เรามาทำความรู้จักกองทุนนี้ให้มากขึ้นผ่านบทสัมภาษณ์กันเลยค่ะ
ท่านมีการวางกลยุทธ์การลงทุนอย่างไรท่ามกลางภาวะตลาดผันผวน ที่ส่งผลต่อความสำเร็จในปีที่ผ่านมา
ในปี 2565 ที่ผ่านมา ตลาดตราสารหนี้ทั่วโลกมีความผันผวนสูงและเผชิญกับแรงเทขายอย่างหนักโดยตลอดทั้งปี เราจึงวางกลยุทธ์การลงทุนให้สอดคล้องกับมุมมองหลักที่มีต่อตลาดตราสารหนี้ในระดับค่อนข้างแย่ (Slightly Bearish) และเน้นปรับกลยุทธ์ด้านอายุคงเหลือเฉลี่ยของกองทุนให้สอดคล้องกับสภาพตลาดอย่างสม่ำเสมอ โดยมีการเข้าลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาวเพื่อแสวงหากำไรส่วนเพิ่มในระยะสั้นเป็นรอบ ๆ ตามความผันผวนของตลาดที่มีเข้ามา นอกจากนี้กองทุนยังเน้นลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนในสัดส่วนค่อนข้างสูงกว่าสภาวะปกติ โดยคัดเลือกตราสารหนี้ภาคเอกชนคุณภาพดีที่มีฐานะการเงินที่แข็งแกร่งเข้ามาในพอร์ตการลงทุนเพิ่มเติม เพื่อสร้างอัตราผลตอบแทนให้กับกองทุนในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยยังอยู่ในระดับต่ำและเพิ่งเริ่มเข้าสู่ช่วงวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวสามารถช่วยลดความผันผวนของกองทุนลงได้บ้าง
ท่านคิดว่าอะไรคือจุดแข็งของทีมงานที่ส่งผลให้กองทุนนี้ประสบความสำเร็จ
KSAM ทำงานโดยใช้แนวทางการทำงานเป็นทีมในการบริหารจัดการกองทุนเพื่อดึงศักยภาพสูงสุดของสมาชิกทุกคนในทีม
จากความเชื่อหลักที่ว่าตลาดในประเทศไทยไม่ได้มีประสิทธิภาพทั้งหมด รูปแบบ “การจัดการเชิงรุก” ของเราจึงเป็นจุดแข็งที่สำคัญในการสร้างผลตอบแทนที่เหนือกว่าเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ผู้จัดการกองทุนต้องทำความคุ้นเคยกับทุกแง่มุมโดยภาพรวมและรวมถึงรายละเอียดของบริษัทที่เราลงทุน โดยเรามีตารางการเยี่ยมชมบริษัทที่เข้มงวดเพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการววิเคราะห์แบบ “bottom-up” ซึ่งสิ่งนี้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าสามารถช่วยลดความเสี่ยงด้านเครดิตในช่วงที่เกิดวิกฤติ Covid-19 หรือสถานการณ์ต่างๆที่นอกเหนือความควบคุม
นอกจากนี้ เรายังมีการใช้วิธีการแบบ “top-down” ในกระบวนการที่สมาชิกทุกคนในทีมตราสารหนี้ร่วมกันระบุปัจจัยขับเคลื่อนหลักและความเสี่ยงในตลาดตราสารหนี้ ทั้งในเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ ทำให้เกิดความคิดเห็นที่หลากหลายมากขึ้นและการถกเถียงกันอย่างเข้มงวด ซึ่งนำไปสู่ข้อสรุปที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
โดยคณะกรรมการการลงทุนใช้วิธีการดังกล่าวในการกำหนดทิศทางการลงทุนในช่วง 3-12 เดือนข้างหน้าเพื่อพัฒนากลยุทธ์หลักที่เป็นต้นแบบให้กับทุกพอร์ตการลงทุน นอกจากนี้เรายังใช้กลยุทธ์การจัดการ duration และ yield curve แบบเชิงรุกเพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่ดีที่สุดที่เป็นไปได้ในแต่ละสภาวะตลาด ทั้งหมดนี้ทำให้เราสามารถลดการซื้อขาย/ธุรกรรมที่ไม่จำเป็น และได้ผลตอบแทนที่เหนือกว่าเกณฑ์มาตรฐานและคู่แข่ง
ท่านมีมุมมองต่ออัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันและการปรับอัตราดอกเบี้ยในปีนี้อย่างไร และจะส่งผลต่อการลงทุนของกองทุนอย่างไรบ้าง
