ลงทุนผ่านกองทุน Global Allocation

กองทุนประเภท Global Allocation เป็นกองทุนผสมที่มีนโยบายการลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์ทั่วโลก โดยปัจจุบันกองทุนประเภทนี้มีขนาดทรัพย์สินโดยรวมประมาณ 1 แสนล้านบาท 

Morningstar 07/08/2567
Facebook Twitter LinkedIn

กองทุนประเภท Global Allocation เป็นกองทุนผสมที่มีนโยบายการลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์ทั่วโลก โดยปัจจุบันกองทุนประเภทนี้มีขนาดทรัพย์สินโดยรวมประมาณ 1 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 2% ของตลาดกองทุนรวมของไทย ซึ่งนับเป็นประเภทกองทุนผสมที่มีขนาดใหญ่ที่สุด และยังมีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 10 เมื่อเทียบกับประเภทกองทุนทั้งหมดในอุตสาหกรรม

ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ขนาดทรัพย์สินของกองทุนประเภท Global Allocation มีการเติบโตกว่า 25% และยังเติบโต 16% ในปีนี้ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากราคาสินทรัพย์ในตลาดโลกที่ฟื้นตัวเพิ่มขึ้น และอีกส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความนิยมที่เพิ่มขึ้นของนักลงทุน โดยในปีนี้กองทุน Global allocation มีเงินลงทุนสุทธิกว่า 1 หมื่นล้านบาท และนับเป็นกลุ่มกองทุนที่มีเงินลงทุนสุทธิสูงที่สุดเป็นอันดับ 5 เมื่อเทียบกับประเภทกองทุนทั้งหมด อีกทั้งยังนับเป็นประเภทกองทุนที่มียอดเงินลงทุนสูงสุดในกลุ่มที่ไม่ใช่กองทุนตราสารหนี้

จุดเด่นในด้านการกระจายความเสี่ยง

จุดเด่นของกองทุน Global Allocation คือการกระจายความเสี่ยงในหลากหลายสินทรัพย์ ซึ่งโดยปกติจะมีการลงทุนในสินทรัพย์หลักคือหุ้นและตราสารหนี้ ซึ่งตามทฤษฎีแล้วทั้งสองสินทรัพย์จะมีระดับความสัมพันธ์ที่แปรผกผันกัน คือ เมื่อสินทรัพย์หนึ่งปรับตัวลดลง อีกสินทรัพย์หนึ่งจะปรับตัวเพิ่มขึ้น จึงทำให้ระดับความผันผวนของผลตอบแทนของกองทุนผสมจะอยู่ในระดับที่ไม่สูงมาก ทั้งนี้ กองทุนในกลุ่ม Global Allocation มีผลตอบแทนเฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ -17% ถึง 6% ซึ่งนับว่าอยู่ในระดับปานกลางเมื่อเทียบกับการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทตราสารหนี้หรือหุ้นเพียงอย่างเดียว โดยในปีที่ตลาดหุ้นปรับตัวลงลงรุนแรงอย่างเช่นในปี 2565 ที่กองทุนหุ้นปรับตัวลดลงถึง -27% แต่กองทุนประเภท Global Allocation ได้รับผลกระทบจากการปรับตัวลดลงของตลาดในระดับที่น้อยกว่า โดยมีผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบเพียงครึ่งหนึ่งของกองทุนหุ้น ในทางกลับกันในปีที่ผลตอบแทนของกองทุนตราสารหนี้ปรับตัวติดลบอย่างเช่นในปี 2563 จะเห็นได้ว่าเป็นปีที่ผลตอบแทนของกองทุนหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุด ส่งผลให้กองทุน Global Allocation ยังคงรักษาผลตอบแทนที่ดีได้เช่นกัน

1

ปัจจุบันกองทุนในกลุ่มนี้มีสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์หลักอย่างหุ้นและตราสารหนี้เฉลี่ยประมาณ 53% และ 43% ตามลำดับ โดยหากเทียบระดับผลตอบแทนและความผันผวนของกองทุน Global Allocation กับกองทุนผสมประเภทอื่นๆ เช่น Conservative, Moderate และ Aggressive Allocation ซึ่งเป็นกองทุนผสมที่เน้นลงทุนในประเทศ จากกราฟด้านล่างจะเห็นว่ากองทุนประเภท Global Allocation สามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงที่สุดทั้งในปีนี้ (รูปซ้าย) และในช่วง 5 ปีย้อนหลัง (รูปขวา) ในขณะที่มีระดับความผันผวนสูงกว่ากองทุนผสมประเภท Moderate Allocation เพียงเล็กน้อย แต่ยังคงมีระดับความผันผวนที่ต่ำกว่ากองทุนผสมประเภท Aggressive Allocation

