รูปแบบการลงทุนในหลักทรัพย์นอกตลาดหรือ Private equity ปกติจะเป็นการลงทุนในหลักทรัพย์ที่ไม่ได้ซื้อขายอยู่ในกระดานและไม่ได้อยู่ภายใต้กฏเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ โดยเป็นการใส่เงินลงทุนในธุรกิจภายในช่วงเวลาหนึ่งที่กำหนดและคาดหวังผลตอบแทนที่สูงจากกระแสเงินสดในอนาคต (ซึ่งไม่ได้เป็นการรับรองที่แน่นอนว่าจะได้รับ) ส่วนการลงทุนในธุรกิจตั้งแต่เริ่มก่อตั้งกิจการหรือ Venture capital นั้น แม้จะให้ผลตอบแทนที่สูงแต่ความเสี่ยงก็สูงมากเช่นกัน ขณะที่ Private equity จะเป็นการลงทุนในธุรกิจช่วงที่มีการเติบโตขึ้นมาระดับหนึ่งแล้วและเตรียมเข้าสู่ตลาดหุ้นเพื่อ IPO ซึ่งทำให้มีผลตอบแทนที่น่าสนใจมากขึ้น ส่วน Private credit คือการที่นักลงทุนให้เงินกู้ยืมโดยตรงแก่ธุรกิจโดยไม่ผ่านตลาดการเงิน ทั้งนี้ Private investments ยังรวมถึงการลงทุนโดยตรงในอสังหาริมทรัพย์และสินทรัพย์อื่นๆอีกด้วย
ภายใต้รูปแบบการลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาดเหล่านี้ทำให้เป็นการลงทุนที่มีสภาพคล่องต่ำ เนื่องจากปกติจะมีการตกลงระยะเวลาในการเข้าลงทุนซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อาจยังไม่มีผลตอบแทนคืนแก่ผู้ลงทุน นอกจากนี้การลงทุนยังจำกัดแก่ผู้ลงทุนเฉพาะกลุ่มไม่สามารถมีผู้ลงทุนใหม่ๆเข้ามาได้ง่ายเนื่องจากเงินลงทุนขั้นต่ำสูงและค่าธรรมเนียมสูงเมื่อเทียบกับการลงทุนหลักทรัพย์ในตลาด และสุดท้ายการลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาดยังยากในการชี้วัดผลตอบแทนและการรายงานผลเพราะปกติจะประเมินการลงทุนโดยใช้อัตราผลตอบแทนภายในหรือ IRR ในการชี้วัด ซึ่งเป็นการประเมินผลตอบแทนจากการลงทุนที่คำนึงถึงระยะเวลาในการลงทุนและยังเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีสภาพคล่อง อีกทั้งการคำนวณ IRR ยังอาจถูกเปลี่ยนแปลงจากผู้ประเมินได้ง่ายอีกด้วย ซึ่งต่างจากการคำนวณผลตอบแทนของสินทรัพย์ที่ซื้อขายในตลาดที่คำนวณผลตอบแทนจากการลงทุนได้โดยเทียบจากราคาปิดสิ้นวันซึ่งเปิดเผยชัดเจนรายวัน (Mark to market)
ผลตอบแทนจากการลงทุนใน Private investments
ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2020 ซึ่งเป็นยุคโควิดนั้น ผลตอบแทนของ Morningstar US Market Index ติดลบถึง 20.6% แต่ผลตอบแทนของกลุ่ม Venture capital และ Private equity นั้นยังไม่แย่เท่าไหร่อันเนื่องมาจากการที่เป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีสภาพคล่องและยังเป็นการวัดผลตอบแทนที่ไม่ได้เป็นปัจจุบันมากทำให้ไม่อาจสะท้อนภาพของตลาดการลงทุนหรือสภาวะในปัจจุบันของตลาดได้ ต่อมาหลังจากนั้นผลตอบแทนของสินทรัพย์นอกตลาดก็ยังเพิ่มขึ้นในปี 2021 ซึ่งเป็นช่วงที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำอย่างมาก ก่อนที่จะมีผลตอบแทนที่ลดลงในช่วงปี 2022 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นเพราะอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ และวิกฤตธนาคารในช่วงต้นปี 2023 ทำให้เป็นอุปสรรคต่อกิจกรรมการลงทุนของภาคเอกชน
