชิ้นส่วนโลหะและแรงงานที่ใช้ในการผลิต ซึ่งจะทำให้สามารถส่งออกรถยนต์จากเม็กซิโกและแคนาดาไปยังสหรัฐอเมริกาและเลี่ยงภาษีต่างๆได้ จีนจึงกําลังกลายเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวมากขึ้นแม้ว่าตอนนี้ผู้ผลิตของจีนจะยังไม่ได้ขายให้กับสหรัฐอเมริกาก็ตาม ทำให้ต้องตามต่อไปว่าสหรัฐฯจะใช้มาตรการภาษีต่อไปอีกหรือไม่ เนื่องจากผู้ผลิตรถยนต์ของจีนนั้นมีข้อได้เปรียบด้านต้นทุนที่มาก

ปัจจัยส่งเสริมตลาด EV

นักวิเคราะห์ Morningstar คาดว่าความต้องการรถ EV จะเติบโตได้อย่างยั่งยืนหากมี 2 ปัจจัยส่งเสริมซึ่งได้แก่ การที่รถ EV ขับเคลื่อนในระยะที่ไกลเกิน 300 ไมล์และมีราคาที่ไม่แพง รวมทั้งมีสถานีชาร์จไฟฟ้าความเร็วสูงจำนวนมากตามเส้นทางเพื่อให้ผู้ใช้รถมั่นใจในการเดินทาง และทั้งหมดนี้จะถูกสนับสนุนให้เกิดได้ภายใต้แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่กำลังลดลง

ในระยะยาวการนำ EV เข้ามาใช้ยังคงดําเนินต่อไป มาตรฐานมลพิษก็มีแนวโน้มเข้มงวดขึ้นเรื่อยๆ โดยจากการศึกษาของ BloombergNEF พบว่า EV คิดเป็น 18% ของยอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลทั่วโลกในปี 2023 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 45% ในปี 2030 และ 73% ในปี 2040

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar  Morningstar