1

ดังนั้น จะเห็นว่านอกจากความหลากหลายในด้านประเภทสินทรัพย์แล้ว การลงทุนในหลากหลายภูมิภาค/ประเทศ ก็อาจเป็นอีกปัจจัยที่สามารถช่วยการกระจายความเสี่ยงให้กับผู้ลงทุนได้เช่นกัน

กลยุทธ์การลงทุนที่หลากหลาย

กองทุน Global Allocation นับเป็นหนึ่งในกองทุนประเภทหลักที่มีการเสนอขายจากหลายผู้ออกกองทุน โดยปัจจุบัน บลจ.กสิกรไทย มีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 1 ในกลุ่ม คิดเป็นมูลค่าทรัพย์สินโดยรวมประมาณ 4.6 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 45% ของตลาดโดยรวม อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากส่วนแบ่งตลาด พบว่าตลาดกองทุน Global Allocation ค่อนข้างมีความกระจุกตัว ซึ่งหากนับรวมเฉพาะ บลจ. 5 อันดับแรกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดจะมีสัดส่วนในตลาดรวมกันถึง 82% แต่เป็นที่น่าสนใจว่าในกลุ่ม บลจ. 5 อันดับแรกนั้น ประกอบด้วยทั้ง บลจ. ขนาดใหญ่ที่มีธนาคารเป็นแม่ และยังมี บลจ. ขนาดกลางและเล็กที่ติดอยู่ใน 5 อันดับเช่นกัน

1

ทั้งนี้ กองทุนในกลุ่ม Global Allocation ค่อนข้างมีความหลากหลายทั้งในด้านประเภทสินทรัพย์ที่ลงทุนและกรอบน้ำหนักการลงทุนในแต่ะละสินทรัพย์/ภูมิภาค โดยกองทุน Global Allocation ที่มีการเสนอขายในไทยปัจจุบัน มีทั้งโครงสร้างกองทุนแบบ Fund of funds, Feeder fund และการลงทุนแบบผสมผสานระหว่างการลงทุนตรงในหลักทรัพย์และการลงทุนผ่านกองทุนรวมในตลาด นอกจากนี้ บาง บลจ. ยังได้มีการจัดกลุ่มกองทุนย่อยสำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้แตกต่างกัน หรือบาง บลจ. อาจมีทั้งกองทุนสำหรับนักลงทุนทั่วไป และนักลงทุนรายใหญ่ ซึ่งมีความรู้ความเข้าใจในด้านการลงทุนและสามารถรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้สูงกว่า

สำหรับกองทุนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของกลุ่มกองทุน Global Allocation ในปัจจุบัน คือ กองทุน K Global Allocation-A (D) ซึ่งมีขนาดกองทุนประมาณ 1 หมื่นล้านบาท คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดถึง 10% โดยกองทุนดังกล่าวเป็นกองทุนประเภท Feeder fund ที่มีนโยบายลงทุนผ่านกองทุนหลักเพียงกองทุนเดียว คือ BGF Global Allocation Fund โดยนับเป็นกองทุน Global Allocation กองแรกๆของอุตสาหกรรม ที่มีประวัติการก่อตั้งมายาวนานตั้งแต่ปี 2545 นอกจากนี้ กองทุนภายใต้การบริหารของ บลจ.กสิกรไทย ยังครองอันดับ 1, 2 และ 5 ของกองทุนที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ซึ่งทั้ง 3 กองทุนเป็นกองทุนประเภท Feeder fund ทั้งหมด แต่มีความแตกต่างในด้านกองทุนหลักที่แต่ละกองทุนไปลงทุน โดยมีส่วนแบ่งตลาดรวมกันประมาณ 26% ของตลาดโดยรวม ในขณะที่กองทุนที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 และ 4 เป็นของ บลจ.เอไอเอ และ บลจ.บางกอกเเคปปิตอล ซึ่งเป็นที่น่าสนใจว่า แม้ว่าทั้ง 2 บลจ. จะไม่มีธนาคารเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่โดยตรง แต่ก็ยังคงสร้างการเติบโตให้กองทุนมีขนาดใหญ่จนติด 5 อันดับแรกของอุตสาหกรรมได้

