เรามาทำความรู้จักกองทุนนี้ให้มากขึ้นผ่านบทสัมภาษณ์กันเลยค่ะ
ท่านมีการวางกลยุทธ์การลงทุนอย่างไรท่ามกลางภาวะตลาดผันผวน ที่ส่งผลต่อความสำเร็จในปีที่ผ่านมา
ความสำเร็จของกองทุนมาจาก 3 กลยุทธ์หลัก
1. การลดอายุเฉลี่ยของตราสารที่ลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ย
ในปีที่ผ่านมาเงินเฟ้อทั่วโลกมีการปรับขึ้น จาก สงครามรัสเซีย-ยูเครน และ ปัญหาด้านห่วงโซ่อุปทานที่มีปัญหา ทำให้สินค้าขาดแคลนไม่พียงพอต่ออุปสงค์ที่ฟื้นตัวเร็วจากหลายๆประเทศได้มีการเริ่มเปิดเมืองแล้ว ส่งผลให้ธนาคารกลางทั่วโลกได้มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ โดยเฉพาะธนาคารกลางประเทศตลาดเกิดใหม่ที่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วเพื่อป้องกันเงินทุนไหลออกและป้องกันการอ่อนค่าของเงิน โดยทางทีมการลงทุนตราสารหนี้ได้มองเห็นและติดตามความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ยอย่างสม่ำเสมอ รวมถึง ติดตามนโยบาย ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ทำให้เรามีมุมมองว่าดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น โดยในปีที่ผ่านมาเราได้มีการเน้นลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอายุเฉลี่ยสั้นเพื่อรักษาระดับความผันผวนในพอร์ต เป็นการวางกลยุทธ์โดยเน้นลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น นอกจากได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยขาขึ้นอย่างจำกัดแล้วยังทำให้เรามีโอกาสในการ Reinvest ในอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นด้วย
2. การวิเคราะห์เครดิตของตราสารผ่านกระบวนการที่เข้มข้น
ในปีที่ผ่านมา เราเห็นตราสารหนี้จำนวนมากที่ให้ผลตอบแทนที่น่าดึงดูดและมีอายุของตราสารสั้น ทางทีมได้มีการลงทุนในตราสารหนี้เหล่านี้ นอกเหนือจากการอ้างอิง Credit Rating จากสำนักอื่น เรามี Model วิเคราะห์ความเสี่ยงภายใน ซึ่งเราเชื่อมั่นว่ากระบวนการวิเคราะห์เครดิตผ่าน Model ของเราจะช่วยหลีกเลี่ยงการลงทุนในตราสารที่มีโอกาสผิดนัดชำระหนี้และโอกาสที่ตราสารจะถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ เรามีการใช้ Top-down และ Bottom-up เพื่อประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของแต่ละบริษัทที่เข้าไปลงทุน เรามีการใช้ Internal Credit Scoring หรือการให้คะแนนตราสารโดยวัดจากการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ (Qualitative Analysis) และ เชิงปริมาณ (Quantitative Analysis) ผลลัพธ์ที่ได้คือกองทุน ASP-DPLUS ไม่ประสบปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ในปีที่ผ่านมาได้และได้ผลตอบแทนที่ดี รวมทั้งยังได้รับประโยชน์จากการ reinvestment ในสภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ได้ซึมซับว่าตราสารที่เราสงทุนไปนั้นมีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ต่ำกว่าที่ตลาดคาด (Credit Spread Tightening)
3. การแชร์ข้อมูลระหว่างทีมตราสารหนี้ กับทีมการลงทุนอื่นๆ
นอกจากการวิเคราะห์เครดิตที่เข้มข้นแล้ว เรายังมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับทีมการลงทุนระหว่างฝ่ายต่างๆ อาทิ เช่น เรามีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับทางทีมการลงทุนต่างประเทศ เพื่อให้เราเข้าใจปัจจัยภายนอกที่จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทย หรือแลกเปลี่ยนข้อมูลกับทางทีมหุ้นไทย เพื่อความคิดเห็นมุมมองของอุตสาหกรรมต่างๆ และทำให้เราสามารถประเมินความเสี่ยงด้านการลงทุนได้หลายมิติมากขึ้น โดยสรุปแล้ววัฒนธรรมองค์กรณ์ที่มีความเปิดรับความคิดเห็นและการแชร์ประสบการณ์ ทำให้เรามีข้อมูลเชิงลึก และ มีการวิเคราะห์ที่มีคุณภาพมากขึ้น
