We are currently investigating intermittent issues affecting access to some articles and pages on our site. We apologize for any inconvenience and are working to resolve this as quickly as possible.

Morningstar มีหลักการวัดและประเมินหุ้นอย่างไร

Morningstar ใช้หลักการวิเคราะห์หุ้น และให้เรตติ้งหุ้นอย่างไรบ้าง ลองมาฟังบทสัมภาษณ์คุณ David Sekera นักกลยุทธ์จากมอร์นิ่งสตาร์กันค่ะ

Morningstar 23/05/2567
Facebook Twitter LinkedIn

1

Morningstar ใช้หลักการวิเคราะห์หุ้น และให้เรตติ้งหุ้นอย่างไรบ้าง ลองมาฟังบทสัมภาษณ์คุณ David Sekera นักกลยุทธ์จากมอร์นิ่งสตาร์กันค่ะ

Susan Dziubinski: ในขณะที่ Morningstar ได้ครบรอบการจัดตั้งมา 40 ปีแล้ว นับเป็นโอกาสที่ดีในการที่เราจะมาดูกันว่าทาง Morningstar มีแนวทางในการประเมินการลงทุนในหุ้นอย่างไรบ้าง และมีความแตกต่างจากการวิเคราะห์ของบริษัทอื่นๆอย่างไร?

David Sekera: สิ่งที่ทำให้เราแตกต่างจากคนอื่นคือการให้ความสำคัญต่อการลงทุนระยะยาว ซึ่งเราเชื่อว่าการให้เวลากับการลงทุนในระยะยาวจะสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าการพยายามจับจังหวะตลาดและซื้อขายทำกำไรในช่วงสั้น อย่างไรก็ดีไม่ได้บอกว่าการซื้อขายทำกำไรในช่วงสั้นนั้นไม่ดีแต่ส่วนตัวผมไม่ค่อยให้ความสำคัญต่อปัจจัยชี้วัดทางเทคนิคพื้นฐานเหล่านี้อยู่แล้ว

สิ่งที่เราให้ความสำคัญคือการหามูลค่าที่แท้จริงของหุ้นในระยะยาว และหาช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเข้าลงทุนโดยต้องมีส่วนต่างของราคาซื้อขายในตลาดกับมูลค่าพื้นฐานที่มากพอ จากนั้นก็ถือรอจนกว่านักลงทุนในตลาดจะเห็นมูลค่าที่แท้จริงของบริษัทและขับเคลื่อนราคาในตลาดให้สูงขึ้นเอง อื่นๆนอกเหนือจากนี้เรายังมีหน้าที่ช่วยกรองข้อมูลข่าวสารหรือปัจจัยต่างๆที่คิดว่ามีผลต่อมูลค่าของบริษัทนั้นจริงๆให้กับนักลงทุนออกจากข่าวหรือประเด็นอื่นๆที่อาจจะน่าสนใจแต่จริงๆแล้วไม่ได้มีผลต่อมูลค่ากิจการมากนัก โดยสรุปแล้วงานวิเคราะห์ของเราจึงเน้นที่การประเมินมูลค่าพื้นฐานเพื่อหาบริษัทที่น่าลงทุน (Bottom up) ในยะยะยาว ผ่านการคำนวณหามูลค่าปัจจุบันที่ควรจะเป็นจากกระแสเงินสดที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต

Dziubinski: ถ้าอย่างนั้นลองอธิบายเพิ่มเติมถึงตัวชี้วัดบริษัทต่างๆของ Morningstar อย่างเช่น Economic Moat Rating ว่าคืออะไรและมีความสำคัญอย่างไร?

