กองทุน SSF และกองทุน SSFX
เงินไหลเข้าสุทธิต่ำกว่าปีที่แล้วเล็กน้อย
กองทุนเพื่อการออมมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.8% จากสิ้นปี 2022 โดยในไตรมาสแรกนี้มีเงินไหลเข้าสุทธิ 1.1 พันล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเล็กน้อยที่ 1.3 พันล้านบาท
กองทุนกลุ่ม Equity Large-Cap มีมูลค่าการลงทุนแบบกองทุนเพื่อการออม 1.5 หมื่นล้านบาท มีเงินไหลเข้าสุทธิสูงสุดในไตรมาสแรกเกือบ 3 ร้อยล้านบาท แต่มูลค่าทรัพย์สินสุทธิลดลงจากสิ้นปีที่แล้ว 2.8% เนื่องจากมีผลตอบแทนเฉลี่ย -3.8% กองทุนที่ได้รับความนิยมนั้นส่วนใหญ่มาจากบลจ.รายใหญ่เช่น บลจ.ไทยพาณิชย์, บลจ.กรุงศรี และบลจ.บัวหลวง โดยมีเงินไหลเข้าในกองทุนของบลจ. 3 แห่งนี้ราว 2 ร้อยล้านบาท
กลุ่ม Global Equity มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.3% เป็นผลจากผลตอบแทนเฉลี่ยเป็นบวกและเงินไหลเข้าสุทธิ ไตรมาสแรกนี้ทุกกองทุนในกลุ่มนี้มีผลตอบแทนเป็นบวก หรือเฉลี่ยที่ 6.2% นำโดย Principal Global Opportunity SSF 17.0% (PRINCIPAL GOPP-SSF) ONE Ultimate Global Growth ASSF (ONE-UGG-ASSF) 14.4% และ Krungsri Global Growth SSF (KFGGSSF) 13.7%
กองทุน LTF – เงินไหลออกสุทธิ 1.0 หมื่นล้านบาท
กองทุน LTF มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่ 3.0 แสนล้านบาท ลดลง 8.5% จากไตรมาสก่อนหน้า โดยในปีนี้เงินลงทุนในรอบปี 2017 จะสามารถไถ่ถอนได้ตามเงื่อนไขถือครอง 7 ปีปฏิทิน ทำให้มีเงินไหลออกต้นปีสูงระดับ 1 หมื่นล้านบาท แต่ยังต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่มูลค่า 1.6 หมื่นล้านบาท อันอาจมีสาเหตุจากตลาดหุ้นไทยมีผลตอบแทนเป็นลบ (SET TR -2.7%)
กองทุน RMF – มูลค่าทรัพย์สินสุทธิลดลง 1.0%
กองทุน RMF มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 4.1 แสนล้านบาท ลดลง 1.0% จากไตรมาสก่อนหน้า โดยประเภทการลงทุนหลักอย่างกองทุนตราสารทุนมีการหดตัวลงเล็กน้อยหรือ -0.3% ในไตรมาสแรกที่ผ่านมานี้มีเงินไหลเข้าสุทธิกว่า 4 ร้อยล้านบาท ในขณะที่ช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเป็นเงินไหลออกสุทธิ 1.6 พันล้านบาท
เงินไหลเข้ากองทุนหุ้นในประเทศและต่างประเทศ
จากมูลค่าเงินไหลเข้าสุทธิกว่า 4 ร้อยล้านบาท เป็นเงินไหลเข้าสุทธิกองทุนตราสารทุนเกือบ 2 พันล้านบาท โดยมูลค่า 1.0 พันล้านบาท หรือราวครึ่งหนึ่งเป็นเงินไหลเข้ากองทุนหุ้นจีน ในขณะที่กองทุนประเภทอื่นเป็นเงินไหลออกสุทธิ โดยไหลออกสุทธิสูงสุดจากกลุ่มกองทุนตราสารหนี้ 1.0 พันล้านบาท