ท่านคิดว่าอะไรคือจุดแข็งของทีมงานที่ส่งผลให้กองทุนนี้ประสบความสำเร็จ
จุดแข็งที่ทำให้กองทุนสามารถสร้างผลตอบแทนที่โดดเด่นอย่างสม่ำเสมอ แบ่งออกเป็น 3 ปัจจัย ดังนี้
1. กระบวนการลงทุนที่เข้มข้น
อย่างที่เรียนให้ทราบในข้อก่อนหน้า เราใช้โมเดลในการวิเคราะห์เครดิตภายในที่มีประสิทธิภาพสูง ทำให้เราสามารถลงทุนในตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนสูงและยังไม่เกิดการผิดนัดชำระหนี้ เรามีการติดตาม งบการเงิน เยี่ยมชมบริษัทเพื่อพบปะผู้บริหาร หาแหล่งข้อมูลจากบทวิเคราะห์อื่น เพื่อให้คะแนนตราสารหนี้ตามความสามารถในการชำระหนี้ รวมถึงการประเมินมูลค่าของตราสารหนี้ตามความเสี่ยงและอายุของตราสาร ทำให้เราสามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีอย่างสม่ำเสมอ
2. เรามีทีมที่ใส่ใจในการบริหาร และ มีความชัดเจนในการคิดวิเคราะห์ และ ตัดสินใจลงทุน
ทางทีมมี Passion to Perform หรือ แรงบันดาลใจที่จะเป็นที่ 1 ทำให้เรามองหาโอกาสในการลงทุนใหม่ๆอยู่เสมอ ตามขอบเขตของเกณฑ์การลงทุน อาทิเช่น ในช่วงที่ผ่านมา มีการลงทุนในรูปแบบของเงินฝากต่างประเทศที่ให้ผลตอบแทนที่น่าพอใจ ความเสี่ยงต่ำ และลดความผันผวนของพอร์ตได้ อีกตัวอย่างที่แสดงถึงความใส่ใจด้านการบริหารคือ เรามีการทำ Sensitivity Analysis เพื่อประเมินความผันผวนและปรับพอร์ตตามสถานการณ์ต่างๆ และหลังจากที่เรามีมุมมองการลงทุนแล้ว เรามีการปฎิบัติการที่รวดเร็ว และ แม่นยำ ไม่เอนเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง การตัดสินใจมาจากความคิดเห็นของทุกคนในทีม
3. การมีเครือข่ายที่ดีต่อหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภายในและภายนอก
โดยการที่เรามีเครือข่ายที่ดีต่อ ผู้ออกตราสาร โบรคเกอร์ และทางทีมฝ่ายขายของบริษัท ส่งผลต่อ Performance ของกองทุนเช่นกัน ในบางกรณีเราเคยลงทุนมีการลงทุนในตราสารหนี้ในหลายๆบริษัทมายาวนาน ทำให้เรามีความรู้ในด้านธุรกิจและมีความรู้จักต่อผู้บริหาร ส่งผลให้เราสามารถหาโอกาสลงทุนได้ง่ายขึ้น นอกจากนั้นการที่เรามีความสัมพันธ์ที่ดีต่อโบร์คเกอร์และกองทุนมีขนาดใหญ่ทำให้เรามีอำนาจในการต่อรองราคาของตราสารหนี้ตอนซื้อและขายได้ ทำให้เราได้ราคาที่ดี
การสื่อสารระหว่างทีมขายและทีม Product อย่างสม่ำเสมอ ทำให้เราประมาณการเงินเข้าออกได้ง่ายขึ้นและปรับสัดส่วนสภาพคล่องของกองทุนได้อย่างเหมาะสม อาทิเช่น บางสถานการณ์ เราได้รับการสื่อสารว่าจะมีเงินเข้ามาในกองทุนและมีเงินออกน้อย ทำให้เราปรับสัดส่วนการถือเงินสดและตราสารเพื่อสภาพคล่องน้อยลง และมีเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนดีมากขึ้น
ท่านมีมุมมองต่ออัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันและการปรับอัตราดอกเบี้ยในปีนี้อย่างไร และจะส่งผลต่อการลงทุนของกองทุนอย่างไรบ้าง
เรามองเห็น 2 ปัจจัยหลักๆที่เราเชื่อว่าดอกเบี้ยยังเป็นขาขึ้น และการรักษา Duration เฉลี่ยของพอร์ตให้อยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยยังมีความสำคัญ
1. ปัจจัยจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
