กองทุน Thai ESG หรือกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน นับเป็นกองทุนลดหย่อนภาษีน้องใหม่ ซึ่งเริ่มมีการจัดตั้งและเปิดให้ลงทุนได้ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2566 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการออมและสนับสนุนความยั่งยืนของไทย โดยปัจจุบันมีกองทุน Thai ESG ในตลาดทั้งหมด 31 กองทุน คิดเป็นมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวมประมาณ 6.7 พันล้านบาท
แม้ว่ากองทุน Thai ESG จะเริ่มให้มีการจัดตั้งได้ไม่ถึงปี แต่ก็ได้รับความนิยมจากนักลงทุนไม่น้อย โดยในปีนี้มีอัตราการเติบโตของมูลค่าทรัพย์สินโดยรวมประมาณ 3.3% ซึ่งหากแยกตามประเภทสินทรัพย์ที่ลงทุน พบว่าส่วนใหญ่เป็นกองทุนที่มีนโยบายเน้นลงทุนในหุ้นเป็นหลัก โดยมีมูลค่าทรัพย์สินคิดเป็นสัดส่วนกว่า 76% รองลงมาคือประเภทกองทุนผสม และกองทุนตราสารหนี้ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในด้านอัตราการเติบโต พบว่ากลุ่มที่มีนโยบายเน้นการลงทุนในตราสารหนี้ มีอัตราการเติบโตสูงที่สุดถึง 30.6% ในปีนี้
บลจ. ที่มีทรัพย์สินสุทธิสูงที่สุดในกลุ่มกองทุน Thai ESG คือ บลจ.กสิกรไทย ซึ่งมีจำนวนกองทุน Thai ESG ที่เสนอขาย 1 กองทุน คือ กองทุนเปิดเค Target Net Zero หุ้นไทย ชนิดไทยเพื่อความยั่งยืน และกำลังอยู่ระหว่างการเสนอขายอีก 1 กองทุน คือ กองทุนเปิดเค ตราสารภาครัฐ ESG ชนิดไทยเพื่อความยั่งยืน (ข้อมูล ณ 30 มิ.ย. 67) โดย บลจ. กสิกรไทย มีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 21% ในขณะที่รองลงมา คือ บลจ.ไทยพาณิชย์ ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดใกล้เคียงกัน และเป็น บลจ. ที่มีจำนวนกองทุน Thai ESG มากที่สุดในกลุ่ม โดย บลจ. 3 อันดับแรกมีส่วนแบ่งตลาดในกลุ่มกองทุน Thai ESG รวมกันถึงเกือบ 60% นอกจากนี้ ในด้านอัตราการเติบโต บลจ.เกียรตินาคินภัทร มีอัตราการเติบโตสูงที่สุดในกลุ่ม โดยเติบโตสูงถึง 13% ในปีนี้
ด้านเงินลงทุนสุทธิ ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา กองทุน Thai ESG มีเงินลงทุนสุทธิรวมเกือบ 684 ล้านบาท โดยกองทุนที่มีนโยบายเน้นลงทุนในหุ้นได้รับความนิยมมากที่สุด คิดเป็นยอดเงินลงทุนประมาณ 462 ล้านบาท หรือประมาณ 67% ของยอดเงินลงทุนทั้งหมด รองลงมาคือกองทุนตราสารหนี้ และกองทุนผสมตามลำดับ
หากพิจารณาในด้านรายกองทุน กองทุนเปิดเค Target Net Zero หุ้นไทย ชนิดไทยเพื่อความยั่งยืน นับเป็นกองทุน Thai ESG ที่ใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมและในกลุ่มกอง Thai ESG ที่มีนโยบายเน้นลงทุนในหุ้น โดยมีขนาดกองทุนประมาณ 1.4 พันล้านบาท หรือประมาณ 20% ของตลาดโดยรวม และยังเป็นกองทุน Thai ESG ที่มียอดเงินลงทุนสุทธิสูงที่สุดในปีนี้ โดยมียอดเงินลงทุนสุทธิประมาณ 130 ล้านบาท (ข้อมูล ณ 30 มิ.ย. 67) ในขณะที่กองทุนเปิดเคเคพี พันธบัตรรัฐบาลไทยเพื่อความยั่งยืน มีขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่มกองทุนตราสารหนี้ และกองทุนรวมบัวหลวงตราสารภาครัฐไทยเพื่อความยั่งยืน ซึ่งมีการจัดตั้งในปี 2567 เป็นกองทุนที่มียอดเงินลงทุนสุทธิสูงสุดในกลุ่มกองทุนตราสารหนี้ ในด้านกองทุนผสม กองทุนกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ไทยผสมยั่งยืน มีขนาดใหญ่ที่สุดและมีเงินลงทุนสุทธิสูงสุดในกลุ่ม