1

ในอีกด้านหนึ่ง กองทุนที่มียอดเงินลงทุนสุทธิสูงที่สุดในปีนี้ คือ กองทุน K All Roads Enhanced NFRI-A (A) ของ บลจ. กสิกรไทย ซึ่งมีเงินลงทุนประมาณ 5.7 พันล้านบาท โดยเป็นกองทุนประเภทที่มีความเสี่ยงสูงหรือซับซ้อนและเสนอขายให้สำหรับนักลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ ดังนั้นการไหลเข้าของเงินลงทุนในกองทุนดังกล่าวจึงแสดงให้เห็นถึงความสนใจในกองทุนประเภทนี้ที่ไม่ได้กระจุกตัวเฉพาะนักลงทุนรายย่อยเพียงเท่านั้น

สำหรับกองทุนที่มียอดเงินลงทุนสูงสุดเป็นอันดับ 2 และ 3 คือกองทุน Krungthai World Class Moderate-A และ Krungthai World Class Growth-A ของ บลจ.กรุงไทย ซึ่งเป็นกองทุนในกลุ่ม Krungthai World Class Series ที่เป็นความร่วมมือกับ บลจ. ระดับโลกอย่าง Fidelity ในการกำหนดกลยุทธ์การลงทุนในแต่ละสินทรัพย์เพื่อให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงของแต่ละกองทุน โดยมีโครงสร้างกองทุนแบบ Fund of funds ที่มีการกระจายการลงทุนในกองทุนต่างๆทั่วโลก

ในด้านผลตอบแทน กองทุนที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงที่สุดในปีนี้ คือ กองทุน United Emerging Markets Income A ของ บลจ.ยูโอบี ซึ่งมีผลตอบแทน 11.15% ในปีนี้  โดยป็นกองทุนประเภท Feeder fund ซึ่งลงทุนในกองทุนหลัก คือ AB SICAV I - Emerging Markets Multi-Asset Portfolio มีนโยบายเน้นลงทุนในสินทรัพย์ของประเทศในกลุ่ม Emerging markets เป็นหลัก ในขณะที่กองทุนที่มีผลตอบแทนอันดับ 2 และ 3 คือกองทุน Krung Thai Opportunity A และกองทุน Asset Plus Global Income Plus A ซึ่งพอร์ตการลงทุนปัจจุบันของทั้ง 2 กองทุนมีการลงทุนทั้งในกองทุนรวมต่างประเทศและการลงทุนตรงในหุ้นรายตัว สำหรับกองทุนอันดับ 4 และ 5 นั้น เป็นกองทุนประเภท Feeder fund ซึ่งมีนโยบายการลงทุนในกองทุนหลักเพียงกองทุนเดียว

1

ข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของกลยุทธ์การลงทุนของกองทุนประเภท Global Allocation ที่มีการเสนอขายในตลาดปัจจุบัน ซึ่งทำให้ปัจจัยขับเคลื่อนผลตอบแทนก็มีความแตกต่างกันเช่นกัน ทั้งนี้ถึงแม้ว่ากองทุน Global Allocation จะมีการกระจายความเสี่ยงในด้านสินทรัพย์หรือประเทศที่ลงทุน แต่ก็ไม่ได้เป็นการการันตีว่ากองทุนจะสามารถสร้างผลตอบแทนที่เป็นบวกหรือรักษาระดับผลตอบแทนให้มีความสม่ำเสมอได้ตลอดไป ดังจะเห็นจะเห็นได้จากตารางผลตอบแทนข้างต้น ซึ่งกองทุนที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงที่สุดในปีนี้ ก็มีความหลากหลายในด้านกลยุทธ์การลงทุน และอาจมีผลตอบแทนติดลบได้ในบางปีเช่นกัน ดังนั้นนักลงทุนจึงควรทำความเข้าใจและพิจารณากลยุทธ์การลงทุนที่เหมาะสมกับเป้าหมายและระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของตนเองก่อนการลงทุน

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar  Morningstar