ตั้งแต่ต้นปี 2566 ประเทศไทยมี Catalyst ของการเปิดเมืองของประเทศจีน ทำให้เราเห็นการไหลเข้าของนักท่องเที่ยวมากขึ้น ทำให้เราคาดการณ์การบริโภคที่จะกลับมาโตขึ้นในปีนี้จากฐานที่ต่ำในปีที่แล้ว อีกทั้งภาคการท่องเที่ยวยังคิดเป็น 1 ใน 5 ของการจ้างงานในประเทศ รวมถึงเรามีมุมมองว่าการบริโภคจะยังพอขยายตัวต่อได้ แม้ว่าหนี้สินครัวเรือนยังอยู่ในระดับที่สูง จากปัจจัยทั้งหมด เรามองว่าเศรษฐกิจจะค่อยๆฟื้นตัวและ กนง จะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดีเรามองเห็นโอกาสที่ดอกเบี้ยจะปรับขึ้นอย่างรวดเร็วยังมีอยู่หากเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มที่ต่ำลงกลับมาอยู่ในระดับสูงอีกครั้ง กนง อาจ ปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อทำให้ค่าเงินบาทแข็งเพื่อลดมูลค่าการนำเข้าเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของเงินเฟ้อทั่วไป
2. ปัจจัยการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางต่างประเทศทั่วโลก
เราเชื่อว่า ธปท. มีการศึกษาการขึ้นดอกเบี้ยและผลกระทบต่อการขึ้นดอกเบี้ยในหลายๆประเทศ และคาดว่าจะมีการปรับใช้ในประเทศไทยตามความเหมาะสมของเศรษฐกิจ ซึ่งเรามองว่า ธปท. อาจพิจารณาขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามหลายๆประเทศในโลกเพื่อรักษาเสถียรภาพของค่าเงินและการไหลเวียนของเงินทุน อีกทั้งการตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยจะช่วยให้ ธปท ให้มีเครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลดดอกเบี้ยในอนาคตหากเศรษฐกิจมีการถดถอย
ท่านมีแนวทางในการพัฒนาจุดแข็งของทีมงานหรือกระบวนการคัดเลือกตราสารลงทุนให้ดียิ่งขึ้นอย่างไรในอนาคต
ที่ผ่านมาเรามีการทำงานแบบเป็นทีมเวิร์คมากขึ้น แต่ถึงกระนั้นก็ตาม เรายังไม่หยุดที่จะพัฒนาตัวเองอย่างสม่ำเสมอ เราได้มีการสร้างโมเดล ซึ่งเป็น เครื่องมือในการให้คะแนนความน่าลงทุนในการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ในแต่ละประเภททรัพย์สิน Credit Rating ของผู้ออกตราสาร และแต่ละหมวดหมู่อุตสาหกรรม ผ่านการวิเคราะห์ระดับมหภาคลงไปถึงการทำ Valuation ควบคู่กันไป นอกจากนั้นเรามีการเพิ่มความเข้มข้นในการวิเคราะห์ลงในเชิงลึกลงไปถึง ความสามารถของผู้บริหาร Product Cycle ของบริษัทที่เข้าไปลงทุน กลยุทธ์ของบริษัท ธรรมาภิบาลของบริษัท รวมไปถึงการประมาณการกระแสเงินสดในหลายๆ Scenario มากขึ้น ท้ายที่สุดทำให้เรามีความมั่นใจในบริษัทที่เราเข้าไปลงทุนมากขึ้น
ท่านมีคำแนะนำอย่างไรบ้างสำหรับนักลงทุนที่สนใจกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น
เรายอมรับว่ามุมมองการลงทุนในแต่ละสินทรัพย์เสี่ยงยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก โอกาสเกิด Recession ยังมีอยู่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ราคาหุ้นยังไม่ได้อยู่ในจุดที่สะท้อนความเสี่ยงของการเกิด Recession บวกกับ การปรับประมาณการณ์ผลตอบแทนลง ยังมีให้เห็น ความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ยจะปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วยังมีอยู่เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่ในระดับสูง สงครามรัสเซีย-ยูเครนยังไม่จบ แม้ว่าการลงทุนในหุ้นไทยใน Sector ที่ได้ประโยชน์จากการเปิดเมืองของจีนก็ทำได้ลำบากขึ้นเพราะราคาหุ้นมีการปรับตัวขึ้นมามากแล้ว ในสถานการณ์ที่มีปัจจัยลบต่อตลาดหุ้นหลายปัจจัยทำให้เรามองว่า การเลือกลงทุนในแต่ละอุตสาหกรรมและแต่ละบริษัทมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น แต่กระนั้นก็ตามการกระจายความเสี่ยงและการปกป้องเงินต้นยังเป็นตัวเลือกที่สำคัญในสถานการณ์ปัจจุบัน การเลือกตราสารหนี้ระยะสั้นช่วยลดความเสี่ยงจากการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยได้จึงเป็นตัวเลือกในการกระจายความเสี่ยงที่ดี รวมทั้งกองตราสารหนี้ระยะสั้นยังให้สภาพคล่องแก่พอร์ตได้หากนักลงทุนมองเห็นโอกาสในการลงทุนที่สดใสขึ้นในอนาคต