เรามาทำความรู้จักกองทุนนี้ให้มากขึ้นผ่านบทสัมภาษณ์กันเลยค่ะ
ท่านมีการวางกลยุทธ์การลงทุนอย่างไรท่ามกลางภาวะตลาดผันผวน ที่ส่งผลต่อความสำเร็จในปีที่ผ่านมา
ในปี 2022 ซึ่งเป็นปีที่ท้าทายสำหรับการลงทุนในตลาดโลก ตลาดหุ้นในอาเซียนถือเป็นตลาดที่แข็งแกร่งและสามารถทนทานต่อปัจจัยลบต่างๆ ได้ดีกว่าตลาดในภูมิภาคอื่นๆ เนื่องจากเป็นกลุ่มประเทศที่เพิ่งได้ประโยชน์จากการทยอยเปิดประเทศในปี 2022 ในขณะที่ตัวเลขเงินทุนสำรองระหว่างประเทศช่วงต้นปีอยู่ที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และสัดส่วนการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นอยู่ที่ระดับต่ำสุดในประวัติการณ์
ในช่วงก่อนปี 2022 เราได้จัดพอร์ทการลงทุนเพื่อตั้งรับกับการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่น่าจะเป็นไปอย่างรวดเร็วเพราะเราเชื่อว่าเฟด Behind the curve และเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพียงชั่วคราว พอร์ทลงทุนของเราจึง Overweight กลุ่มธนาคารและประกัน ซึ่งจะได้ประโยชน์ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น และลงทุนในกลุ่มธนาคารในสิงคโปร์ในสัดส่วนที่สูงที่สุด เพราะจะเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์สูงสุดจากการส่งผ่านดอกเบี้ยนโยบายของเฟดที่สูงขึ้นผ่านส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (Net Interest Margin-NIM)
ในช่วงต้นปี พอร์ทการลงทุน Overweight อินโดนีเซีย เนื่องจากภาพเศรษฐกิจกำลังดีขึ้น เพราะเราเชื่อว่าอินโดนีเซียจะเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้ประโยชน์สูงสุดจากเงินทุนที่ไหลออกจากประเทศจีน การส่งออกของอินโดนีเซียที่เติบโตเด่น นำโดยการส่งออกถ่านหิน หลังจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนส่งผลให้อุปทานของแก๊ซธรรมชาติลดลง นโยบายการยกเลิกการส่งออกนิกเกิลโดยรัฐบาลของโจโควีได้ส่งผลให้ผู้ผลิตเหล็กในจีนได้เข้ามาตั้งฐานการผลิตในอินโดนีเซียเพื่อแปรรูปนิกเกิลและส่งออกเหล็กกลับไปยังประเทศจีน ซึ่งนโยบายนี้ได้ส่งผลบวกต่อการส่งออกของอินโดนีเซียและ เม็ดเงินลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) ซึ่งช่วยทำให้ค่าเงินรูเปียห์ของอินโดนีเซียมีเสถียรภาพ ในขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดได้พลิกมาเป็นบวก
ในช่วงครึ่งปีหลังของ 2022 เราลดน้ำหนักการลงทุนในอินโดนีเซีย หลังจากที่ตลาดอินโดนีเซีย Outperform ในขณะเดียวกัน เรามีความกังวลเกี่ยวกับทิศทางเงินทุนจากประเทศจีนที่อาจจะไหลกลับประกอบกับความเสี่ยงที่ราคาถ่านหินจะปรับลดลง เราได้ลดน้ำหนักการลงทุนในกลุ่มธนาคารสิงคโปร์เป็น Neutral หลังจากที่กลุ่มนี้ได้ Outperform ตลาดมา 2 ปี และเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในฟิลิปปินส์มากขึ้นเพราะเป็นตลาดที่ Underperform ที่สุดในอาเซียน และเชื่อว่า เงินเฟ้อที่สูงและการขึ้นดอกเบี้ยที่ผ่านมาได้สะท้อนไปในราคาหุ้นแล้ว โดยเราเพิ่มน้ำหนักการลงทุนหุ้นธนาคารในฟิลิปปินส์ เนื่องจากเราเห็นถึงคุณภาพสินทรัพย์ที่ดี ในขณะที่กำไรและ NIM มีการเติบโตอย่างเป็นนัยสำคัญ
