ปัจจุบันมีหน่วยลงทุนประเภท ETFs หรือ Exchange-traded fund ให้เลือกมากมายและเข้าถึงได้ง่ายทั้งหุ้น ตราสารหนี้ หรือแม้กระทั่ง Bitcoin และมีต้นทุนในการซื้อขายที่ต่ำ อย่างไรก็ดีการจัดส่วนผสมการลงทุนที่เหมาะสมอาจเป็นเรื่องที่ต้องคอยติดตามเนื่องจากการคาดเดาถึงทิศทางในอนาคตเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย อย่างไรก็ดียังมีแนวทางที่ง่ายและใช้เวลาไม่มากในการช่วยให้นักลงทุนจัดพอร์ตการลงทุน โดยนักลงทุนต้องรับความเสี่ยงได้มากพอผ่านการลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้เพื่อรับผลตอบแทนที่คาดหวังให้บรรลุเป้าหมายทางการเงินที่ตั้งไว้
แนวคิดของคนฉลาด
การจัดพอร์ตลงทุนเป็นการผสมการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆเข้าด้วยกันเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ต้องการภายใต้ความเสี่ยงที่เหมาะสม การกระจายการลงทุนหรือการเลือกส่วนผสมลงทุนในสินทรัพย์ที่ผลตอบแทนไม่ได้สัมพันธ์กันมากจึงมีบทบาทที่สำคัญมากในการบรรลุเป้าหมายนี้
Harry Markowitz นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ได้คิดค้นหลักการซึ่งเป็นที่ยอมรับและถูกนำมาใช้จัดพอร์ตลงทุนโดยผู้เชี่ยวชาญทางการเงินมากมาย ซึ่งเป็นการคำนวณเพื่อหาสัดส่วนการลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้เพื่อให้ได้ส่วนผสมพอร์ตลงทุนที่สร้างผลตอบแทนได้สูงสุดภายใต้ความเสี่ยงที่มี
จากกราฟที่ 1 Markowitz’s model ด้านล่างคือ “Efficient frontier” แสดงการผสมผสานระหว่างหุ้นและตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุด ณ ความเสี่ยงในระดับต่างๆ ซึ่งจุดซ้ายสุดของกราฟคือจุดที่มีความเสี่ยงต่ำหรือมีการลงทุน 100% ในตราสารหนี้สหรัฐระดับ Investment grade และจุดขวาสุดคือการลงทุนในหุ้นสหรัฐซึ่งมีความเสี่ยงสูง (จากภาพใช้ Bloomberg US Aggregate Bond Index และ S&P 500 เป็นตัวแทน)
โดยสรุปคือหากต้องการผลตอบแทนที่สูงขึ้นก็ต้องรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นหรือลงทุนในหุ้นที่มากขึ้นแทนตราสารหนี้ อย่างไรก็ดีส่วนปลายของกราฟในจุดที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุดของพอร์ตโฟลิโอกลับไม่ใช่การลงทุนในตราสารหนี้เพียงอย่างเดียวแต่มีส่วนผสมของหุ้นเล็กน้อยด้วยหรือก็คือการลดความเสี่ยงด้วยการลงทุนในหุ้นเล็กน้อย
หากจัดส่วนผสมการลงทุนไม่ดี ผลลัพธ์ที่ได้ออกมาก็ไม่ดีเช่นกัน
สิ่งแรกที่ต้องพิจารณาคือจาก Model นั้นเป็นการใช้ข้อมูลในอดีตมาวิเคราะห์ซึ่งการมองไปในอนาคตนั้นไม่อาจทำได้แน่นอนเหมือนการมองข้อมูลที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทน ความผันผวน และความสัมพันธ์ระหว่างหุ้นและตราสารหนี้นั้นมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทำให้การจัดสรรส่วนผสมลงทุนที่เหมาะสมที่สุดเปลี่ยนไปได้
