กระจายความเสี่ยงด้วยกองทุน Allocation fund

กองทุนผสม หรือ Allocation Fund เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของนักลงทุนที่ต้องการกระจายการลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์ โดยมีจุดเด่นคือ 

Morningstar 02/08/2567
Facebook Twitter LinkedIn

กองทุนผสม หรือ Allocation Fund เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของนักลงทุนที่ต้องการกระจายการลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์ โดยมีจุดเด่นคือ ระดับความผันผวนที่ไม่สูงเท่ากับการลงทุนในหุ้นเพียงอย่างเดียว ทำให้สามารถช่วยกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุนโดยรวมได้ ในขณะเดียวกันก็ยังมีโอกาสสร้างการเติบโตของเงินลงทุนได้สูงกว่าการลงทุนในตราสารหนี้ ทำให้กองทุน Allocation Fund ได้รับความสนใจจากทั้งนักลงทุนไทยและนักลงทุนในต่างประเทศ โดยเป็นประเภทกองทุนที่มีขนาดทรัพย์สินใหญ่เป็นอันดับต้นๆ รองจากกองทุนตราสารหนี้และกองทุนหุ้น มีมูลค่าทรัพย์สินรวมประมาณเกือบ 3 แสนล้านบาทในตลาดกองทุนรวมของไทย ทั้งนี้ Morningstar มีการจัดประเภทกองทุนในกลุ่ม Allocation Fund ของไทยไว้ทั้งหมด 4 กลุ่ม คือ

  1. Conservative Allocation: กองทุนผสมที่มีสัดส่วนของหุ้นไม่เกิน 35%
  2. Moderate Allocation: กองทุนผสมที่มีสัดส่วนของหุ้นตั้งแต่ 35% - 65%
  3. Aggressive Allocation: กองทุนผสมที่มีนโยบายการลงทุนในหุ้นอย่างยืดหยุ่นตั้งแต่ 0%-100% ซึ่งโดยปกติสัดส่วนการลงทุนในหุ้นของกองทุนในกลุ่มนี้จะสูงกว่า 65%
  4. Global Allocation: กองทุนผสมที่มีสัดส่วนของหุ้นไม่เกิน 65% และมีสัดส่วนอย่างน้อย 75% ในสินทรัพย์นอกประเทศไทย

โดยปัจจุบันกองทุนประเภท Global Allocation มีมูลค่าทรัพย์สินสูงที่สุดในกลุ่มกองทุน Allocation Fund โดยมีขนาดประมาณ 1 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของขนาดกองทุนทั้งหมดในกลุ่ม รองลงมาคือ กองทุนประเภท Aggressive Allocation (สัดส่วนประมาณ 30%), Conservative Allocation (สัดส่วนประมาณ 20%) และ Moderate Allocation (สัดส่วนประมาณ 15%) ตามลำดับ

1

กองทุนผสมสามารถช่วยกระจายความเสี่ยงได้จริงหรือไม่?

ผลการดำเนินงานเฉลี่ยของกองทุนในกลุ่ม Allocation Fund ค่อนข้างมีความแตกต่างกันตามสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง โดยในปีนี้ กองทุนประเภท Global Allocation สามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงสุดในกลุ่มต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 หลังจากที่มีการปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงในปี 2565 โดยการฟื้นตัวของสินทรัพย์ในต่างประเทศเป็นปัจจัยบวกหลักต่อการปรับตัวเพิ่มขึ้นของผลตอบแทนของกองทุนในกลุ่มนี้

ในทางตรงกันข้าม กองทุนประเภท Aggressive Allocation มีผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 หลังจากที่เคยปรับตัวขึ้นสูงสุดในปี 2564 ซึ่งมีสาเหตุมาจากการปรับตัวลดลงของตลาดหุ้นไทย ในขณะที่กองทุนประเภท Moderate และ Conservative Allocation ปรับตัวเป็นบวกเล็กน้อยในปีนี้ เนื่องจากได้รับประโยชน์จากการกระจายการลงทุนในตราสารหนี้ในสัดส่วนที่สูงกว่ากองทุนประเภท Aggressive Allocation

