7 ขั้นตอนทบทวนพอร์ตโฟลิโอ

7 ขั้นตอนทบทวนพอร์ตโฟลิโอ

Morningstar 05/07/2567
Facebook Twitter LinkedIn

1

สำหรับพอร์ตการลงทุนในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา หากให้น้ำหนักลงทุนในหุ้นสหรัฐ  60% และอีก 40% เป็นตราสารหนี้สหรัฐ เฉลี่ยผลตอบแทนที่ทำได้ตอนนี้ของพอร์ตการลงทุนอยู่ที่ประมาณ 8%  และหากลงทุนในหุ้นด้วยสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นผลตอบแทนที่ได้ก็น่าจะมากขึ้นเช่นกันเนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาหุ้นกลุ่มเทคโนโลยียังคงนำตลาดหุ้นรวมให้ปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่ตราสารหนี้ยังไม่ได้ให้ผลตอบแทนที่ดีมากเนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐยังคงนโยบายอัตราดอกเบี้ยสูงต่อเนื่อง และด้วยตลาดหุ้นในปีนี้ที่ยังคงมีผลตอบแทนที่สูงต่อเนื่องจากปีที่แล้วทำให้เป็นโอกาสที่ดีในช่วงนี้ที่เราจะมาทบทวนสถานะพอร์ตลงทุนในปัจจุบันด้วยขั้นตอนหลักๆดังต่อไปนี้

ตรวจสอบสถานะพอร์ตโฟลิโอ

เริ่มจากตรวจสอบสถานะการลงทุนว่ายังเป็นไปตามแผนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเงินที่วางไว้หรือไม่? เช่นหากอยู่ในช่วงสะสมเงินเพื่อเกษียณ อาจดูความสมดุลของสินทรัพย์ที่ลงทุนร่วมกับอัตราการออมว่ายังอยู่ตามแผนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายหรือไม่ และถ้าเป็นไปได้ก็อาจเพิ่มอัตราการออมที่มากขึ้นสำหรับผู้ที่มีรายได้สูงหรือมีเป้าหมายอื่นๆเช่นเพื่อการศึกษาบุตรหรือเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย แต่ถ้าเป็นผู้ที่อยู่ในวัยเกษียณแล้วคงต้องไปให้ความสำคัญกับอัตราการถอนเงินในพอร์ตโฟลิโอออกมาใช้จ่ายซึ่งก็ขึ้นอยู่กับผลตอบแทนของเงินลงทุนที่ทำได้ในปีนั้นๆและความคาดหวังต่อช่วงชีวิตที่เหลืออยู่ ซึ่งโดยปกติก็อยู่ที่ประมาณปีละ 4%

ประเมินการจัดสรรสินทรัพย์ลงทุน

ทำการตรวจสอบสัดส่วนการลงทุนในปัจจุบันระหว่าง หุ้น ตราสารหนี้ และเงินสด กับเป้าหมายที่ตั้งใจไว้แต่แรกว่าเป็นอย่างไรบ้าง สัดส่วนการลงทุนของบางคนในตอนนี้อาจมีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นสหรัฐที่สูงกว่าทั่วไปซึ่งไม่เป็นไรสำหรับผู้ลงทุนที่อายุน้อยเพราะยังมีเวลาลงทุนอีกนาน จึงเปิดโอกาสให้ได้รับผลตอบแทนที่สูงได้สำหรับผู้ที่ยังรับความเสี่ยงได้มาก แต่ก็ไม่เหมาะกับผู้ที่ใกล้เกษียณหรืออยู่ในวัยเกษียณแล้ว ดังนั้นหากมีการลงทุนในหุ้นด้วยสัดส่วนที่มากและภายในช่วง 10 ปีนี้จะเกษียณอายุ นักลงทุนควรย้ายเงินลงทุนไปยังตราสารหนี้หรือเงินฝากให้มากขึ้น