ท่านคิดว่ากองทุนของท่านมีความโดดเด่นและแตกต่างจากกองทุนหุ้นอาเซียนกองอื่นอย่างไร
กองทุนของเราใช้ทั้งวิธีผสมผสานทั้ง Top-down และ Bottom-up ในการเลือกหุ้น โดยผู้จัดการกองทุนใช้มุมมองต่อภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศต่างๆ ในภูมิภาค รวมทั้งแนวโน้มธีมการลงทุนที่มีโอกาสเติบโตได้ เพื่อกำหนดน้ำหนักการลงทุนในแต่ละประเทศ ในขณะที่ นักวิเคราะห์ช่วยทำการวิเคราะห์เชิงลึกสำหรับหุ้นรายตัวเพื่อเป็นส่วนช่วยในเลือกหุ้นที่จะลงทุน
กองทุนของเราเน้นลงทุนในหุ้นของบริษัทที่มีคุณภาพของธุรกิจดี และมีพื้นฐานแข็งแกร่งสำหรับการลงทุนระยะยาว ซึ่งธุรกิจเหล่านี้จะสามารถทนทานต่อปัจจัยลบต่างๆที่เข้ามา และสร้างความผันผวนกับตลาด ซึ่งเห็นได้จาก กองทุนของเราจะมีความผันผวนค่อนข้างต่ำ และแม้ในช่วงที่ตลาดไม่ดี การลดลงของมูลค่าเงินลงทุนของกองเรานั้น ถือว่าน้อยกว่าเมื่อเทียบกองทุนหุ้น ASEAN กองอื่นๆ
เมื่อเลือกหุ้นที่จะลงทุนได้แล้ว กองทุนของเราจะใส่น้ำหนักกับหุ้นแต่ละตัวค่อนข้างมาก โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับการต้องอิงกับน้ำหนักใน Benchmark มากนัก โดยน้ำหนักการลงทุนของหุ้นในประเทศหนึ่งๆ อาจจะแตกต่างจากน้ำหนักตาม Benchmark ได้มากถึง 10% และสามารถถือครองเงินสดได้สูงในบางช่วงที่ต้องการลดความเสี่ยง ผู้จัดการกองทุนของกองนี้ทำหน้าที่บริหารมาตั้งแต่กองเริ่มก่อตั้งในปี 2018 ซึ่งทำให้สไตล์การลงทุนของกองนี้จะยังคงเหมือนเดิมต่อไปในอนาคต
ท่านมีความเห็นอย่างไรต่อแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ปรับขึ้น อัตราเงินเฟ้อ และจะกระทบต่อการลงทุนในตลาดหุ้นอาเซียนในปีนี้อย่างไร
เรามองว่าอัตราดอกเบี้ยใกล้ถึงจุดสูงสุด แต่ความเสี่ยงอยู่ที่ตัวเลขการจ้างงานที่แข็งแกร่งและอัตราเงินเฟ้อที่ยังค้างอยู่ในระดับสูง เราเชื่อว่า ท้ายที่สุดอัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวลดลงแต่จะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป
ตลาดหุ้นอาเซียนได้เผชิญกับความท้าทายในปี 2022 โดยที่ธนาคารกลางต้องมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อกดอัตราเงินเฟ้อและเพื่อรักษาส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยนนโยบายเมื่อเทียบกับเฟด
ในปี 2023 ที่เฟดใกล้เริ่มชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อเริ่มที่จะปรับตัวลง เรามองว่า วัฎจักรดอกเบี้ยขาขึ้นของกลุ่มประเทศอาเซียนก็น่าจะใกล้จบลงเช่นเดียวกัน
นอกจากปัจจัยด้านอัตราดอกเบี้ยแล้ว ท่านมองว่าปัจจัยอื่น เช่น สถานการณ์เศรษฐกิจทั่วโลก, geopolitical risk จะส่งผลต่อการลงทุนต่อกองทุนนี้อย่างไรบ้าง