ในด้านผลตอบแทน ค่าเฉลี่ยผลตอบแทนของกองทุน Thai ESG ทั้งอุตสาหกรรมปรับตัวติดลบประมาณ -7.73% ในปีนี้ เนื่องจากกองทุนส่วนใหญ่เน้นการลงทุนในหุ้นไทย ซึ่งในปีนี้มีการปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก ในขณะที่กองทุนที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงที่สุด คือ กองทุนเปิดเคเคพี พันธบัตรรัฐบาลไทยเพื่อความยั่งยืน ซึ่งสามารถสร้างผลตอบแทนได้ 1.37% และเป็นกองทุนเดียวที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้เป็นบวกในปีนี้ ทั้งนี้ผลตอบแทนของกองทุนในกลุ่มค่อนข้างมีความแตกต่างกัน โดยเฉพาะในกลุ่มกองทุนหุ้น ซึ่งมีส่วนต่างผลตอบแทนระหว่างกองทุนที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงที่สุดและต่ำสุดแตกต่างกันถึง 16%
ตลาดกองทุนลดหย่อนภาษีในไทย
มูลค่าทรัพย์สินโดยรวมของกองทุนลดหย่อนภาษีในไทย มีมูลค่าประมาณ 7.33 แสนล้านบาท โดยกองทุน RMF มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิมากที่สุด รวมประมาณ 4.3 แสนล้านบาท คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดประมาณ 59% ของตลาดโดยรวม รองลงมาคือกองทุน LTF ที่มีขนาดประมาณ 2.3 แสนล้านบาท, กองทุน SSF ประมาณ 6.4 หมื่นล้านบาท และกองทุน Thai ESG ซึ่งมีขนาดประมาณ 6.7 พันล้านบาท ทั้งนี้ เนื่องจากกองทุน Thai ESG เป็นกองทุนลดหย่อนภาษีน้องใหม่ที่เพิ่งเริ่มจัดตั้งได้ไม่ถึงปี ทำให้ขนาดกองทุนของทั้งอุตสาหกรรมโดยรวมยังคงน้อยกว่ากองทุนลดหย่อนภาษีประเภทอื่นๆอยู่มาก อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในแง่อัตราการเติบโตของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ นับว่ากองทุน Thai ESG มีการเติบโตสูงที่สุดเป็นอันดับ 2 ในบรรดากองทุนลดหย่อนภาษีทั้งหมด รองจากกองทุน SSF ท่ามกลางมูลค่าตลาดโดยรวมของกลุ่มกองทุนลดหย่อนภาษีที่เติบโตติดลบ เนื่องจากการทยอยครบกำหนดของกองทุน LTF และการปรับตัวของตลาดโดยรวม
หากเทียบเงินลงทุนของกองทุน Thai ESG กับกองทุน RMF/SSF พบว่ายอดเงินลงทุนสุทธิของกองทุน Thai ESG มูลค่าประมาณ 684 ล้านบาท นับเป็นระดับที่สูงกว่ากองทุน RMF ซึ่งมีเงินลงทุนสุทธิ -1.1 พันล้านบาทในปีนี้ ในขณะที่กองทุน SSF มียอดเงินลงทุนสุทธิมากที่สุด ประมาณ 2.6 พันล้านบาท (ไม่รวม LTF เนื่องจากไม่สามารถลงทุนเพิ่มได้) โดยความแตกต่างหนึ่งที่สำคัญระหว่างกองทุน Thai ESG และกองทุน SSF/RMF คือทางเลือกของผู้ลงทุนในด้านนโยบายการลงทุนที่กองทุน SSF/RMF สามารถลงทุนในสินทรัพย์ได้หลากหลายประเภททั้งในประเทศและต่างประเทศ ในขณะที่กองทุน Thai ESG จะต้องเน้นลงทุนในหุ้นหรือตราสารหนี้ของไทยเท่านั้น โดยประเภทกองทุน SSF ที่มียอดเงินลงทุนสูงสุด 3 อันดับแรกในปีนี้ ล้วนเป็นกองทุนหุ้นต่างประเทศทั้งหมด คือ กองทุนหุ้นสหรัฐฯ, กองทุนหุ้นทั่วโลก และกองทุนหุ้นจีน ตามลำดับ ในขณะที่ประเภทกองทุน RMF 3 อันดับแรกที่มียอดเงินลงทุนสูงสุด เป็นกองทุนหุ้นจีน, กองทุนหุ้นสหรัฐฯ และกองทุนหุ้นเวียดนาม
