ขณะนี้หน้า “จัดการพอร์ตโฟลิโอ” อยู่ในระหว่างปรับปรุงและดำเนินการเพื่อให้กลับมาใช้งานได้ปกติอย่างเร่งด่วน ทางมอร์นิ่งสตาร์ขออภัยในความไม่สะดวกมา ณ ที่นี้

ส่องทิศลงทุน กองทุนรวมหุ้นในประเทศไทย

ท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้นในตลาดโลกและความผันผวนจากความไม่แน่นอนของปัจจัยมหภาค ทั้งในด้านทิศทางการดำเนินนโยบายของธนาคารกลาง

Morningstar 13/06/2567
Facebook Twitter LinkedIn

ท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้นในตลาดโลกและความผันผวนจากความไม่แน่นอนของปัจจัยมหภาค ทั้งในด้านทิศทางการดำเนินนโยบายของธนาคารกลาง, ปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ และระดับราคาของตลาดหุ้นที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลต่อภาพอุตสาหกรรมกองทุนรวมในไทย โดยกองทุนตราสารหนี้ได้รับความสนใจจากนักลงทุนไทยมากขึ้น จนทำให้ยอดเงินลงทุนสุทธิปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบหลาย 10 ปี โดยมียอดเงินลงทุนรวมกว่า สองแสนล้านบาทนับจากต้นปี 2567

ในขณะที่ยอดเงินลงทุนสุทธิในกองทุนหุ้นกลับมีมูลค่าติดลบรวมเกือบหมื่นล้านบาท โดยหากเทียบกับช่วง 5 เดือนเดียวกันของปีก่อน ตัวเลขดังกล่าวนับเป็นการติดลบครั้งแรกตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทั่วโลก โดยประเภทกองทุนหุ้นที่มีเงินลงทุนไหลออกมากที่สุด คือ กองทุนหุ้นไทยในกลุ่ม Equity Large-Cap ซึ่งมีเงินลงทุนไหลออก 5 เดือนต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี คิดเป็นยอดเงินติดลบรวมกันกว่า 15,400 ล้านบาท โดยเกือบ 90% เป็นเงินลงทุนที่ไหลออกจากกองทุน LTF ที่ทยอยครบกำหนด ทั้งนี้กองทุนหุ้นกลุ่ม Equity Large-Cap เป็นหนึ่งในประเภทกองทุนที่มีผลตอบแทนเฉลี่ยน้อยที่สุดในปีนี้ โดยมีผลตอบแทนเฉลี่ย -3.54% เมื่อนับจากต้นปี (ข้อมูล ณ 31 พ.ค. 67)

1

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางบรรยากาศการลงทุนที่ซบเซาในกองทุนหุ้นไทย ยังคงมีกองทุนหุ้นต่างประเทศบางกลุ่มที่ได้รับความนิยมจากนักลงทุนไทย เห็นได้จากยอดเงินลงทุนที่ยังคงมีความแข็งแกร่ง และผลตอบแทนที่โดดเด่น ซึ่งมีทั้งในกลุ่มหุ้นประเทศพัฒนาแล้ว หุ้นกลุ่มอุตสาหกรรม และหุ้นในประเทศต่างๆของภูมิภาคเอเชีย

1

โดยหากนับจากต้นปี กองทุนหุ้นที่มีเงินไหลเข้าสุทธิมากที่สุดในปีนี้ คือ กองทุนหุ้นสหรัฐฯ เนื่องจากภาพการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างมีความชัดเจน และการคาดการณ์ของตลาดในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลาง ทำให้ในปีนี้กองทุนหุ้นสหรัฐฯปรับตัวเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 5.04% และมียอดเงินลงทุนสุทธิรวมกว่า 7,797 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินลงทุนเป็นบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 โดยประเภทกองทุนที่ได้รับความนิยมส่วนใหญ่เป็นกองทุนที่เน้นลงทุนในดัชนีหลักของตลาดหุ้นสหรัฐฯ เช่น ดัชนี S&P500 และ ดัชนี NASDAQ

