การลงทุนในกองทุนรวมที่ง่ายขึ้น

ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา มีหลายอย่างที่เปลี่ยนแปลงไปสำหรับการลงทุนในกองทุน ทั้งจำนวนกองทุนและจำนวนบริษัทจัดการกองทุนที่เพิ่มขึ้น ต้นทุนการดำเนินงานที่ลดลง 

Morningstar 06/05/2567
Facebook Twitter LinkedIn

1

ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา มีหลายอย่างที่เปลี่ยนแปลงไปสำหรับการลงทุนในกองทุนสหรัฐ ทั้งจำนวนกองทุนและจำนวนบริษัทจัดการกองทุนที่เพิ่มขึ้น ต้นทุนการดำเนินงานที่ลดลง การเปิดเผยข้อมูลที่มากขึ้น และการเพิ่มขึ้นของกองทุนประเภท Passive funds

อุตสาหกรรมกองทุนสหรัฐในอดีต

ในอดีตนั้นการลงทุนผ่านกองทุนรวมยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก โดยจากข้อมูลของ Investment Company Institute  พบว่ามีสัดส่วนเพียง 12% ของครัวเรือนเท่านั้นที่ลงทุนในกองทุนรวมในปี 1984 และมูลค่าการลงทุนยังมีสัดส่วนน้อยกว่า 2% ของมูลค่าสินทรัพย์ทางการเงิน ทั้งนี้กองทุนประเภท Money market fund มีมูลค่าประมาณ 2.33 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ส่วน Mutual fund มีมูลค่าน้อยกว่า 1.4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับวิธีลงทุนนั้นนักลงทุนอาจซื้อกองทุนผ่านโบรกเกอร์ หรืออาจติดต่อไปที่บริษัทจัดการกองทุนเพื่อขอรับหนังสือชี้ชวนและทำการลงทุนผ่านเช็คเพื่อเปิดบัญชี ด้านการเข้าถึงข้อมูลนั้นนักลงทุนยังไม่อาจรู้ด้วยซ้ำว่าใครคือผู้จัดการกองทุนและมีการลงทุนได้ตรงกับวัตถุประสงค์หรือไม่ ส่วนจำนวนกองทุนในอดีตมีประมาณ 900 กองทุน และส่วนใหญ่เป็นกองทุนตราสารหนี้ภาครัฐ กองทุนหุ้นขนาดใหญ่ และกองผสม

อุตสาหกรรมกองทุนสหรัฐในปัจจุบัน

นักลงทุนมีตัวเลือกการลงทุนที่ค่อนข้างมาก โดยจากฐานข้อมูลของ Morningstar พบว่าในสหรัฐมีกองทุนรวมให้เลือกกว่า 10,400 กองทุน รวมไปถึงมีกองทุน ETFs ให้เลือกได้กว่า 130 ประเภท

ด้านค่าใช้จ่ายก็ลดลงกว่าแต่ก่อน ส่วนหนึ่งสะท้อนมาจากการเติบโตอย่างมากของ ETFs หลังจากที่มีการจัดตั้งขึ้นมาในปี 1993 จนถึงปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 1 ใน 3 ของสินทรัพย์อุตสาหกรรม ซึ่งกองทุน ETFs นั้นปกติจะมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่ากองทุนทั่วไป

การขยายตัวของกองทุนประเภทอ้างอิงดัชนีหรือ Passive funds ก็เพิ่มขึ้นมาก โดย Passive funds ปัจจุบันมีสัดส่วนรวมเกินกว่าครึ่งของสินทรัพย์อุตสาหกรรม ซึ่งอาจเป็นข้อดีของนักลงทุนเนื่องจากผู้จัดการกอง Active funds ปกติมักจะไม่สามารถสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่มมาทดแทนค่า Fee ที่สูงกว่าสำหรับกองทุน Active ได้ ส่วนในด้านจริยธรรมและการเปิดเผยข้อมูลของกองทุนก็มีมากขึ้นกว่าในอดีต

สำหรับนักลงทุนที่ต้องการจัดพอร์ตลงทุนก็มีทางเลือกที่ดีขึ้น อย่างเช่นในปี 1984 ที่มี Balanced funds อย่างเช่นกอง Vanguard Wellington จัดตั้งขึ้นมา ซึ่งมีส่วนผสมของการลงทุนทั้งในหุ้นและตราสารหนี้อยู่ในกองเดียวกัน ต่อมาในปี 1994 ก็มีกองทุนประเภท Target-date funds ที่มีลักษณะคล้าย Balanced funds แต่มีการพัฒนาที่ดีขึ้นโดยจะมีการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายและมีการปรับสัดส่วนสินทรัพย์ตลอดเวลา ทำให้พอร์ตโฟลิโอที่สร้างขึ้นนี้ต้องการการดูแลหรือปรับปรุงต่อเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดย ณ สิ้นปี 2023 นี้ Target-date funds มีมูลค่าสินทรัพย์รวมกว่า 3.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

ปัญหาของความหลากหลายในกองทุน

ในขณะที่ภาพอุตสาหกรรมกองทุนมีแนวโน้มต้นทุนที่ลดลงและเข้าถึงได้ง่ายขึ้นนั้น แต่ก็มีทางเลือกการลงทุนบางส่วนที่เพิ่มขึ้นและมีความเสี่ยงต่อผู้ลงทุน ทั้งนี้มีกองทุนที่เกิดขึ้นใหม่จำนวนมากเพื่อตอบสนองให้เข้ากับยุคสมัยในปัจจุบัน เช่น Government guaranteed funds, Option-income offerings, Market-timing vehicles, Short-term multimarket funds และ Gimmicky funds เป็นต้น อย่างไรก็ดีจากข้อมูลที่มีพบว่าจำนวนกองทุนที่เกิดใหม่มีมากขึ้นในปัจจุบันและยังมีมูลค่าการลงทุนจริงไม่มาก เช่น มี Digital asset funds, Energy limited-partnership funds, Inverse trading funds, Leveraged trading funds, Thematic funds ซึ่งล้วนแต่เป็นการลงทุนเพื่อเก็งกำไรเท่านั้น ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายมากกว่าการสร้างความมั่งคั่ง

ภาพรวมอุตสาหกรรมกองทุนยังพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น

อย่างไรก็ดีแม้จะมีหลายๆกองทุนที่มีความเสี่ยงสูงเกิดขึ้นมากมาย แต่นักลงทุนส่วนใหญ่ก็มีประสบการณ์การลงทุนที่ดีขึ้นมากจากอดีตที่ผ่านมา ทั้งค่าใช้จ่ายที่ลดลง ผลตอบแทนที่มากขึ้น ขั้นตอนการซื้อขายที่สะดวก การเข้าถึงข้อมูลและความโปร่งใสที่เพิ่มขึ้น รวมไปถึงการมีกองทุนที่ดีอย่างเช่นกลุ่ม Index funds และ Target-date funds เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเราเชื่อว่าในอนาคตภาพอุตสาหกรรมก็น่าจะมีการพัฒนาไปในแนวทางที่ดีขึ้นได้เรื่อยๆต่อจากนี้ไป

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar  Morningstar