Sekera: ความจริง Economic Moat Rating อาจจะคล้ายกับแนวคิดการวิเคราะห์ของ Warren Buffett, Graham และ Dodd คือดูว่าบริษัทมีความสามารถในการแข่งขันระยะยาวหรือไม่ และสามารถสร้างอัตรากำไรจากเงินลงทุนที่เหนือกว่าคู่แข่งได้นานเท่าไหร่

แน่นอนว่ายิ่งบริษัทสร้างผลตอบแทนได้เหนือกว่าคู่แข่งได้นานเท่าไหร่มูลค่าของบริษัทก็มากขึ้นเท่านั้น ส่วนในระยะยาวเชื่อว่าความสามารถในการแข่งขันของบริษัทก็เป็นสิ่งที่ช่วยปกป้องมูลค่าของกิจการจากความเสี่ยงขาลงให้กับบริษัทได้ เช่นหากเราอยู่ในสภาวะที่เศรษฐกิจถดถอยบริษัทที่ไม่มีความสามารถในการแข่งขันก็อาจจะล้มหายหรือต้องปิดกิจการลงในช่วงดังกล่าว

Dziubinski: ในการคำนวณหามูลค่าที่เหมาะสมสำหรับบริษัทนั้นมีวิธีการคำนวณอย่างไร และบ่งบอกอะไรให้กับนักลงทุนได้บ้าง?

Sekera:  เราคำนวณจากการคิดลดมูลค่ากระแสเงินสดในอนาคต โดยที่ทีมนักวิเคราะห์จะต้องทำการคาดการณ์รายได้และอัตรากำไรที่บริษัทจะทำได้ในอนาคต เพื่อประเมินหากระแสเงินสดที่บริษัทจะสร้างขึ้นได้ในแต่ละปีจากนั้นจึงคิดลดกลับมาเป็นมูลค่าที่แท้จริงของกิจการในปัจจุบันว่ามีมูลค่าเท่าไหร่

อย่างไรก็ดีนักวิเคราะห์บางแห่งอาจใช้วิธีอื่นในการประเมิน เช่น ดู P/E ratios ซึ่งส่วนตัวผมคิดว่าการดู P/E ratios ไม่ได้เป็นการบ่งบอกที่ดีได้เท่าไหร่ P/E ratios อาจไม่ได้เป็นการสะท้อนภาพรวมทั้งหมดของกิจการหรือสะท้อนว่าเราอยู่ช่วงไหนของวัฐจักรอุตสาหกรรม และไม่ได้คำนึงถึงการเติบโตที่บริษัทจะสร้างได้ในอนาคตรวมถึงระยะเวลาที่ใช้ในการสร้างการเติบโต ดังนั้นแล้ว P/E ratios อาจใช้เพื่อเป็นการเปรียบเทียบมูลค่าของกิจการด้วยกันมากกว่าการนำมาใช้เพื่อหามูลค่าที่แท้จริงของกิจการ

Dziubinski: แล้วกรณีของ Morningstar Uncertainty Rating มีความสำคัญอย่างไรต่อการประเมินมูลค่ากระแสเงินสดและมูลค่ากิจการ?

Sekera: Uncertainty Rating เป็นตัวชี้วัดความแน่นอนของกระแสเงินสดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตของบริษัท เช่น บริษัทในกลุ่ม Utility อาจมีช่วงเวลาที่ธุรกิจผันผวนได้ในช่วงสั้นๆ แต่ในระยะยาวยังนับว่าเป็นธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้และกำไรได้อย่างมั่นคง

ขณะที่บริษัทในกลุ่ม Mining วัฐจักรของธุรกิจอาจมีความผันผวนที่สูงเป็นระยะเวลายาวนานได้โดยขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจในช่วงดังกล่าว หรือหุ้นกลุ่ม Technology ในช่วงที่มีเทคโนโลยีใหม่ๆก็อาจสร้างรายได้ที่เติบโตได้สูงมากเป็นเวลาหลายปีจนกระทั่งเมื่อมีคู่แข่งหน้าใหม่เข้ามาหรือมีเทคโนโลยีใหม่มาทดแทนก็จะทำให้รายได้และขนาดกิจการหดตัวลงได้เช่นกัน การลงทุนในบริษัทประเภทนี้จึงต้องมีส่วนต่างของราคากับมูลค่าที่แท้จริงที่มากพอก่อนที่จะเข้าลงทุน

Dziubinski: Morningstar Rating สำหรับหุ้นนั้นบ่งบอกอะไรได้บ้าง?