อีกหนึ่งภูมิภาคที่เป็นดาวเด่นของการลงทุนในปีนี้คือกองทุนหุ้นเอเชีย โดย 3 ตลาดหลักที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากที่สุดคือ กองทุนหุ้นอินเดีย, กองทุนหุ้นเวียดนาม และกองทุนหุ้นจีน ซึ่งมียอดเงินลงทุนสุทธิรวมกันประมาณ 6,921 ล้านบาทนับตั้งแต่ต้นปี

ทั้งนี้ กองทุนหุ้นอินเดียเริ่มได้รับความสนใจจากนักลงทุนมาตั้งแต่ช่วงกลางปี 2566 สวนทางกับยอดเงินลงทุนในกองทุนหุ้นจีน เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าว ทิศทางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนที่ยังมีความไม่ชัดเจน ทำให้นักลงทุนบางส่วนสับเปลี่ยนการลงทุนมายังหุ้นอินเดียซึ่งเป็นอีกหนึ่งตลาดใหญ่ของภูมิภาคเอเชีย โดยอินเดียเป็นหนึ่งในตลาดที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างแข็งแกร่งในช่วงที่ผ่านมา โดยผลตอบแทนเฉลี่ยของกองทุนหุ้นอินเดียย้อนหลัง 1 ปีอยู่ที่ 23.76% และผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 7.22% ทำให้กองทุนในกลุ่มนี้มียอดเงินลงทุนสุทธิเป็นบวกต่อเนื่องถึง  ไตรมาส 1 ของปี 2567 โดยเฉพาะในเดือนมีนาคม 2567 ที่มียอดเงินลงทุนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2,004 ล้านบาท ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2560 อย่างไรก็ตาม จากระดับราคาของตลาดหุ้นอินเดียที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมามาก และตลาดหุ้นจีนเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น ทำให้ในไตรมาส 2 ของปี 2567 เริ่มมีแรงเทขายบางส่วนออกจากกองทุนหุ้นอินเดียอย่างต่อเนื่อง

ในด้านกองทุนหุ้นจีน หลังจากที่ภาครัฐเริ่มส่งสัญญาณการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ ทำให้ตลาดเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างชัดเจนหลังจากที่ปรับตัวลดลงไปอย่างมากในช่วงก่อนหน้า โดยผลการดำเนินงานเฉลี่ยของกองทุนหุ้นจีนในปีนี้เริ่มปรับตัวขึ้นเป็นบวก โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 4.93% นับเป็นหนึ่งในประเภทกองทุนที่ให้สูงที่สุดในช่วงเวลาดังกล่าว ทำให้เริ่มมีเงินลงทุนกลับเข้ามาในกองทุนหุ้นจีนมากขึ้นในปีนี้ โดยเฉพาะในเดือนพฤษภาคม 2567 ที่กองทุนหุ้นจีนมียอดเงินลงทุนสุทธิกว่า 1,499 ล้านบาท นับเป็นระดับสูงที่สุดในกลุ่มกองทุนหุ้น โดยกลยุทธ์การลงทุนที่ได้รับความนิยมสำหรับกองทุนหุ้นจีนในปีนี้ส่วนใหญ่จะเป็นกองทุนที่เน้นการลงทุนใน All China ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้จัดการกองทุนสามารถเลือกลงทุนในหุ้นจีนที่จดทะเบียนในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ครอบคลุมทั้งตลาด A-Shares, H-Shares, และ ADRs