ประเมินความพอเพียงของสภาพคล่องที่มี

สำหรับการสำรองเงินหรือสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงไว้ใช้ในยามฉุกเฉินนั้นอย่างน้อยต้องมีรองรับได้สำหรับการใช้จ่ายในช่วง 3-6 เดือนหรือมากกว่านี้ได้สำหรับผู้ที่มีรายได้สูง ส่วนคนที่อยู่ในช่วงเกษียณแล้วอย่างน้อยควรมีเงินรองรับสำหรับการใช้จ่ายได้ตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 2 ปี นอกจากนี้การสำรองเงินสดหรือสภาพคล่องนั้นก็ต้องเลือกทิ้งเงินไว้ในบัญชีที่ให้ผลตอบที่สูงด้วย

ประเมินการลงทุนในหุ้น

นอกจากประเมินภาพรวมการจัดสรรเงินลงทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภทแล้ว ในแต่ละประเภทของสินทรัพย์ก็ควรดูอีกว่ามีการกระจายการลงทุนอย่างไรบ้าง เพราะที่ผ่านมาการลงทุนในหุ้นกลุ่ม Growth ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า Value และหุ้นสหรัฐยังให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าตลาดหุ้นอื่นๆ

ประเมินการลงทุนในตราสารหนี้

ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยเป็นขาขึ้นและสภาพเศรษฐกิจไม่ดี  กลุ่มตราสารหนี้คุณภาพต่ำให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าตราสารหนี้อื่นๆ แต่ถ้าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยลดลงนักลงทุนก็ควรเริ่มย้ายเงินลงทุนจากกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงไปยังตราสารหนี้ที่มีคุณภาพดีมากขึ้น เพื่อเป็นการปรับพอร์ตโฟลิโอให้มีการกระจายการลงทุนและบริหารความเสี่ยง ส่วนการลงทุนในตราสารหนี้คุณภาพต่ำก็อาจมองเป็นเหมือนส่วนหนึ่งของหุ้นก็ได้

เช็คการลงทุนในสินทรัพย์แต่ละรายการ

ในสินทรัพย์รายตัวที่เราลงทุนก็ควรตรวจสอบแนวโน้มและอนาคตด้วย ซึ่งอาจตรวจสอบจากการดูอันดับMorningstar Ratings ทั้งสำหรับหุ้น กองทุนรวม และ ETFs ที่เราลงทุน ซึ่งหากสินทรัพย์ที่เราลงทุนมีสัญญาณ Red flags อาจหมายถึงกองทุนที่เราลงทุนอยู่นั้นมีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้จัดการกองทุนหรือนโยบายการลงทุน หรือมีผลงานต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน หรือมีการลงทุนในหุ้นหรือบางกลุ่มอุตาสหกรรมในสัดส่วนที่สูงมาก ถ้าเป็นกรณีหุ้นรายตัวการมีสัญญาณ Red flags แปลว่าราคาซื้อขายปัจจุบันอยู่สูงกว่ามูลค่าพื้นฐานค่อนข้างมากและมีความสามารถในการแข่งขันต่ำ

ปรับพอร์ตการลงทุนอย่างรอบคอบ

หากยังมีเวลาอีกนานกว่าจะเกษียณอายุ แปลว่าคุณยังรองรับความเสี่ยงและความผันผวนได้มาก ดังนั้นหาก 90% ของพอร์ตการลงทุนอยู่ในหุ้นซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ 80%-85% การจะปรับพอร์ตเข้าสู่เป้าหมายระยะยาวอาจไม่ต้องรีบมาก แต่หากคิดจะปรับพอร์ตเรยก็อย่าลืมคำนึงถึงเรื่องภาษีและต้นทุนในการดำเนินการด้วย แต่หากถึงวัยใกล้เกษียณการปรับพอร์ตอาจต้องรีบทำโดยเฉพาะในส่วนของสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงอย่างหุ้น ซึ่งอาจต้องเริ่มย้ายเงินลงทุนไปยังตราสารหนี้หรือเงินสดมากขึ้น

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar  Morningstar