Sekera: เรามีการจัดอันดับตั้งแต่ 1-5 ดาว เพื่อสะท้อนว่าราคาหุ้นในปัจจุบันนั้นอยู่สูงหรือต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง (Overvalue หรือ Undervalue) มากน้อยแค่ไหน? ถ้าได้ 1 ดาวแปลว่า Overvalue มาก และ 5 ดาวแปลว่า Undervalue มากเช่นกัน ซึ่งการประเมินตาม Star ratings นี้เราได้ประเมินร่วมกับ Uncertainty Rating ด้วย

ดังนั้นหากเราจะแนะนำให้ลงทุนในหุ้นที่มีความไม่แน่นอนของธุรกิจที่สูงก็ควรจะต้องเป็นหุ้นที่มีส่วนต่างของราคากับมูลค่าที่แท้จริงที่มากด้วย (Margin of safety) และในทางกลับกันหุ้นที่มีความไม่แน่นอนของธุรกิจสูงก็มีโอกาสที่ส่วนต่างราคาหุ้นจะมากกว่ามูลค่าที่แท้จริงได้มากด้วยเช่นกันซึ่งเราอาจรอให้ส่วนต่างเพิ่มขึ้นมากได้ในระดับหนึ่งก่อนที่เราจะแนะนำให้ขายหุ้นเพื่อทำกำไร

หุ้นที่ได้ 5 ดาว คือหุ้นที่มีโอกาสให้ผลตอบแทนเมื่อเทียบกับความเสี่ยงได้มากกว่าค่าเฉลี่ย และหุ้นที่ได้ 1 ดาวก็มีโอกาสสูงที่จะให้ผลตอบแทนเมื่อเทียบกับความเสี่ยงได้น้อยกว่าค่าเฉลี่ย

Dziubinski: แปลว่าหุ้นที่ได้ 4-5 ดาวเท่านั้นที่ควรลงทุนใช่หรือไม่? และตอนนี้ลงทุนได้เรยใช่ไหม?

Sekera: บางทีก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายขนาดนั้น เมื่อคิดถึงเรื่องลงทุนเราต้องดูสภาวะตลาดในขณะนั้นว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ดูข่าวสารข้อมูลประกอบการลงทุนด้วย และเมื่อเราลงทุนในบริษัทที่ได้ 4-5 ดาวแต่เมื่อเวลาผ่านไปหากราคาหุ้นของบริษัทเหล่านี้ได้เพิ่มขึ้นจน Rating เหลือ 1-2 ดาวเราก็ควรใช้จังหวะนี้ในการขายทำกำไรเช่นกัน ในมุมมองทางด้านพื้นฐานของหุ้นนั้นนักลงทุนจำเป็นต้องรู้ว่ามูลค่าที่แท้จริงคืออะไร และเมื่อมีปัจจัยเปลี่ยนแปลงก็จะต้องมีการปรับเปลี่ยนมูลค่าที่เหมาะสมอย่างต่อเนื่องด้วย

และแน่นอนว่าหากมูลค่าหุ้นมีการเปลี่ยนแปลงนักลงทุนก็ควรที่จะตัดสินใจขายหรือซื้อลงทุนเพิ่มเติม เช่น หากปัจจัยที่ขับเคลื่อนหุ้นได้ส่งผลทำให้ราคาหุ้นขึ้นมาแล้วก็เป็นไปได้ที่ทำให้หุ้นนั้นๆถูกขายออกมาหลังจากที่ราคาได้สะท้อนจากประเด็นดังกล่าวแล้ว แต่หากประเด็นการลงทุนในระยะยาวของหุ้นนั้นๆยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ดังนั้นก็ถือเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะเข้าลงทุนในหุ้นดังกล่าวเพิ่มเติมในราคาที่ถูกลง หรือหากปัจจัยได้สะท้อนให้ราคาหุ้นปรับขึ้นมาจนส่วนต่างของมูลค่าที่แท้จริงกับราคาตลาดนั้นลดลงและราคาหุ้นก็ยังอยู่ในระดับสูง นักลงทุนก็ควรตัดสินใจขายทำกำไรจากหุ้นดังกล่าวเช่นกัน

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar  Morningstar