การตอบรับของนักลงทุนเมื่อหุ้นจีนพุ่ง

ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ท่ามกลางกระแสความร้อนแรงของกลุ่มเทคโนโลยีโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกลุ่ม AI ประกอบกับการคาดการณ์

Morningstar 22/10/2567
Facebook Twitter LinkedIn

ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ท่ามกลางกระแสความร้อนแรงของกลุ่มเทคโนโลยีโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกลุ่ม AI ประกอบกับการคาดการณ์ถึงโอกาสการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ทำให้ดูเหมือนว่าความสนใจของนักลงทุนในช่วงที่ผ่านมาจะเอนเอียงไปทางฝั่งสหรัฐฯและกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม หากดูข้อมูลผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจะเห็นว่าที่จริงแล้วตลาดหุ้นจีนมีการทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีแรกเช่นกัน โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนจากการออกมาตรการต่างๆจากทางการจีนมาเป็นระยะเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและตลาดทุน รวมถึงเงินลงทุนที่ไหลกลับเข้าตลาดเอเชีย หลังจากที่สหรัฐฯเริ่มมีสัญญาณการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ความสนใจของตลาดต่อตลาดหุ้นจีนก็เริ่มปรับตัวลดลงจากแรงกดดันด้านปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ โดยเฉพาะด้านมาตรการเรื่องภาษีและการกีดกันทางการค้า ทำให้ตลาดเกิดความกังวลต่อผลประกอบการของบริษัทต่างๆของจีน รวมถึงภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนที่ยังคงอ่อนแอและไม่มีความชัดเจน ส่งผลให้ผลตอบแทนของตลาดหุ้นจีนในช่วงครึ่งหลังของปีชะลอตัวลงเล็กน้อย

ในช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ตลาดหุ้นจีนเริ่มกลับมาอยู่ในความสนใจของนักลงทุนอีกครั้ง นับตั้งแต่ที่ทางการจีนได้ประกาศนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและตลาดทุนครั้งใหญ่ในช่วงปลายเดือน ซึ่งครอบคลุมในหลายมาตรการไม่ว่าจะเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยและสัดส่วนการกันเงินสำรองของภาคธนาคาร, การอัดฉีดสภาพคล่องให้แก่ธนาคารพาณิชย์, การให้เงินช่วยเหลือแก่ภาคประชาชนและผู้ว่างงานบางกลุ่ม รวมถึงมาตรการช่วยเหลือในภาคอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นปัจจัยที่กดดันตลาดหุ้นจีนมาอย่างยาวนาน ส่งผลให้ตลาดหุ้นจีนปรับตัวเพิ่มขึ้นขานรับปัจจัยบวกดังกล่าวอย่างแข็งแกร่ง โดยดัชนี Morningstar China NR Index ซึ่งเป็นดัชนีตัวแทนของหุ้นจีนโดยรวมได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะจุดสูงสุดในรอบปีเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 67 คิดเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 36% นับตั้งแต่ต้นปี และเพิ่มขึ้นประมาณ 27% ในรอบ 1 ปี ซึ่งการปรับตัวดังกล่าวส่งผลให้ตลาดหุ้นจีนกลายเป็นหนึ่งในตลาดหุ้นหลักที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงที่สุดในปีนี้

1

เมื่อตลาดปรับตัวขึ้นมาอย่างร้อนแรง สิ่งที่นักลงทุนมักตั้งคำถามต่อมาคือ ตลาดนี้แพงไปหรือยัง ซึ่งหากพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานในด้านราคาเทียบกับมูลค่าที่ควรจะเป็น (Price to Fair Value) ของตลาดหุ้นจีนกับหลายๆประเทศ เช่น สหรัฐฯ, ยุโรป, ญี่ปุ่น และอินเดีย พบว่าตลาดหุ้นจีนยังคงมีระดับราคาซื้อขายที่ต่ำกว่าประเทศดังกล่าวอย่างต่อเนื่องทั้งในระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงในช่วงที่ผ่านมาที่แม้ว่าตลาดหุ้นจีนจะปรับตัวอย่างร้อนแรง แต่ระดับราคาซื้อขายดังกล่าวก็ยังนับว่าต่ำกว่าในหลายประเทศ 

2

ตลาดกองทุนหุ้นจีนในไทยขยายตัวไม่มากนักในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

ขนาดทรัพย์สินสุทธิของกองทุนหุ้นจีนในไทยในปัจจุบันมีมูลค่าประมาณ 1.2 แสนล้านบาท (ข้อมูล ณ 16 ต.ค. 67) นับเป็นประเภทกองทุนหุ้นต่างประเทศที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากกองทุนประเภท Global Equity อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบการเติบโตย้อนหลังในอดีต จะพบว่าขนาดทรัพย์สินโดยรวมของกองทุนหุ้นจีนได้ปรับตัวขึ้นสูงสุดในช่วงปี 2564 ที่ 1.9 แสนล้านบาทในช่วงเดือน มิ.ย. จากนั้นก็เริ่มปรับตัวลดลงและอยู่ในระดับใกล้เคียงเดิมมาเป็นเวลานานกว่า 3 ปีในขณะที่อุตสาหกรรมกองทุนรวมยังคงเติบโตต่อเนื่อง ส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาดของกองทุนรวมจีนปรับตัวลดลง

