กองทุนเพื่อความยั่งยืนในสหรัฐ

กองทุนเพื่อความยั่งยืนในสหรัฐมีเงินไหลออกเป็นครั้งแรกในปี 2023  

Morningstar 28/01/2567
Facebook Twitter LinkedIn

ในปีที่แล้วเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปีที่เงินลงทุนไหลออกจากกองทุนประเภทเพื่อความยั่งยืนหรือ Sustainable funds ในสหรัฐ โดยเฉพาะในไตรมาสสุดท้ายของปีที่มีเงินไหลออกสุทธิ 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ปีที่แล้วรวมมีเงินไหลออกรวม 13,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

ผลตอบแทนของกองทุน ESG

ในปี 2023 ผลตอบแทนโดยรวมของกอง ESG ออกมาต่ำกว่ากองทุนประเภทอื่นๆ โดยSustainable large-blend equity fund ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 20.8% ขณะที่ผลตอบแทนของกองทุนโดยรวมทั้งหมดทั้งที่เป็นกองทุน ESG และกองทั่วไปอยู่ที่ 23.9% และผลตอบแทนของ Morningstar US Large-Mid Cap Index อยู่ที่ 26.9% โดยมีปัจจัยกดดันทั้งจากภาพเศรษฐกิจ ภาวะอัตราดอกเบี้ยที่สูง และปัญหา Supply chain disruption นอกจากนี้ยังมีความกังวลต่อปัญหา Greenwashing และประเด็นทางการเมืองต่อ ESG ในสหรัฐ ยิ่งทำให้ความต้องการลงทุนในกองทุนยั่งยืนลดลงไปด้วย

U.S. Flows: Sustainable Funds vs. All Funds

1

ในขณะที่ Sustainable fund มีเงินไหลออกในปีที่แล้วประมาณ 1.7% ของมูลค่าสินทรัพย์ และไหลออกต่อเนื่องรวม 5 ไตรมาส แต่สถานะโดยรวมของกองทุนแบบระยะยาวในสหรัฐรวมไปถึง ETFs กลับมีเงินไหลเข้ารวมสุทธิกว่า 40,000 ล้านเหรียญสหรัฐหรือ 0.2% ของมูลค่าสินทรัพย์  และทำให้มีมูลค่ารวมในสินทรัพย์ของอุตสาหกรรมกองทุนอยู่ที่ 26 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

iShares fund

ในปีที่แล้วเม็ดเงินไหลออกสุทธิจาก iShares ESG Aware MSCI USA ETF กว่า 9,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยกว่า 2 ใน 3 ของเม็ดเงินไหลออกในช่วงไตรมาสแรกของปี 2023 ซึ่งสอดคล้องกันกับที่ในช่วงดังกล่าวที่ BlackRock ได้ทำการเปลี่ยนกลยุทธ์โมเดลการลงทุนจาก iShares ESG Aware MSCI USA ETF  เป็น iShares MSCI USA Quality Factor ETF แทนนั่นเอง ซึ่งหากไม่รวมผลกระทบของเหตุการณ์นี้กอง Sustainable fund น่าจะยังมีเงินไหลเข้ากว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปีที่แล้ว

U.S. Sustainable Fund Flows

1

สำหรับรายไตรมาสที่ผ่านมาพบว่าเม็ดเงินไหลออกจากกอง Parnassus Core Equity และ Parnassus Mid Cap มากที่สุด ทั้งนี้ที่ผ่านมาในช่วง 2 ปี Parnassus Core Equity นับว่าติดอันดับ 1 ใน 10 ที่เป็นกองที่มีเม็ดเงินไหลออกค่อนข้างมากหรือกว่า 4,500 ล้านเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ดี Parnassus Core Equity ก็ยังเป็นกอง ESG ที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐหรือมีมูลค่าสินทรัพย์กว่า 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

มูลค่าสินทรัพย์กองทุน ESG ยังคงเพิ่มขึ้นตามมูลค่าตลาดที่เพิ่มขึ้น

U.S. Sustainable Fund Assets

1

ในปี 2023 มูลค่าสินทรัพย์ในกอง ESG ยังคงเพิ่มขึ้นเป็น 323,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 18% จากระดับต่ำสุดในไตรมาส 3 ปี 2022 แต่ลดลง 12% จากช่วงที่กอง ESG เคยมีมูลค่าสูงสุดในปี 2021ทั้งนี้ โดยเปรียบเทียบมูลค่ากองทุนโดยรวมในสหรัฐก็ปรับลดลงจากช่วงที่มีมูลค่าสูงสุดในปี 2021 ลงมาประมาณ 5%ในช่วงสิ้นปี 2023 เช่นกัน

กองทุนยั่งยืนมีจำนวนลดลงต่อเนื่อง

ในไตรมาส 4 ที่ผ่านมามีกองทุน ESG เปิดใหม่ 7 กองทุน และมีกองทุนเดิมที่เพิ่มเป็นกอง ESG อีก 1 กองทุน ขณะเดียวกันมีกอง ESG ปิดตัวลง 16 กองทุนในไตรมาสดังกล่าวเช่นกัน ทั้งนี้กองทุนเปิดใหม่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ได้แก่ กอง Vontobel Global Environmental Change ขนาดกองทุนอยู่ที่ 11.5 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเน้นลงทุนในบริษัทอย่างเช่น Clean energy infrastructure, Clean water เป็นต้น

U.S. Sustainable Funds: New Arrivals and Departures

1

ผลตอบแทนกอง ESG ในปี 2023

ผลตอบแทนของกอง ESG ในปี 2023 ดีขึ้นจากปีก่อนหน้า โดยกลุ่มตราสารหนี้มีผลตอบแทนที่ดีพอๆกับกองทั่วไป ส่วนกองตราสารทุนทำได้ดีน้อยกว่ากองปกติทั่วไป ซึ่งหากเปรียบเทียบความเสี่ยงและผลตอบแทนที่ได้รับพบว่าประมาณ 53% ของจำนวนกองทุน ESG  ให้ผลตอบแทนอยู่ใน 2 อันดับสุดท้ายของ Quartile

Sustainable Funds' 2023 Return Rank by Morningstar Category Quartile

1

กองทุนตราสารทุนให้ผลตอบแทนได้น้อยที่สุดในปีที่ผ่านมา โดย 32% ของกองทุนตราสารทุนแบบยั่งยืนมีผลตอบแทนอยู่ใน Quartile สุดท้าย โดยกลุ่มกองทุน ESG ชนิด Large-blend equity funds มีค่ากลางของผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 20.8% น้อยกว่าผลตอบแทนรวมของกองทั่วไป (ทั้งกองปกติและกอง ESG) ที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 23.9% และน้อยกว่าผลตอบแทนของ Morningstar US Large-Mid Cap Index  ปีที่แล้วที่ 26.9%

 

 

 

 

 

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar  Morningstar