สรุปภาพรวมกองทุน – กุมภาพันธ์ 2023

ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาตลาดการลงทุนยังเผชิญหลายปัจจัยผันผวน โดยเฉพาะแนวทางการปรับดอกเบี้ยที่ตลาดเริ่มมีมุมมองที่เปลี่ยนไปจากเดิมว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยต่อและมากกว่าที่เคยคาดไว้ก่อนหน้านี้

Morningstar 09/03/2566
Facebook Twitter LinkedIn

มูลค่าทรัพย์สินสุทธิลดลง 1%

เมื่อสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้ กองทุนรวมไทยมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 3.8 ล้านล้านบาท ลดลง 1.1% จากเดือนมกราคม แต่ทรงตัวจากสิ้นปี 2022 โดยมีเงินไหลเข้าสุทธิราว 6 พันล้านบาท กลุ่มกองทุนตราสารทุนมีมูลค่าทรัพย์สินลดลง ซึ่งเกิดจากหลายกลุ่มกองทุนมีผลตอบแทนติดลบ แต่มีเงินไหลเข้าสุทธิราว 5 พันล้านบาท ในขณะที่กองทุนตราสารหนี้เป็นเงินไหลออก 6.4 พันล้านบาท

1

เงินไหลออกสูงสุดจากกองทุน Money market ต่อเนื่อง

ในเดือนที่ผ่านมากองทุนตราสารตลาดเงินมีเงินไหลออกสูงสุดต่อเนื่องจากเดือนมกราคมที่มูลค่า 1.4 หมื่นล้านบาท ตามมาด้วยกลุ่มตราสารหนี้เช่น Flexible Bond, Short-term bond และ Mid/Long-term bond

2

ขณะที่กองทุนตราสารหนี้ทั่วโลก (Global Bond) มีเงินไหลเข้าสุทธิ 7.2 พันล้านบาท เป็นเงินไหลเข้ากองทุน United Global Income Strategic Bond N (UGIS-N) สูงสุดราว 2 พันล้านบาท กองทุนนี้มีการลงทุนไปยัง PIMCO GIS Income Institutional USD Acc ซึ่งมีกองทุนอื่นที่ลงทุนในกองทุนเดียวกันนี้ได้รับความสนใจจากนักลงทุนเช่นกัน เช่น กองทุน TMB Global Income (TMBGINCOME) ที่มีเงินไหลเข้าสุทธิราว 1.2 พันล้านบาท หรือ กองทุน Krungsri Global Collective Smart Income (KF-CSINCOM) มีเงินไหลเข้าสุทธิกว่า 6 ร้อยล้านบาท

ด้านกองทุนตราสารทุนที่มีเงินไหลเข้าสุทธิ 5 พันล้านบาทนั้น เป็นแรงซื้อจากกองทุนต่างประเทศเป็นหลัก นำโดยกลุ่มกองทุนหุ้นจีนมูลค่า 4.1 พันล้านบาท กองทุนหุ้นสหรัฐ 1.5 พันล้านบาท และ กองทุนหุ้นเวียดนาม 1.0 พันล้านบาท ขณะที่กองทุนหุ้นไทยเช่น Equity large-cap เป็นเงินไหลออกสุทธิกว่า 8 ร้อยล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากเงินไหลออกกองทุน LTF เป็นหลัก

ผลตอบแทนกองทุนหุ้นส่วนใหญ่ติดลบ

ในส่วนของผลตอบแทนกองทุนตราสารทุนนั้นค่อนข้างต่างไปจากเดือนมกราคมที่ส่วนใหญ่เป็นภาพการฟื้นตัวของหลายตลาด จากคาดการณ์ว่าเฟดจะชะลอการขึ้นดอกเบี้ย แต่จากอัตราเงินเฟ้อที่ไม่ได้ลดลงเร็วอย่างที่คาดทำให้การคาดการณ์ของตลาดเปลี่ยนแปลงไปและส่งผลเชิงลบต่อตลาดหุ้น โดยในเดือนที่ผ่านมามีเพียงกองทุนกลุ่มหุ้นยุโรปและหุ้นญี่ปุ่นที่มีผลตอบแทนเฉลี่ยเป็นบวก ขณะที่กองทุนหุ้นเทคโนโลยีมีผลตอบแทนเฉลี่ยในอันดับที่ 3 ที่ -0.4% จากเดือนมกราคมที่มีผลตอบแทนเฉลี่ยมากกว่า 10% ขณะที่ฝั่งกองทุนหุ้นที่ติดลบมากได้แก่ กองทุนหุ้นจีน (-7.4%)  หุ้นเวียดนาม (-6.9%) เป็นต้น 

3

ในเดือนมีนาคมนี้จะมีการประชุมเฟดในวันที่ 22 มีนาคม ซึ่งจะต้องติดตามต่อไปว่าผลการประชุมนั้นทำให้มีการขึ้นดอกเบี้ยที่ 0.5% หรือไม่ และทางท่านประธานเฟดจะมีถ้อยคำแถลงเป็นลักษณะใด ซึ่งจะมีนัยสำคัญต่อตลาดการลงทุนต่อไปในปีนี้

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar  Morningstar