1

จะเห็นว่าประโยชน์ของการกระจายการลงทุนของกลุ่มกองทุน Allocation Fund ทำให้ส่วนต่างของผลตอบแทนในแต่ละช่วงนั้นไม่สูงมาก โดยกองทุนประเภท Conservative Allocation ซึ่งเหมาะสมกับผู้รับความเสี่ยงได้ต่ำ สามารถสร้างผลตอบแทนย้อนหลังอยู่ในช่วง -3% ถึง 4% ในขณะที่กองทุนประเภท Aggressive Allocation ซึ่งเหมาะกับผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูง จะมีช่วงของผลตอบแทนที่กว้างขึ้น โดยข้อมูลตั้งแต่ปี 2562 ถึงปัจจุบัน พบว่า กองทุนประเภทดังกล่าวมีผลตอบแทนอยู่ในช่วงตั้งแต่ -7% ถึง 18%

นอกจากนี้ หากเทียบระดับผลตอบแทนและความเสี่ยงของกองทุนประเภท Global Allocation กับกองทุน Global Bond และ Global Equity จะเห็นได้ชัดว่าการกระจายการลงทุนของกองทุน Global Allocation สามารถช่วยตอบโจทย์เรื่องการกระจายความเสี่ยงได้ โดยทั้งผลตอบแทนและความผันผวนของกองทุนในกลุ่มอยู่ในระดับปานกลางเมื่อเทียบกับกองทุนตราสารหนี้และหุ้น

1

สำหรับกองทุนประเภท Conservative, Moderate และ Aggressive Allocation ที่เน้นการลงทุนในประเทศนั้น พบว่า การกระจายการลงทุนสามารถช่วยรักษาระดับความผันผวนและผลตอบแทนให้อยู่ในระดับปานกลางได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านระดับความผันผวนของผลตอบแทนที่ปรับลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับการลงทุนในหุ้นเพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตาม ด้วยระดับผลตอบแทนของกองทุนหุ้นไทยที่ปรับตัวลดลงค่อนข้างมากในปีนี้ ทำให้ผลตอบแทนโดยรวมของกองทุนประเภท Conservative, Moderate และ Aggressive Allocation ยังคงได้รับปัจจัยกดดัน

1

ความนิยมที่เพิ่มขึ้นของนักลงทุน

ท่ามกลางความผันผวนของตลาดหุ้น และความไม่แน่นอนของปัจจัยมหภาคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางในประเทศต่างๆ, ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ หรือ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่มีความแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาคและประเทศต่างๆทั่วโลก ส่งผลให้นักลงทุนอาจเริ่มมองหาการลงทุนทางเลือกที่มีความปลอดภัยต่อเงินลงทุน ดังจะเห็นได้จากทิศทางเงินลงทุนของไทยในปีนี้ มียอดเงินลงทุนสุทธิในกองทุนตราสารหนี้เป็นจำนวนมาก ในขณะที่ยอดเงินลงทุนสุทธิในกองทุนหุ้นปรับตัวติดลบประมาณ -1 หมื่นล้านบาท

จากสถานการณ์ข้างต้น กองทุน Allocation Fund ยังคงสามารถสร้างการเติบโตเป็นบวกได้ในปีนี้ โดยมูลค่าทรัพย์สินโดยรวมเติบโตเกือบ 5% และมียอดเงินลงทุนสุทธิรวมกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการเติบโตมาจากทั้งกองทุนประเภท Global Allocation, Aggressive Allocation และ Moderate Allocation ที่ล้วนมีเงินลงทุนสุทธิเป็นบวก ในขณะที่กองทุนประเภท Conservative Allocation เป็นกองทุนประเภทเดียวในกลุ่มที่มีเงินลงทุนสุทธิติดลบ

หากเทียบตัวเลขเงินลงทุนกับในอดีตนับว่าตัวเลขดังกล่าวอาจไม่ได้อยู่ในระดับที่สูงมากหากเทียบกับจุดสูงสุดที่กองทุนในกลุ่มนี้เคยทำได้ในปี 2559 ที่มียอดเงินลงทุนสูงถึง 8.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีปัจจัยขับเคลื่อนมาจากกองทุนประเภท Global Allocation และ Conversative Allocation เป็นหลัก ต่อมาในปี 2560 – 2562 ยอดเงินลงทุนโดยรวมยังคงเป็นบวกแต่ก็มีระดับที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จนไปแตะระดับติดลบครั้งแรกในปี 2563 ที่ระดับ -6.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีปัจจัยกดดันมาจากทั้งกองทุนประเภท Conservative, Moderate และ Global Allocation