1

1

นอกจากอินเดียและจีนแล้ว อีกหนึ่งประเทศในภูมิภาคเอเชียที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนไทย คือ เวียดนาม ซึ่งถึงแม้ว่ายอดเงินลงทุนจะเบาบางลงเมื่อเทียบกับช่วงปี 2-3 ปีก่อน แต่ก็ยังคงสามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างแข็งแกร่ง โดยกองทุนหุ้นเวียดนามมีผลตอบแทนเฉลี่ยตั้งแต่ต้นปีที่ 13.05% และย้อนหลัง 1 ปีที่ 17.66% ทำให้ยังมีเงินลงทุนไหลกลับเข้าเป็นระยะตามกระแสข่าวของพัฒนาการของตลาดที่เกิดขึ้น โดยตลาดคาดว่าเวียดนามจะเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับประโยชน์หลักจากการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทาน และมีโอกาสในการเปลี่ยนสถานะจาก Frontier market สู่ประเทศในกลุ่ม Emerging market ในอนาคต

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าการลงทุนในกองทุนหุ้นเอเชียนั้น นักลงทุนนิยมลงทุนในกองทุนหุ้นแยกรายประเทศมากกว่าการลงทุนในกองทุนเดียวที่มีการกระจายการลงทุนในประเทศต่างๆ ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากสภาพเศรษฐกิจและปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตของแต่ละประเทศในภูมิภาคเอเชียค่อนข้างมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน นอกจากนี้ ประเภทกองทุนที่ได้รับความนิยมสำหรับการลงทุนในหุ้นภูมิภาคเอเชียส่วนใหญ่เป็นกองทุนที่มีกลยุทธ์การลงทุนในเชิงรุก (Active fund) มากกว่าการลงทุนในกองทุนที่มีผลการดำเนินงานอ้างอิงตามดัชนี (Passive fund)

ในด้านกองทุนหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรม กองทุนหุ้นกลุ่มเทคโนโลยียังคงครองตำแหน่งประเภทกองทุนที่มีเงินลงทุนสุทธิสูงที่สุดตั้งแต่ต้นปี โดยเป็นประเภทกองทุนที่สามารถสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยสูงที่สุดถึง 25.03% ในช่วง 1 ปีย้อนหลัง และยังคงสร้างผลตอบแทนได้ดีต่อเนื่องในปีนี้ โดยมีผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีที่ 5.71% ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนของการเติบโตมาจากกระแสความร้อนแรงของความก้าวหน้าทางด้าน AI ที่ทำให้ธุรกิจต่างๆที่มีความเกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทานได้รับผลบวกและราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น ประกอบกับปัจจัยกดดันด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่มีแนวโน้มผ่อนคลายลง ทำให้อุตสาหกรรมเทคโนโลยีกลับมาได้รับความสนใจจากนักลงทุนอีกครั้งหลังจากที่มีเงินลงทุนไหลออกต่อเนื่องในช่วงปลายปี 2566 และส่งผลให้ในปีนี้กองทุนหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีมียอดเงินลงทุนสุทธิกว่า 2,446 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ทิศทางดังกล่าวเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลงในเดือนพฤษภาคม หลังจากที่เริ่มมีแรงเทขายทำกำไรจาก นักลงทุนบางส่วนในตลาดหลังจากที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นมามาก และตลาดบางส่วนคาดการณ์ว่าธนาคารกลางอาจยังไม่สามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ในระยะใกล้นี้

 1

โดยสรุป ถึงแม้ว่ายอดเงินลงทุนโดยรวมในกองทุนหุ้นอาจติดลบ แต่ยังมีหลายตลาดที่ยังคงได้รับความสนใจจากนักลงทุน และในแต่ละประเภทกองทุนก็มีกลยุทธ์การลงทุนที่นักลงทุนให้ความสนใจแตกต่างกัน โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อเงินลงทุนในบางครั้งก็มีความเชื่อมโยงกันอย่างต่อเนื่องในแต่ละตลาด จึงเป็นที่น่าติดตามว่า หากธนาคารกลางสหรัฐฯชะลอการปรับลดอัตราดอกเบี้ยออกไปตามที่ตลาดบางส่วนเริ่มมีความกังวล จะส่งผลอย่างไรต่อทิศทางการลงทุนในกองทุนต่างๆของนักลงทุน

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar  Morningstar