มุมมองการลงทุนหลังเกิดเหตุการณ์ SVB

การปิดตัวลงของ Silicon Valley Bank (SVB) ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นและหุ้นกลุ่มธนาคารให้ปรับตัวลงอย่างมาก แต่เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นเฉพาะกลุ่มกับบริษัท

Morningstar 20/03/2566
Facebook Twitter LinkedIn

หลังเกิดการปิดตัวลงของ Silicon Valley Bank (SVB) ซึ่งส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นและหุ้นกลุ่มธนาคารให้ปรับตัวลงอย่างมาก แต่ด้วยเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นเฉพาะกลุ่มกับบริษัทที่เกี่ยวข้องกับ SVB ทำให้อาจเป็นจังหวะสำหรับนักลงทุนระยะยาวในการเข้าหาโอกาสการลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคารที่ราคาหุ้นปรับลดลงจากเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตามยังต้องระมัดระวังความเสี่ยงที่คงอยู่

เกิดอะไรขึ้นกับ SVB

หลังจากที่ Silicon Valley Bank 1 ใน 20 ธนาคารขนาดใหญ่ของสหรัฐเกิดการล้มละลายจนต้องปิดตัวไป ทำให้ FDIC หรือหน่วยงานรักษาเสถียรภาพสถาบันการเงินสหรัฐฯออกมาเพื่อปกป้องผู้ฝากเงินที่มีประกัน ทั้งนี้สาเหตุที่ SVB ต้องปิดตัวลงเนื่องจากมีผู้ฝากเงินจำนวนมากออกมาแห่ถอนเงินที่ฝากอยู่กับธนาคารจนทำให้สภาพคล่องของธนาคารไม่เพียงพอที่จะรองรับต่อภาวะดังกล่าว

กลุ่มลูกค้าของ SVB ค่อนข้างกระจุกตัวอยู่ในกลุ่ม Startups ที่เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี และการควบคุมความเสี่ยงก็ยังไม่ดีมากพอ โดย SVB มีฐานเงินฝากที่โตเร็วถึง 57% ต่อปี เทียบกับภาพอุตสาหกรรมที่ฐานเงินฝากโตเพียง 12% ต่อปี โดยปี 2021 SVB มีฐานเงินฝากประมาณ 189 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะเดียวกันการร่วมลงทุนแบบ Venture capital ที่ผ่านมาก็เพิ่มขึ้นอย่างมากเช่นกันและบริษัท Startups ต่างๆเมื่อได้เงินจากธนาคารก็มักจะผูกบัญชีทำธุรกรรมหรือฝากเงินไว้กับ SVB ทำให้กว่าครึ่งของฐานเงินฝากมาจากกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่พึ่งเกิดใหม่ด้วย

นอกจากนี้ SVB ได้นำเงินฝากจากลูกค้าไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆเช่น U.S. Treasuries และ Mortgage-backed securities ซึ่งส่วนมากมีอายุครบกำหนดมากกว่า 10 ปี ทำให้การขายตราสารดังกล่าวในภาวะดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นสูงอย่างรวดเร็วในปัจจุบันส่งผลให้ราคาตราสารปรับลดลงและเกิดการขาดทุนจากตราสารในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้การประเมินราคาหรือ mark-to-market ทำให้เกิดผลขาดทุนจากสินทรัพย์ที่ถืออยู่อย่างมาก จนส่งผลให้เกิดความกังวลจากผู้ฝากเงินในธนาคารมากยิ่งขึ้นและแห่ถอนเงินจากธนาคารอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเกิดการล้มของธนาคาร

1

กรณีของ SVB จะเหมือนกับวิกฤติการเงินของ Lehman Brothers หรือไม่

เราเชื่อว่ากรณีของ SVB จะไม่ทำให้เกิดการลุกลามจนเป็นวิกฤติทางการเงินไปทั่วโลกเหมือนกรณีวิกฤติการเงินของ Lehman Brothers ในปี 2008 ซึ่งเกิดจากการเก็งกำไรในตราสารประเภท Mortgage-backed securities ด้วยต้นทุนการกู้เงินที่ต่ำจนทำให้เกิดภาวะฟองสบู่ในช่วงดังกล่าว และหลังจากที่ราคาอสังหาริมทรัพย์เริ่มปรับลดลงก็ทำให้เกิดปัญหาและเกิดหนี้เสียตามมา ขณะที่กรณีของ SVB ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นจะเกิดในวงจำกัดเฉพาะกับผู้ถือหุ้นในบริษัทร่วมทุนหรือบริษัทเกิดใหม่เหล่านี้เท่านั้นหากบริษัทเหล่านั้นเกิดการล้มละลายหรือเสียหายไปจากกรณีของ SVB เนื่องจากบริษัทเหล่านี้ส่วนใหญ่กู้ยืมผ่านการออกหุ้นให้นักลงทุน ทำให้ไม่ส่งผลกระทบไปต่อระบบการเงินเหมือนกรณีเกิดหนี้เสีย นอกจากนี้คุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์สหรัฐโดยรวมก็แข็งแกร่งกว่าในช่วงปี 2008 อย่างมาก รวมถึงการออกมาอัดฉีดเงินให้ความช่วยเหลืออย่างรวดเร็วทั้งจาก Fed และหน่วยงานต่างๆก็เชื่อว่าจะทำให้ความกังวลต่างๆต่อระบบการเงินและธนาคารนั้นลดลง

2

มุมมองต่อการลงทุน

ในระยะสั้นเชื่อว่าความผันผวนของตลาดการเงินจะยังมีอยู่จากความไม่แน่นอนของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากนี้โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจการเงินและธนาคาร แต่สำหรับการลงทุนในระยะยาวเชื่อว่าเหตุการณ์นี้จะเป็นโอกาสที่ดีในการเข้าลงทุนในบริษัทที่มีพื้นฐานที่ดี และราคาปรับลดลงมาก โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มธนาคารและกลุ่มอื่นๆที่ถูกกระทบ แต่ก็คงต้องให้ความสำคัญต่อความเสี่ยงและกำไรที่อาจผันผวนในช่วงนี้ควบคู่ไปด้วย

หมายเหตุ บทความนี้แปลจากต้นฉบับที่เขียนขึ้นเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2023

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar  Morningstar