1

ภาพการเติบโตดังกล่าวไม่ได้หมายความว่านักลงทุนได้ลดความสนใจการลงทุนลง แต่ปัจจัยกดดันหลักมาจากการปรับตัวของตลาดซึ่งส่งผลต่อผลการดำเนินงานของกองทุน และการเติบโตของกองทุนโดยรวม ในขณะที่หากพิจารณาในฝั่งของเม็ดเงินลงทุนนั้น ช่วงที่ผ่านมายังคงเห็นเงินลงทุนไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่องและเป็นปัจจัยบวกที่สนับสนุนการเติบโต โดยเป็นที่น่าสังเกตว่าทิศทางการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นจีนค่อนข้างเป็นไปในทางตรงกันข้ามกับผลการดำเนินงานของตลาด ตัวอย่างเช่น ตั้งแต่ปี 2563 – 2566 มีเงินลงทุนไหลเข้าสุทธิอย่างต่อเนื่อง โดยมีเงินไหลเข้าสูงสุดในช่วงปี 2564 คิดเป็นมูลค่ากว่า 7.8 หมื่นล้านบาท และเหลือเพียง  2.1 หมื่นล้าน และ 1.2 หมื่นล้านบาท ในปี 2565 และปี 2566 ตามลำดับ ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว กองทุนหุ้นจีนมีผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2564 – 2566 โดยมีผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบสูงสุดในปี 2565 ซึ่งปรับตัวลดลงไปติดลบสูงสุดถึง -27.1% นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับกองทุนประเภทอื่นๆในอุตสาหกรรม กองทุนหุ้นจีนมีระดับผลตอบแทนที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดโดยรวมอย่างต่อเนื่องตลอดทั้ง 3 ปีเช่นกัน 

1

สำหรับในปีนี้ ถึงแม้ว่าหุ้นจีนจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นจนสามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างโดดเด่น โดยเฉพาะในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาที่กองทุนหุ้นจีนได้กลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง โดยสามารถสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 18.1% ทำให้กลายเป็นประเภทกองทุนที่มีผลตอบแทนสูงที่สุดในอุตสาหกรรม แต่ดูเหมือนว่ากระแสตอบรับของนักลงทุนจะเป็นไปในทิศทางตรงกันข้ามอีกเช่นกัน โดยข้อมูลตั้งแต่ต้นปีถึง ก.ย. 67 พบว่า กองทุนหุ้นจีนมีเงินไหลออกติดลบประมาณ –4 พันล้านบาท ซึ่งเป็นการติดลบที่เกิดขึ้นเกือบตลอดทั้งปี ยกเว้นเพียงแต่ในช่วงต้นปีและในเดือน พ.ค. ที่ตลาดหุ้นจีนปรับตัวขึ้นไปแตะระดับสูงสุดในช่วงครึ่งปีแรก โดยในเดือนดังกล่าวกองทุนหุ้นจีนมียอดเงินไหลเข้าสุทธิกว่า 1.5 พันล้านบาท ซึ่งนับเป็นระดับสูงที่สุดในกลุ่มกองทุนหุ้นในอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็มีแรงเทขายมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน สำหรับในเดือนตุลาคมที่ตลาดหุ้นจีนมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่นนั้น เงินลงทุนก็ยังคงไหลออกอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลตั้งแต่ต้นเดือนถึงวันที่ 16 ต.ค. 67 พบว่ามีเงินไหลออกสุทธิอีกกว่า -3 พันล้านบาท

1

ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบทิศทางเงินลงทุนกับประเทศอื่นๆในภูมิภาค เช่น สิงคโปร์ ไต้หวัน มาเลเซีย พบว่าในไต้หวันและมาเลเซียก็มีเม็ดเงินลงทุนไหลออกจากกองทุนหุ้นจีนเช่นกัน ในขณะที่สิงคโปร์เริ่มมีเงินลงทุนสุทธิไหลกลับเข้าในเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยสัญญาณของทิศทางเงินลงทุนดังกล่าวส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากแรงเทขายทำกำไรจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของตลาดหลังจากได้รับปัจจัยกดดันมาเป็นเวลานาน หรืออีกส่วนหนึ่งอาจสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ยังไม่กลับมาตามการฟื้นตัวของตลาด ดังนั้นจึงอาจต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ว่านโยบายและมาตรการต่างๆของจีนในครั้งนี้จะสามารถทำให้ตลาดเติบโตได้อย่างยั่งยืนและสามารถฟื้นความเชื่อมั่นของนักลงทุนให้กลับเข้ามาลงทุนตลาดหุ้นจีนได้อีกครั้งหรือไม่

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar  Morningstar