เลือกกองทุนรวมอย่างไรให้ยั่งยืน

นักลงทุนหลายท่านอาจคุ้นเคยเป็นอย่างดีกับ Morningstar rating หรือสัญลักษณ์รูปดาว ที่หลายๆ บลจ.นำมาใช้เป็นหนึ่งในจุดขายของกองทุนอย่างกว้างขวาง 

Morningstar 04/09/2567
Facebook Twitter LinkedIn

นักลงทุนหลายท่านอาจคุ้นเคยเป็นอย่างดีกับ Morningstar rating หรือสัญลักษณ์รูปดาว ที่หลายๆ บลจ.นำมาใช้เป็นหนึ่งในจุดขายของกองทุนอย่างกว้างขวาง โดยการจัดอันดับ Morningstar rating จะอ้างอิงจากผลตอบแทนและความเสี่ยงของแต่ละกองทุนในอดีตเปรียบเทียบกับกองทุนในกลุ่มเดียวกัน ซึ่งจำนวนดาวของ Morningstar rating ที่มาก (สูงสุดที่ 5 ดาว) หมายถึงกองทุนนั้นๆมีผลตอบแทนหลังปรับความเสี่ยงที่ดีกว่ากองทุนอื่นๆในกลุ่ม อย่างไรก็ดี ปัจจัยด้านผลการดำเนินงานอาจเป็นการพิจารณาในมุมมองของสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตเพียงเท่านั้น ซึ่งไม่ได้เป็นการรับประกันว่าในอนาคตแต่ละกองทุนจะสามารถรักษาผลการดำเนินงานดังกล่าวได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในสภาวะตลาดปัจจุบันที่ปัจจัยต่างๆมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลกระทบต่อความผันผวนที่เพิ่มขึ้นของผลตอบแทนในแต่ละสินทรัพย์และกลยุทธ์การลงทุน

อีกหนึ่งในแนวทางที่นักลงทุนทั่วโลกต่างเริ่มพูดถึงเพื่อนำมาใช้พิจารณาการลงทุน คือ ปัจจัยด้านความยั่งยืน โดยหนึ่งในปัจจัยด้านความยั่งยืนที่เรามักคุ้นหูกัน คือ ESG ซึ่งเป็นปัจจัยเพื่อความยั่งยืนที่สำคัญ 3 ด้าน คือ สิ่งแวดล้อม (Environmental), สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) โดยปัจจัยดังกล่าวเข้ามามีบทบาทต่อโลกการลงทุนมากขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายของภาครัฐของนานาประเทศที่ต่างมีการกำหนดทิศทางเพื่อสนับสนุนการเติบโตที่ยั่งยืน อีกทั้งในภาคธุรกิจเองก็มีการตระหนักถึงปัจจัยดังกล่าวมากขึ้นเพื่อสร้างผลลัพธ์เชิงบวกต่อสังคมโดยรวม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อความได้เปรียบทางการแข่งขันในระยะยาว ในทางตรงกันข้าม บริษัทที่ไม่ให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านความยั่งยืนอาจมีความเสี่ยงหรือได้รับผลกระทบในเชิงลบ เช่น การถูกฟ้องร้อง, การมีต้นทุนในการดำเนินธุรกิจที่สูงขึ้น หรือความดึงดูดต่อนักลงทุน เป็นต้น ดังนั้น การลงทุนในธุรกิจที่มีความยั่งยืน จึงมีโอกาสอย่างมากที่จะส่งผลต่อความยั่งยืนของผลตอบแทนจากการลงทุน รวมถึงช่วยลดปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจของบริษัทต่างๆในพอร์ตการลงทุน