มุมมองตลาดตราสารหนี้ในปี 2566 ยังคงเป็นปีที่ท้าทายและมีความผันผวนมากอีกปีหนึ่งสำหรับการสร้างอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้ในช่วงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยเป็นขาขึ้นต่อเนื่อง และอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับขอบบนของเงินเฟ้อเป้าหมายที่ธปท.กำหนดไว้ที่ร้อยละ 3.00 ทำให้คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังคงทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไปสู่ระดับ 1.75%-2.25% ในปี 2566 ทั้งนี้ขึ้นกับภาพรวมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยจากภาคการท่องเที่ยว และการบริโภคภายในประเทศ ในขณะที่ภาคการส่งออกอาจได้รับผลกระทบเชิงลบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจหลักทั่วโลก
กลยุทธ์การลงทุนของกองทุนในปีนี้จะยังคงเน้นจัดพอร์ตป้องกันผลกระทบเชิงลบจากวัฐจักรดอกเบี้ยขาขึ้นของไทยเป็นหลัก และยังคงต้องติดตามทิศทางของอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐที่จะมีความชัดเจนของระดับสูงสุดได้ในช่วงครึ่งปีหลัง ทั้งนี้กองทุนพร้อมที่จะหาโอกาสแสวงหาอัตราผลตอบแทนส่วนเพิ่มจากความผันผวนของตลาดเป็นระยะ
ท่านมีแนวทางในการพัฒนาจุดแข็งของทีมงานหรือกระบวนการคัดเลือกตราสารลงทุนให้ดียิ่งขึ้นอย่างไรในอนาคต
เนื่องจากเราเล็งเห็นทิศทางความผันผวนของกระแสเงินทุนเข้า-ออกจากนักลงทุนต่างชาติซึ่งมีบทบาทต่อตลาดตราสารหนี้ไทยมากขึ้นตามลำดับ และสอดคล้องกับการเปลี่ยนผ่านของวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำพิเศษในช่วงที่ผ่านมา เข้าสู่ช่วงอัตราดอกเบี้ยคงอยู่ในระดับสูง ทางทีมจะส่งเสริมให้ทีมงานได้พัฒนาทักษะความรู้เกี่ยวกับแนวทางการคิดกลยุทธ์การลงทุนในมุมมองของผู้จัดการกองทุนระดับโลกผ่านการฝึกอบรมสัมมนาทั้ง Online และ Onsite จากต่างประเทศ เพื่อให้นำมาปรับใช้และเพิ่มศักยภาพในการกำหนดกลยุทธ์กองทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนให้เพิ่มยิ่งขึ้นไปอีก
ท่านมีคำแนะนำอย่างไรบ้างสำหรับนักลงทุนที่สนใจกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพประเภทตราสารหนี้
นับตั้งแต่เกิดวิกฤติ COVID-19 ที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลากว่า 3 ปีที่นักลงทุนได้เห็นความผันผวนของอัตราผลตอบแทนของกองทุนตราสารหนี้ที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรง โดยในช่วงระยะเวลาดังกล่าวได้พิสูจน์ให้เห็นว่าการลงทุนระยะยาวในกองทุนรวมตราสารหนี้เพื่อการเลี้ยงชีพนั้นยังคงสามารถสร้างผลตอบแทนในภาพรวมได้อยู่ในระดับที่ดีภายใต้ความเสี่ยงที่ไม่สูงมากนัก โดยที่นักลงทุนไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำการซื้อ-ขายบ่อยครั้ง ดังนั้นหากเราคัดเลือกกองทุนที่เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่รับได้และถือครองในช่วงเวลาที่นานพอจะเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนเพื่อรองรับการเกษียณอายุได้อย่างเหมาะสมในที่สุด