ในด้านผลตอบแทน กองทุน Thai ESG มีค่าเฉลี่ยผลตอบแทนของกองทุนในกลุ่มต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับกองทุนลดหย่อนภาษีทั้งหมด โดยกองทุน Thai ESG มีผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบมากที่สุดที่ -7.73% และกองทุน LTF มีผลตอบแทนเฉลี่ย -6.07% ในทางตรงกันข้าม กองทุน SSF และ RMF มีผลตอบแทนเฉลี่ยเป็นบวก โดย SSF มีค่าเฉลี่ยผลตอบแทน 1.47% และกองทุน RMF มีค่าเฉลี่ยผลตอบแทน 2.20% ซึ่งผลตอบแทนของกองทุน SSF และ RMF ได้รับปัจจัยบวกจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งของตลาดหุ้นต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดหุ้นอินเดีย หุ้นญี่ปุ่น หุ้นเทคโนโลยี และหุ้นเวียดนาม รวมถึงสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ทองคำ
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสนใจว่าหากพิจารณาในระดับสินทรัพย์ พบว่ากลุ่มกองทุนตราสารหนี้ของ กองทุน Thai ESG สามารถสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยได้ดีกว่ากองทุนตราสารหนี้ SSF/RMF โดยมีค่าเฉลี่ยผลตอบแทนอยู่ที่ 1.37% ในขณะที่กองทุน SSF และ RMF มีค่าเฉลี่ยผลตอบแทนที่ 0.85% และ 0.98% ตามลำดับ โดยกองทุน SSF/RMF มีปัจจัยกดดันส่วนหนึ่งมาจากผลการดำเนินงานของกองทุนตราสารหนี้ในต่างประเทศ
สำหรับนักลงทุนแล้ว จุดเด่นของสิทธิประโยชน์ทางภาษีของกองทุน Thai ESG เมื่อเทียบกับกองทุนลดหย่อนภาษีอื่นๆ คือ ระยะเวลาการถือครองที่น้อยกว่า และวงเงินลดหย่อนภาษีที่นับแยกต่างหากจากกองทุน SSF/RMF นอกจากนี้ ล่าสุด ครม. ได้ลงมติอนุมัติการปรับเงื่อนไขการลงทุนของ Thai ESG ให้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น โดยจะลดระยะเวลาการถือครองลงจากเดิม 8 ปีเหลือ 5 ปี และปรับเพิ่มวงเงินลดหย่อนจากเดิม 1 แสนบาทเป็น 3 แสนบาท ดังนั้นด้วยเกณฑ์การลงทุนใหม่จะทำให้นักลงทุนที่ต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีผ่านกองทุนรวม จะมีวงเงินลงทุนจากทั้งกองทุน SSF, RMF และ Thai ESG รวมกันสูงสุดถึง 8 แสนบาท อีกทั้งยังมีการขยายขอบเขตสินทรัพย์ที่สามารถลงทุนได้ให้มีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น และบลจ. ต่างๆยังมีการออกทยอยกองทุนใหม่มาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการลงทุนในกองทุน Thai ESG จึงนับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของนักลงทุนที่ต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี ที่สามารถช่วยส่งเสริมความยั่งยืนของประเทศไทยได้อีกทางหนึ่ง โดยการพิจารณาคัดเลือกกลยุทธ์และนโยบายการลงทุนอาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างความยั่งยืนของผลตอบแทนได้ในระยะยาว