สำหรับการลงทุนในกองทุนรวม ทางสำนักงาน กลต. ก็ได้มีการกำหนดประเภทกองทุนโดยเฉพาะเพื่อเป็นทางเลือกให้กับนักลงทุน ชื่อว่า กองทุนรวมเพื่อความยั่งยืน หรือ SRI Fund (Sustainable and Responsible Investing Fund) โดยกองทุน SRI Fund สามารถลงทุนได้ในหลากหลายสินทรัพย์เหมือนกับกองทุนรวมทั่วไป แต่มีลักษณะพิเศษเพิ่มเติมคือ การกำหนดนโยบายการลงทุน ที่จะต้องมีวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ชัดเจนเกี่ยวข้องกับความยั่งยืน อีกทั้งกลยุทธ์การลงทุนจะต้องมีการนำหลักการด้านความยั่งยืนมาใช้ประกอบกระบวนการลงทุน เช่น หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกหลักทรัพย์, กระบวนการวิเคราะห์และคัดเลือกหลักทรัพย์ เป็นต้น รวมถึงต้องมีการเปิดเผยข้อมูลต่างๆอย่างครบถ้วน โปร่งใส ภายใต้มาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลเดียวกันทั้งอุตสาหกรรม โดยปัจจุบัน อุตสาหกรรมกองทุนรวมของไทยมีกองทุนประเภท SRI Fund ทั้งสิ้น 52 กองทุน (รวมทุกชนิดหน่วยลงทุน) คิดเป็นมูลค่าทรัพย์สินรวมประมาณ 2.6 หมื่นล้านบาท (ข้อมูลจากเว็บไซต์สำนักงาน กลต. ณ 28 ส.ค. 67) ซึ่งกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) ที่นักลงทุนหลายท่านน่าจะเคยได้ยินหรือมีการลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษีอยู่ ก็นับเป็นหนึ่งในกองทุนประเภท SRI Fund เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่ากองทุนที่ไม่ได้ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม SRI Fund จะไม่ยั่งยืนเสมอไป โดยในระยะหลังจะเริ่มเห็นว่ากองทุนต่างๆมีการให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านความยั่งยืนมากขึ้น โดยมีการนำปัจจัยด้านความยั่งยืนเข้ามาใช้ในการคัดเลือกหลักทรัพย์ลงทุน หรือประกอบอยู่ในกระบวนการลงทุนของแต่ละกองทุน

Morningstar Sustainability Rating For Fund 

สำหรับนักลงทุนโดยทั่วไปแล้ว การพิจารณาว่าแต่ละกองทุนมีการให้ความสำคัญกับความยั่งยืนในระดับมากน้อยเพียงใดอาจเป็นเรื่องยาก ดังนั้น นอกเหนือไปจาก Morningstar Rating ซึ่งเป็นการจัดอันดับด้านผลตอบแทนแล้ว Morningstar ยังได้มีการจัดทำ Morningstar Sustainability rating เพื่อเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือตัวช่วยให้กับนักลงทุนในการประเมินความเสี่ยงของกองทุนต่อปัจจัยด้านความยั่งยืน ซึ่งสามารถช่วยเติมเต็มการพิจารณาคัดเลือกกองทุนได้อย่างรอบด้าน

การจัดทำ Morningstar Sustainability Rating เป็นการประเมินผลคะแนนจากพอร์ตการลงทุนจริงของแต่ละกองทุน จัดทำโดย Sustainalytics ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มของ Morningstar ที่มีชื่อเสียงในด้านการวิจัยเกี่ยวกับความยั่งยืน โดยจะพิจารณาจากความเสี่ยงด้านความยั่งยืนทั้งในระดับรายบริษัทที่กองทุนที่มีการลงทุนและความเสี่ยงในระดับประเทศ สำหรับในระดับบริษัทนั้น เป็นการประเมินความเสี่ยงของการดำเนินธุรกิจต่อปัจจัยแต่ละปัจจัยทั้งในด้าน E, S และ G และเมื่อนำคะแนนของทุกปัจจัยมารวมกันจะได้เป็นคะแนนความเสี่ยงต่อปัจจัยด้านความยั่งยืนในระดับบริษัท เรียกว่า Corporate Sustainability Score ซึ่งมีระดับตั้งแต่ 0 – 50 โดยกองทุนที่มีคะแนนต่ำ ก็จะหมายถึงความเสี่ยงที่ต่ำกว่านั่นเอง

1

นอกจากนี้ หากกองทุนนั้นๆมีการลงทุนในตราสารภาครัฐ ก็จะมีการจัดทำ Sovereign Sustainability Score ซึ่งเป็นการประเมินในระดับประเทศว่ามีความเสี่ยงด้านความมั่งคั่งและพัฒนาการทางเศรษฐกิจในระยะยาวมากน้อยเพียงใดมาร่วมพิจารณา เพื่อให้การประเมินเป็นไปอย่างครอบคลุมทั้งความเสี่ยงในระดับบริษัทและความเสี่ยงในระดับประเทศ