การชะลอลงของเศรษฐกิจสหรัฐและประเทศต่างๆในโลก สามารถส่งผลลบต่อประเทศต่างๆในกลุ่มอาเซียนโดยเฉพาะสิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย รวมไปถึงเวียดนาม ซึ่งมีการพึ่งพาการส่งออกสูง เมื่อเทียบกับอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ที่พึ่งพาการบริโภคในประเทศเป็นหลัก
ความเสี่ยงด้านการเมืองระหว่างประเทศได้เพิ่มบทบาทสำคัญต่อการลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียน สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนได้ส่งผลให้หลายประเทศทั่วโลกได้มีการกระจายฐานการผลิตของตนเองออกจากประเทศจีนไปยังประเทศอื่นในกลุ่มอาเซียน เนื่องจากอาเซียนเป็นฐานการผลิตที่มีความโดดเด่นเนื่องจากมีฐานแรงงานที่ใหญ่ อัตราค่าแรงที่ยังไม่สูง และระบบสาธารณูปโภคที่ดี ในขณะเดียวกันความเป็นกลางทางการเมืองของกลุ่มอาเซียนส่งผลให้ทั้งกลุ่มมีความเสี่ยงด้านการเมืองระหว่างประเทศที่ต่ำเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น
ปัจจัยอื่นที่มีผลต่อการลงทุนตลาดอาเซียน คือ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ และราคาน้ำมัน โดยปัจจัยที่มีผลต่อค่าเงินดอลลาร์ ได้แก่ การใกล้สิ้นสุดของแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น (ที่ได้กล่าวไปข้างต้น) ที่ส่งผลให้แนวโน้มค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจะอ่อนค่าลง ซึ่งช่วงที่ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าทำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าของประเทศในภูมิภาคอาเซียนเพิ่มขึ้น จึงผลลบต่อดุลบัญชีเดินสะพัดและค่าเงินของประเทศในภูมิภาค โดยน้ำมันนั้นเป็นสินค้านำเข้าที่สำคัญ แต่เมื่อดอลลาร์อ่อนค่าประกอบกับราคาน้ำมันปรับลดลง ทำให้แรงกดดันดังกล่าวคลี่คลายลงไป
ท่านมีคำแนะนำอย่างไรบ้างสำหรับนักลงทุนที่สนใจกองทุนตราสารทุนสำหรับการลงทุนเพื่อการเกษียณ
B-ASEAN RMF เป็นกองทุนที่เหมาะแก่การลงทุนในระยะยาว เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของภูมิภาคโดยมีการเติบโตของ GDP เฉลี่ยที่ประมาณ 5% สิ่งนี้ส่งผลให้การขยายตัวของประชากรกลุ่มที่มีระดับรายได้ปานกลางเป็นไปอย่างรวดเร็วซึ่งจะช่วยกระตุ้นการบริโภคในภูมิภาค ในขณะเดียวกันภูมิภาคนี้มีประชากรในวัยหนุ่มสาวเป็นจำนวนมาก โดยเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรมีอายุต่ำกว่า 30 ปี และคาดว่าจำนวนประชากรในวัยแรงงานกำลังจะถึงจุดสูงสุดในปี 2588 เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นกับประเทศจีนเมื่อราว 3 ทศวรรษก่อนหน้า ขณะที่อัตราการเข้าถึงสินค้าและบริการหลายชนิดของภูมิภาคนี้ยังอยู่ในระดับที่ต่ำ ซึ่งถือเป็นโอกาสสำหรับการเติบโตในระยะยาวตามแนวโน้มเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ โดยการเติบโตอย่างรวดเร็วของภูมิภาคนี้จะถูกขับเคลื่อนจากเม็ดเงินลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และการปฏิรูปด้านโครงสร้าง