ตัวอย่างกราฟทื่ 2 แสดงให้เห็นเส้น Efficient frontier ที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงเวลาต่างๆ ดังนั้นการใช้ข้อมูลในอดีตมากำหนดสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสมในอนาคตนั้นอาจเป็นที่สิ่งผิดได้
อย่างไรก็ดีแม้ว่า Markowitz’s model จะไม่ได้แม่นยำเรื่องสัดส่วนลงทุนที่เหมาะสม แต่ก็ยังเป็นเครื่องมือสำหรับใช้ในการจัดพอร์ตลงทุนสำหรับระยะยาวที่ดีได้
หุ้นและตราสารหนี้มักมีความสัมพันธ์หรือการเคลื่อนไหวที่แตกต่างกัน โดยมีค่าความสัมพันธ์ 0.24 ( ค่าความสัมพันธ์เท่ากับ 1 แปลว่าสัมพันธ์กันสูงเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกัน, ค่าเท่ากับ 0 แปลว่าไม่สามารถบอกความสัมพันธ์กันได้) ทั้งนี้พอร์ตลงทุนที่ต้องการกระจายการลงทุนจะนิยมลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความสัมพันธ์กันต่ำ
นอกจากนี้หากเพิ่มการลงทุนในหุ้นต่างประเทศข้อสรุปที่ได้ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง เห็นได้จากภาพที่ 3 แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างสินทรัพย์ในช่วงปี 2001-2024 โดยพบว่าหุ้นสหรัฐและหุ้นประเทศอื่นๆมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกันหรือค่าความสัมพันธ์เท่ากับ 0.7-0.9 ส่วนตราสารหนี้ยังคงมีความสัมพันธ์ที่ต่ำเมื่อเทียบกับหุ้นหรือมีค่าความสัมพันธ์ใกล้ 0
สรุปได้ว่าหากกระจายการลงทุนไปยังหุ้นหลายๆประเทศก็ไม่ได้ช่วยให้ได้ประโยชน์จากการกระจายความเสี่ยงได้มากนัก ไม่ว่าจะเป็นหุ้นในสหรัฐหรือหุ้นประเทศอื่นๆก็เคลื่อนไหวไปในทางเดียวกัน แต่ตราสารหนี้นับว่าช่วยกระจายความเสี่ยงจากการลงทุนได้มาก ดังนั้นสัดส่วนการลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ที่เหมาะสมจึงมีความสำคัญอย่างมากต่อความเสี่ยงและผลตอบแทนระยะยาว
อย่าจัดพอร์ตให้ยุ่งยากซับซ้อน
แนวคิดการจัดพอร์ตของ Markowitz ช่วยให้เข้าใจหลักการของการกระจายการลงทุนได้ดี และการจัดสัดส่วนของสินทรัพย์ลงทุนที่เหมาะสมนั้นก็ขึ้นอยู่กับความถูกต้องแม่นยำของข้อมูลที่ใส่เข้าไปประมวลผลด้วย
พอร์ตการลงทุนปกติจะสร้างขึ้นมาเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ทั้งในแง่ของผลตอบแทนและความเสี่ยง นักลงทุนแต่ละคนก็อาจมีความต้องการและสัดส่วนการลงทุนที่แตกต่างกันซึ่งขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของแต่ละคน หากไม่มีหุ้นเรยแล้วถ้าหุ้นขึ้นก็คงเสียดาย หรือถ้ามีหุ้นแล้วหุ้นลงต่อก็คงแย่อีกเช่นกัน ดังนั้นการจัดพอร์ตการลงทุนก็เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต อาจเลือกลงทุนในหุ้น 50% และตราสารหนี้ 50% หรืออาจจัดส่วนผสมที่เหมาะสมเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายทางการเงินที่ตั้งไว้ โดยที่เรายังสบายใจและนอนหลับได้โดยไม่ต้องกังวลต่อการคำนวณตามหลักการที่มากจนเกินไป