1

ทั้งนี้ การแสดงข้อมูล Sustainability Score สามารถดูได้ทั้งมุมมองปัจจุบัน เรียกว่า Current Sustainability Score ซึ่งเป็นคะแนนความยั่งยืนของกองทุนในเดือนล่าสุด และยังมีมุมมองย้อนหลังที่เรียกว่า Historical Sustainability Score ซึ่งเป็นคะแนนความยั่งยืนของกองทุนย้อนหลัง 12 เดือน โดยจะให้น้ำหนักมากที่สุดในพอร์ตล่าสุด ไล่เรียงไปจนถึงพอร์ตเก่าที่สุดจะมีน้ำหนักคะแนนต่ำที่สุด ดังนั้นนักลงทุนจึงสามารถเปรียบเทียบได้ว่าคะแนนความยั่งยืนของกองทุนมีทิศทางเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำ Sustainability Score ของค่าเฉลี่ยกลุ่มกองทุน เพื่อให้นักลงทุนสามารถเปรียบเทียบกองทุนที่พิจารณาร่วมกับกองทุนอื่นๆในกลุ่มได้อีกด้วย

หลังจากที่ได้ Sustainability Score ของแต่ละกองทุนแล้ว จึงนำคะแนนทั้งในด้าน Corporate Sustainability Score และ Sovereign Sustainability Score มาเปรียบเทียบกับทุกกองทุนที่อยู่ใน Morningstar Global Category เดียวกัน เพื่อจัดทำเป็น Rating ระดับ 1 ถึง 5 โดยกองทุนที่มีคะแนนความเสี่ยงต่ำสุด 10% แรกจะได้ Rating 5 ไล่เรียงไปจนถึงกองทุนที่มีความเสี่ยงมากที่สุด 10% จะได้ Rating 1

จากนั้น จึงนำคะแนนจากทั้ง 2 ปัจจัยมาถ่วงน้ำหนักเพื่อจัดทำเป็น Morningstar Sustainability Rating ที่ใช้สัญลักษณ์ลูกโลกเป็นตัวแทนของระดับคะแนน โดยกองทุนที่มีคะแนนตั้งแต่ 4.5 ขึ้นไป จะได้รับ Rating 5 ลูกโลก ซึ่งเป็นระดับที่สุดที่สุด จำนวนลูกโลกที่มากขึ้นนี้ แสดงให้เห็นว่าภาพรวมบริษัทที่กองทุนมีการลงทุนอยู่มีการจัดการความเสี่ยงด้าน ESG ได้ดีกว่ากองทุนอื่นๆที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน

สังเกตว่า Morningstar Sustainability Rating เป็นการเปรียบเทียบกลุ่มกองทุนที่กว้างกว่าการจัดอันดับ Morningstar rating ซึ่งอ้างอิงผลการดำเนินงานเฉพาะกองทุนที่จัดตั้งขึ้นในประเทศไทยภายใต้ Morningstar Category เดียวกันเท่านั้น ในขณะที่ Morningstar Sustainability Rating จะอ้างอิงกับ Morningstar Global Category ซึ่งเป็นการรวมกองทุนต่างๆทั่วโลกที่ถูกจัดไว้ในกลุ่มเดียวกันตามประเภทสินทรัพย์ที่กองทุนเน้นลงทุน จึงเป็นการเปรียบเทียบในมุมมองที่กว้างกว่า

ต่อยอดมุมมองการลงทุนนอกเหนือไปจากปัจจัย ESG

นอกจากปัจจัยด้าน ESG แล้ว Morningstar ยังมีการวิเคราะห์ถึงปัจจัยด้านอื่นๆที่อาจส่งผลต่อความยั่งยืนของกองทุน อย่างเช่น ในปัจจุบันทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วโลกให้ความสำคัญกับการลดผลกระทบและแก้ไขปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งหนึ่งในแนวทางที่สำคัญคือการลดการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลและการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ โดย Morningstar ได้จัดทำ Morningstar Carbon Metric เพื่อแสดงให้เห็นว่าบริษัทในพอร์ตการลงทุนมีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำมากน้อยเพียงใด โดยประเมินจาก 2 ปัจจัยร่วมกัน คือ Carbon risk score ซึ่งเป็นปัจจัยที่ประเมินถึงแนวทางการดำเนินธุรกิจตามหลักการด้าน low-carbon economy โดยจัดทำเป็นคะแนนตั้งแต่ 0 ถึง 100 (ยิ่งต่ำยิ่งดี) และอีกปัจจัยคือ Fossil Fuel Involvement % ซึ่งเป็นสัดส่วนการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล 

