ตลาดหุ้นอเมริกาในเดือนกรกฏาคมปรับเพิ่มขึ้นนำโดยหุ้นคุณค่า (Value) และหุ้นขนาดเล็ก (Small caps) ขณะที่หุ้นกลุ่มเทคโนยีนั้นปรับลดลง ถัดมาในเดือนสิงหาคมตลาดหุ้นปรับลงในช่วงแรกจากแรงเทขายของนักลงทุนเนื่องจากความกังวลต่อเศรษฐกิจถดถอยก่อนที่โดยรวมตลาดจะปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 6.06% ส่วนเดือนกันยายนตลาดหุ้นปรับเพิ่มขึ้นหลังจากก่อนหน้านี้มีความกังวลต่อความไม่แน่นอนในการปรับลดดอกเบี้ยของ Fed แต่ด้วยภาพของเงินเฟ้อที่ผ่อนคลายลงและการที่ Fed ตัดสินใจลดดอกเบี้ยลง 50 bps ในเดือนนี้ทำให้นักลงทุนคาดหวังว่าจากนี้การลดดอกเบี้ยของ Fed จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมากขึ้น และส่งผลให้ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ปรับเพิ่มขึ้นในไตรมาส 3 และ Bond yield ปรับลดลง
- Morningstar US Market Index ปิดไตรมาส 3 +6.06% โดยเป็นการย้ายเงินทุนออกจากหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่หลังจากก่อนหน้านี้ราคาปรับขึ้นมามาก ด้านหุ้นกลุ่ม Value ปรับขึ้น 8.95% ในไตรมาสนี้และเป็นการขึ้นนำหุ้นกลุ่ม Growth ส่วนหุ้นเน้นปันผลสูงก็ปรับขึ้น 8.89%
- Morningstar US Core Bond Index ปรับขึ้น 5.15% และ Bond yield ปรับลดลง หลังจากการลดดอกเบี้ยมีความชัดเจนขึ้น
- ธนาคารกลางสหรัฐหรือ Fed ลดอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในไตรมาสนี้นับจากปี 2020 และนักลงทุนยังคาดหวังการปรับลดดอกเบี้ยอีกต่อเนื่องในช่วงสิ้นปีนี้และไปจนถึงปีหน้า
- ราคาน้ำมันปรับลง 18.73% ทำให้แรงกดดันต่อเงินเฟ้อลดลงไปด้วยเช่นกัน ขณะที่ราคาทองคำเพิ่มขึ้นอีกกว่า 11%
- ด้าน Bitcoin เพิ่มขึ้นประมาณ 5% ขณะที่ Ether ลดลงกว่า 20%
ตลาดหุ้นไตรมาส 3
ในไตรมาสนี้เริ่มเห็นการย้ายเงินลงทุนของนักลงทุนออกจากหุ้นกลุ่มเทคโนยีมายังหุ้นในกลุ่มที่ราคายังไม่ปรับขึ้นมากอย่างเช่น หุ้นที่มีขนาดเล็ก (Small-cap) หรือหุ้นที่เน้นคุณค่า (Value stock) ด้านราคาหุ้น Nvidia ปรับลดลง 1.69% Microsoft ลดลง 3.56% และ Alphabet ลดลง 8.84% ทั้งนี้นักวิเคราะห์ยังคงชื่นชอบหุ้นในกลุ่ม AI แต่มีความกังวลเกี่ยวกับราคาที่ปรับสูงขึ้นมากจนเกินไปและการกระจุกตัวของผู้ลงทุนที่มากเกินไปในหุ้นกลุ่มนี้
หุ้นคุณค่าและหุ้นเติบโตสูง
ในไตรมาสที่ผ่านมา Morningstar US Value Index ปรับขึ้น 8.95% และ Morningstar US Growth Index เพิ่มขึ้น 4.63% ทั้งนี้หุ้นทุกกลุ่มตามการจัดอันดับของ Morningstar พบว่าในไตรมาสที่ 3 มีราคาปรับขึ้นทุกกลุ่มจากไตรมาสก่อนหน้า โดยที่กลุ่ม Mid-cap มีราคาปรับขึ้นมากที่สุด 10.8% ขณะที่กลุ่ม Large-growth ราคาปรับขึ้นเพียง 2.22% เทียบกับปีที่แล้วที่ราคาปรับขึ้นได้ถึง 35.76%
ในแง่อุตสาหกรรมพบว่ากลุ่ม Utility ปรับขึ้นมากที่สุด 19.81% รองลงมาเป็นกลุ่ม Real estate ที่ให้ผลตอบแทน 16.92% ซึ่งหุ้นทั้ง 2 กลุ่มนี้ค่อนข้างอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยทำให้ราคาหุ้นปรับขึ้นมากเมื่อการลดดอกเบี้ยของ Fed มีความชัดเจน นอกจากนี้หุ้นกลุ่ม Utility ยังได้ประโยชน์จากความต้องการใช้ไฟฟ้าที่มากขึ้นตามการเติบโตของ AI อีกเช่นกัน ด้านหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีปรับเพิ่มขึ้นเพียง 2.35% ในไตรมาสนี้
หุ้นปันผล
หุ้นปันผลมีราคาปรับขึ้นได้ดีกว่าตลาดโดยรวมเป็นครั้งแรกในไตรมาสนี้ โดย Morningstar Dividend Composite Index +8.89% และ Dividend Growth Index +9.52% ส่วน Dividend Leaders Index +11.77% ซึ่งเป็นผลจากการที่นักลงทุนมีความต้องการลงทุนในหุ้นที่ให้เงินปันผลสูงเพื่อหาผลตอบแทนในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยลดลง
การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed
ในเดือนกันยายนนี้ Fed ได้ทำการลดดอกเบี้ยนโยบายลง 50 bps ซึ่งเป็นการยุติการใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวดที่ทำมาตั้งแต่ปี 2022 ทั้งนี้นักลงทุนยังคาดการณ์ว่าจะมีการปรับลดดอกเบี้ยอีก 25 bps ในเดือนพฤศจิกายนนี้ และลดอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องในปี 2025
ตลาดตราสารหนี้ในไตรมาส 3
ตลาดตราสารหนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นในไตรมาส 3 หลังจากมีความชัดเจนในเรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ยและภาพเศรษฐกิจที่เติบโตแบบชะลอตัวแต่ไม่ถึงขั้นถดถอย โดยอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีปรับลดลงจาก 4.48% ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมมาอยู่ที่ 3.75% ในช่วงสิ้นไตรมาส 3 และส่งผลให้ราคาของตราสารปรับเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ Morningstar US Core Bond Index ปรับเพิ่มขึ้น 5.15% ในไตรมาส 3
นักกลยุทธ์คาดว่าอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ระยะสั้นยังมีโอกาสปรับลงได้อีกตามการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ Fed ขณะที่ตราสารหนี้ระยะยาวมีการปรับลดลงล่วงหน้าสะท้อนภาพเศรษฐกิจไปแล้วทำให้โอกาสที่จะลดลงได้อีกมีไม่มาก
เส้นอัตราผลตอบแทนกลับสู่ภาวะ Un-Inverts
ในช่วงต้นของการลดอัตราดอกเบี้ยของ Fed นั้น เส้นอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ในช่วงอายุต่างๆหรือ Yield curve ได้ปรับกลับเข้าสู่ภาวะปกติ หรือการที่อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ระยะสั้นปรับลดลงต่ำกว่าผลตอบแทนของตราสารหนี้ระยะยาว ซึ่งนักกลยุทธ์ได้แนะนำให้นักลงทุนย้ายเงินลงทุนจากเงินสดหรือตราสารหนี้ระยะสั้นไปยังกลุ่มตราสารหนี้ระยะกลางถึงยาวหรือช่วงอายุ 3-7 ปี และหลี่กเลี่ยงการลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาวมากๆเนื่องจาก Bond yield อาจผันผวนได้มากตามคาดการณ์เศรษฐกิจได้
ความผันผวนของตลาดหุ้นและตราสารหนี้
ในช่วงไตรมาสที่ 3 ความผันผวนของตลาดหุ้นนั้นปรับเพิ่มขึ้นแต่ก็ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตของสหรัฐ ขณะที่ค่าความผันผวนของตลาดในประเทศที่พัฒนาแล้ว ตลาดเกิดใหม่ และตลาดตราสารหนี้สหรัฐขึ้นมาอยู่ในระดับค่าเฉลี่ยรอบ 5 ปี
ผลการดำเนินของสินทรัพย์ในไตรมาส 3
กลุ่มที่ให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุดในไตรมาสนี้ได้แก่ ทรัสต์เพื่อการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ เช่น Morningstar Canada REIT Index +24.62% และ Morningstar Australia REIT Index +23.26% ซึ่งกลุ่ม REITS นั้นมักจะอ่อนไหวไปตามภาพอัตราดอกเบี้ย โดยนักลงทุนจะมองหาการลงทุนในกลุ่มนี้มากขึ้นเพื่อเพิ่มผลตอบแทนในช่วงที่ดอกเบี้ยปรับลดลง
ส่วนหุ้นกลุ่ม Semiconductor ให้ผลตอบแทนแย่ที่สุดในไตรมาสนี้ โดย Morningstar Global Semiconductor Equipment and Materials Index -16%
ผลตอบแทนกลุ่ม Commodity
ราคาน้ำมัน (West Texas) ปรับลดลง 18.73% ในไตรมาสที่ 3 จากกำลังการผลิตน้ำมันที่เพิ่มขึ้นและความต้องการจากจีนที่อ่อนแอลง ซึ่งมีผลทำให้ราคาก๊าซ ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปรับลดลง และทำให้ภาพเงินเฟ้อชะลอลงในช่วงที่ผ่านมาด้วย
ด้านราคาทองคำ +11% ในไตรมาสนี้เนื่องจากนักลงทุนต้องการหาแหล่งลงทุนที่ปลอดภัยในช่วงที่ตลาดการเงินผันผวนสูง และทองแดงลดลงเล็กน้อย 1% จากความกังวลต่อความต้องการใช้จากจีน
ตลาด Cryptocurrency
จากช่วงต้นปีที่ Bitcoin ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมากจากการที่ Spot Bitcoin ETF ได้รับการอนุมัติจาก ก.ล.ต. สหรัฐฯ เป็นครั้งแรก โดยในไตรมาสที่ 3 นี้ Bitcoin ยังเพิ่มขึ้นได้เล็กน้อย 5.24% สวนทางกับ Ether ซึ่งราคาปรับลดลงกว่า 20% หลังจากมี Ethereum ETFs แล้วและนักลงทุนเริ่มมองหาการลงทุนอื่นทดแทน