ทั้งนี้ ยอดเงินลงทุนโดยรวมยังคงติดลบต่อเนื่องจนถึงปี 2565 กระทั่งในปี 2566 ที่เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น โดยยอดเงินลงทุนสุทธิเริ่มปรับตัวขึ้นเป็นบวกครั้งแรก หลังจากที่มีเงินลงทุนสุทธิติดลบต่อเนื่องในช่วงเวลา 3 ปีก่อนหน้า และยอดเงินลงทุนสุทธิในปี 2567 ยังปรับตัวเป็นบวก ซึ่งนับเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นรายเดือนต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 4 เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2564

1

ประเด็นหนึ่งที่น่าสังเกตคือ ถึงแม้ว่าภาพรวมเงินลงทุนในกองทุนกลุ่ม Allocation Fund จะปรับตัวติดลบในช่วง 2-3 ปีก่อนหน้านี้ แต่พบว่ากองทุนประเภท Aggressive Allocation กลับยังคงสามารถรักษาเงินลงทุนเป็นบวกได้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน แม้ว่าผลตอบแทนจะปรับตัวติดลบในช่วงเวลาดังกล่าว ในขณะที่กองทุนประเภท Conservative Allocation ยังคงเป็นปัจจัยกดดันยอดเงินลงทุนโดยรวมของกลุ่มต่อเนื่อง โดยมียอดเงินลงทุนสุทธิติดลบตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งภาพดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงระดับ Risk appetite ของนักลงทุนที่มีแนวโน้มให้ความสนใจกับประเภทกองทุนที่มีความเสี่ยงค่อนข้างสูงเพิ่มมากขึ้น

ทางเลือกการลงทุนสำหรับทั้งนักลงทุนมือใหม่และมืออาชีพ

นักลงทุนบางท่านอาจเข้าใจว่าการลงทุนในกองผสมอาจเหมาะสำหรับนักลงทุนมือใหม่เท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วกองทุนผสมยังสามารถเป็นทางเลือกให้กับนักลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจทางด้านการลงทุน แต่อาจไม่มีเวลาในการติดตามสถานการณ์การลงทุนเพื่อปรับพอร์ตได้อย่างรวดเร็วและเหมาะสม หรือนักลงทุนที่ต้องการมีมืออาชีพด้านการลงทุนโดยเฉพาะ มาช่วยดูแลด้านการจัดสรรพอร์ตการลงทุนให้ โดยในช่วงที่ผ่านมาจะเริ่มเห็นความร่วมมือของ บลจ.ในประเทศไทยกับพันธมิตรที่เป็น บลจ. ต่างประเทศ ในการออกแบบกองทุนผสมที่มีความหลากหลายทางกลยุทธ์การลงทุนมากยิ่งขึ้น ซึ่งมีทั้งกองทุนผสมสำหรับนักลงทุนทั่วไป และกองทุนที่มีระดับความซับซ้อนของสินทรัพย์มากขึ้นสำหรับนักลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจในการลงทุนเป็นอย่างดี ดังนั้นนักลงทุนจึงมีทางเลือกในการพิจาณากองทุนที่ตอบโจทย์เป้าหมายการลงทุนของนักลงทุนแต่ละบุคคลได้ดีขึ้น

ทั้งนี้ ข้อมูลจาก Morningstar ระบุว่าปัจจุบันกองทุน Allocation Fund ทั่วโลกมีมูลค่ารวมกันประมาณ 4.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 10% ของขนาดกองทุนรวมทั่วโลก ในขณะที่ตลาดกองทุนรวมของไทยนั้น กองทุนในกลุ่ม Allocation Fund มีสัดส่วนเพียงประมาณ 7% ของตลาดโดยรวม ซึ่งนับว่ายังเป็นสัดส่วนที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับตลาดโลก จึงแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการเติบโตของกองทุนในกลุ่มนี้ได้อีกมาก

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar  Morningstar