 1

เมื่อนำคะแนนจากทั้ง 2 ปัจจัยมาพิจารณาร่วมกัน Morningstar จะมีการแสดงสัญลักษณ์ Low Carbon Designation™ ให้กับกองทุนที่พอร์ตการลงทุนมีความสอดคล้องไปกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งผู้ลงทุนที่ให้ความสำคัญกับความเสี่ยงดังกล่าว ก็สามารถนำคะแนนดังกล่าวมาใช้เป็นอีกหนึ่งปัจจัยพิจารณาในการเลือกกองทุนได้เช่นกัน

นอกจากนี้ Morningstar ยังได้มีการประเมินเกี่ยวกับ Product Involvement ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสัดส่วนการลงทุนในพอร์ตของกองทุนมีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจหรือกิจกรรมในด้านต่างๆอย่างไร สำหรับนักลงทุนที่อาจมีความสนใจหรือให้ความสำคัญกับประเด็นความเสี่ยงเฉพาะด้าน โดยแบ่งออกเป็น 6 ด้านหลัก คือ

  1. Business Practices เช่น การทดลองในสัตว์, ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากขนหรือหนังสัตว์
  2. Defense and Military เช่น การผลิตอาวุธ การสนับสนุนด้านกองกำลัง
  3. Energy เช่น พลังงานนิวเคลียร์, ถ่านหิน
  4. Environment เช่น การดัดแปลงพันธุกรรม (GMOs), การใช้ยาฆ่าแมลง
  5. Health & Life เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์, ยาสูบ
  6. Value Based เช่น ธุรกิจพนัน หรือความบันเทิงสำหรับผู้ใหญ่

โดยการประเมินดังกล่าวมีการแสดงข้อมูลทั้งในระดับกองทุน และการเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของกองทุนในกลุ่ม โดยในตัวอย่างจะเห็นว่ากองทุนนี้มีสัดส่วนที่เกี่ยวข้องกับ Animal Testing 21% หมายความว่า กองทุนมีการลงทุนประมาณ 21% ในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการทดลองผลิตภัณฑ์ในสัตว์ ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกองทุนในกลุ่มที่มีสัดส่วนประมาณ 24% นอกจากนี้ หากกองทุนใดมีการเปิดเผยอย่างชัดเจนว่ามีการหลีกเลี่ยงการลงทุนในธุรกิจหรือกิจกรรมข้างต้น ก็จะมีระบุข้อความ "Employs Exclusions" ให้นักลงทุนทราบ

1

ข้อมูลข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งของการนำปัจจัยด้านความยั่งยืนมาใช้ในการพิจารณาคัดเลือกกองทุน โดย Morningstar ได้มีการจัดทำเครื่องมือต่างๆเพื่อเป็นตัวช่วยให้กับนักลงทุนที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนดังกล่าวให้สามารถประเมินผลกระทบและความเสี่ยงของแต่ละกองทุนได้ยิ่งขึ้นโดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยปัจจุบัน มีกองทุนในประเทศไทยที่ได้รับการจัดอันดับ Morningstar Sustainability rating มากกว่า 2,000 กองทุน ครอบคลุมทุกประเภทสินทรัพย์ไม่ว่าจะเป็นกองทุนหุ้น กองทุนตราสารหนี้ และกองทุนผสม ทั้งกองทุนรวมที่เน้นลงทุนในประเทศและต่างประเทศ สำหรับนักลงทุนท่านใดต้องการศึกษาข้อมูลความยั่งยืนของแต่ละกองทุนเพิ่มเติม สามารถเลือกดูได้จากหัวข้อ กองทุน โดยเลือกกองทุนที่ต้องการ และเลือกแถบ “Sustainability” เพื่อดูรายละเอียด

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar  Morningstar