อัตราการเติบโตที่อ่อนแอและอัตราดอกเบี้ยที่สูงทำให้ผลตอบแทนของการลงทุนใน Private equity นั้นลดลงในปี 2022-2023 เนื่องมาจากต้นทุนเงินทุนที่สูงขึ้น การมีหนี้ที่เพิ่มขึ้น และความไม่แน่นอนของตลาด ทำให้กิจกรรมการลงทุนเหล่านี้ชะลอออกไป
อย่างไรก็ดี วิกฤตธนาคารในภูมิภาคทําให้ธนาคารพาณิชย์ไม่เต็มใจที่จะปล่อยกู้ในสภาพแวดล้อมที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง จึงเป็นโอกาสทําให้เปิดการลงทุนผ่าน Private debt มากขึ้นและมีผลตอบแทนที่ดีด้วย เนื่องจากยังมีความต้องการกู้ยืมเงินที่สูงในระบบ
หากดูค่าความสัมพันธ์ย้อนหลัง 3 ปีระหว่าง Private investment sectors กับ Morningstar US Market Index จะพบว่ามีความแตกต่างและเปลี่ยนแปลงตลอดในช่วงเวลาที่กำหนด
ทั้งนี้ในกลุ่มของ Private investments พบว่าการลงทุนใน Venture capital และ Private equity มีความสัมพันธ์กับตลาดหุ้นมากกว่ากลุ่ม Private credit ส่วนกลุ่มการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์มีความสัมพันธ์กับตลาดหุ้นน้อยที่สุด ซึ่งหากเทียบค่าเฉลี่ยระยะยาว 3 ปีพบว่าค่าความสัมพันธ์ของ Private equity กับตลาดหุ้นอยู่ที่เฉลี่ย 0.73 (หรืออยู่ในช่วง 0.94 -0.15)
แนวทางการบริหารจัดการพอร์ตการลงทุนของ Private investments
รูปแบบกระแสเงินของการลงทุนใน Private investments โดยปกติจะต่างกับการลงทุนในสินทรัพย์ในตลาดการเงินซึ่งมักจะถูกกำหนดราคาซึ่งสะท้อนจากภาวะตลาดในช่วงนั้น ทำให้การลงทุนในสินทรัพย์ที่ซื้อขายในตลาดการเงินนั้นสามารถช่วยกระจายความเสี่ยงจากการลงทุนได้ ขณะที่การลงทุนของ Private investments จะมีความเสี่ยงเฉพาะตัวที่ขึ้นอยู่กับสินทรัพย์อ้างอิงที่ไปลงทุน อย่างเช่นการลงทุนของ Venture capital และ Private equity เป็นการลงทุนที่ต้องใช้เงินลงทุนที่สูงและเป็นโครงสร้างการลงทุนผ่านในส่วนของผู้ถือหุ้น ระยะเวลาลงทุนยาวนาน สำหรับผลตอบแทนจากจากการลงทุนใน Private investments มักจะช้ากว่าที่คาดการณ์และยังต้องใช้เงินลงทุนสูง มีโอกาสล้มเหลวได้หากผู้บริหารกิจการไม่มีความสามารถพอทำให้เป็นสิ่งที่นักลงทุนรายย่อยต้องระวัง ขณะที่ผู้ลงทุนสถาบันนั้นมีระยะเวลาลงทุนที่ได้ยาวนานกว่าและยังสามารถระดมทุนเพิ่มเติมได้ง่ายกว่านักลงทุนรายย่อย การลงทุนใน Private investments จึงเป็นที่น่าสนใจและเหมาะสมกับนักลงทุนสถาบันมากกว่า ดังนั้นนักลงทุนรายย่อยจึงเหมาะสมที่จะไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงกว่าและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของทางการ