กองทุนรวมยั่งยืนในประเทศไทย มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิในไตรมาส 1 ที่ 5.7 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นกองทุนที่ลงทุนในไทยทั้งสิ้น 54 กอง และลงทุนในต่างประเทศอีก 94 กอง มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่ 9 พันล้านบาท และ 4.8 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ
กองทุนกลุ่ม Global Equity ยังคงเป็นกลุ่มกองทุนยั่งยืนขนาดใหญ่ที่สุด โดยมีผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 5.4% ด้วยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 3.2 หมื่นล้านบาท กองทุนส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้นั้น มีการลงทุนแบบ ESG ทั่วไป (General ESG Investment) โดยมีกองทุน United Equity Sustainable Global ให้ผลตอบแทนสูงสุดในไตรมาสแรก ที่ 11%, ตามด้วย Bualuang Sustainable Investing Port RMF ที่ 9.6% และทั้งสองกองนี้ยังได้ Morningstar Sustainability Rating ระดับ 5 ลูกโลกอีกด้วย
ถัดมาเป็นกลุ่ม Alternative Energy Equity มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 7.7 พันล้านบาท ซึ่งเป็นธีมการลงทุนด้าน ESG ที่เน้นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Action) โดยมีผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ -7.8%
ทั้งนี้กองทุนยั่งยืนที่สร้างผลตอบแทนอย่างโดดเด่นในไตรมาส 1 ได้แก่ กองทุนหุ้นญี่ปุ่น abrdn Japanese Sustainable Equity และกองทุนหุ้นยุโรป abrdn European Sustainable Equity ซึ่งสร้างผลตอบแทนสูงถึง 17.24% และ 14.37% ตามลำดับ
กองทุน TESG
ในปี 2023 กองทุนในประเทศไทยได้ริเริ่มให้มีการจัดตั้งกองทุนประหยัดภาษีรูปแบบใหม่ที่เน้นการลงทุนในหุ้นยั่งยืน หรือที่เรียกกันว่า TESG ปัจจุบันมีการออกกองทุน TESG แล้วทั้งสิ้น 30 กอง โดยสิ้นไตรมาสหนึ่ง คิดเป็นมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ที่ 6.6 พันล้านบาท มีผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ -2.43% (ผลตอบแทนเฉลี่ย SET TR อยู่ที่ -1.62 %) โดยมีเพียง 3 กองทุนเท่านั้น ที่สามารถเอาชนะ SET TR index ได้ คือ Bualuang Top-Ten Thailand ESG +1.54% ซึ่งเป็นกองทุนหุ้นไทยกองเดียวที่ยังสามารถให้ผลตอบแทนในแดนบวกอยู่ ตามด้วย Krungthai ESG A Grade 70/30- ThaiESG และ Asset Plus Equity Thailand ESG ซึ่งให้ผลตอบแทนติดลบที่ -1.30% และ - 1.48% ตามลำดับ