แม้โดยรวมอัตราเงินเฟ้อจะยังอยู่ในทิศทางที่ชะลอตัวลง แต่สิ่งสำคัญคือจะชะลอลงได้มากเพียงใด ซึ่งจะกระทบกับตลาด เศรษฐกิจ รวมทั้งแนวทางการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐโดยตรง โดยล่าสุดอัตราเงินเฟ้อสหรัฐในเดือนมกราคมแม้จะเป็นไปตามที่ตลาดคาด แต่ยังคงสูงกว่าเป้าหมายของเฟด และการชะลอลงของอัตราเงินเฟ้อนั้นช้าลงจากเดิมอย่างมีนัยสำคัญ
ตัวเลข CPI เดือนมกราคมที่ออกมานั้นอาจเป็นข่าวที่ไม่ดีนักสำหรับทั้งตลาดตราสารหนี้และตราสารทุน ซึ่งทั้งสองตลาดต่างคาดหวังว่าเฟดจะหยุดขึ้นดอกเบี้ยในเร็ว ๆ นี้และเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยลงภายในปี 2023 และในมุมมองของ Preston Caldwell หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์สหรัฐของมอร์นิ่งสตาร์มองว่า เป็นไปค่อนข้างแน่ว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% ในเดือนมีนาคม
เงินเฟ้อกลุ่มที่อยู่อาศัยยังคงสูง
หากไปดูที่หมวดสินค้าจะพบว่ากลุ่มที่อยู่อาศัยเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้น โดยหากหักกลุ่มนี้ออกจะทำให้เงินเฟ้อพื้นฐานปรับขึ้นราว 1.5% (อ้างอิงข้อมูล 3 เดือนล่าสุด) ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายของเฟดที่ 2% อย่างไรก็ดีคุณ Preston มองว่าเงินเฟ้อในกลุ่มนี้จะลดลงเนื่องจากอุปสงค์ที่ลดลงและอุปทานที่เพิ่มขึ้น
ในขณะที่กลุ่มอื่นเช่น พลังงานเพิ่มขึ้น 2.0% จากเดือนก่อน ขณะที่สินค้าและบริการพื้นฐานอื่น รวมถึงเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มเพิ่มขึ้น 0.8% จากเดือนก่อน และกลุ่มรถยนต์และรถบรรทุกมือสองลดลง 1.9%
สรุปตัวเลขสำคัญเดือนมกราคม
- CPI เพิ่มขึ้น 0.5% เทียบกับ 0.1% ในเดือนธันวาคม สอดคล้องกับที่ตลาดคาดการณ์
- Core CPI หรือเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมหมวดอาหารและพลังงาน) เพิ่มขึ้น 0.4% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนธันวาคม
- CPI เพิ่มขึ้น 6.4% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว จากที่คาดการณ์ 6.2% และต่ำกว่าเดือนธันวาคมที่ 6.5%
- Core CPI เพิ่มขึ้น 5.6% มากกว่าที่คาดการณ์เล็กน้อยที่ 5.5% และต่ำกว่าเดือนธันวาคมที่ 5.7%
นอกจากข้อมูลเงินเฟ้อล่าสุดแล้ว ตลาดยังคงให้ความสนใจกับการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อในปี 2022 ที่มีการปรับแก้ไข (ตามรอบปกติ) โดยแสดงให้เห็นว่าเงินเฟ้อนั้นไม่ได้ลดลงเร็วเช่นที่รายงานก่อนหน้านี้ โดยทางคุณ Preston ให้ความเห็นว่า เรายังไม่ควรกังวลมากจนเกินไป เนื่องจาก core inflation ยังคงมีแนวโน้มลดลงและคาดว่าจะยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไปตลอดปี 2023
อัตราดอกเบี้ยอาจอยู่ระดับสูงขึ้นและนานขึ้น
การที่อัตราเงินเฟ้อนั้นยังคงอยู่ระดับสูงนั้นหมายถึงความเป็นไปได้ที่จะอยู่ระดับสูงในระยะเวลานานขึ้น และหากไปดูที่ตัวเลขเศรษฐกิจอื่น ๆ เช่น ตัวเลขการจ้างงานก็จะพบว่า เศรษฐกิจสหรัฐยังมีการจ้างงานที่แข็งแกร่งกว่าที่คาด ส่งผลให้เฟดจะมีงานยากขึ้นในการพยายามกดเงินเฟ้อลงไปที่เป้าหมาย 2% ซึ่งหมายถึงเฟดยังคงต้องดำเนินนโยบายการเงินเข้มงวดต่อไป โดยล่าสุดคาดว่าอาจขึ้นอยู่ในที่ระดับ 5.50% และลงมาที่ 5.25% จนถึงสิ้นปีนี้
โดยรวมจะเห็นได้ว่าในปีนี้ตัวเลขเงินเฟ้อยังคงเป็นปัจจัยสำคัญต่อเศรษฐกิจทั้งสหรัฐและทั่วโลก เนื่องจากจะกระทบไปยังนโยบายการเงินของธนาคารกลาง ที่จะส่งผลต่อผลประกอบการบริษัท สถานะทางเศรษฐกิจทั่วโลก ไปจนถึงผลตอบแทนจากการลงทุน นักลงทุนจึงยังควรติดตามสถานการณ์เงินเฟ้ออย่างต่อเนื่องว่าจะลดลงตามที่ตลาดคาดหวังไว้หรือไม่