การที่นักลงทุนในตลาดหุ้นส่งสัญญาณว่าเงินเฟ้อสหรัฐขึ้นถึงจุดสูงสุดแล้ว ตลาดตราสารหนี้ก็ส่งสัญญาณถึงเศรษฐกิจที่ถดถอยในอนาคต ทั้งนี้การปรับลดลงอย่างมากของ Long-term bond yields จนทำให้เกิดภาวะ Inverted yield curve ในปัจจุบันนั้นเป็นระดับที่ค่อนข้างมากหากดูย้อนเทียบไปจนถึงปี 1982 ซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่กำลังจะเกิดขึ้นแต่ก็ไม่อาจบอกได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ยาวนานแค่ไหน และรุนแรงเท่าไหร่
อย่างไรก็ตามยังมีความไม่แน่นอนจากตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ เช่น เงินเฟ้อที่เริ่มชะลอลงอาจทำให้การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐผ่อนคลายลง ขณะที่อัตราการจ้างงานและการใช้จ่ายผู้บริโภคยังเร่งตัวขึ้น และคาดการณ์ GDP ไตรมาส 4 ของสหรัฐที่อาจออกมาสูงถึง 4.2% สิ่งเหล่านี้อาจบ่งชี้ว่ายังไง Fed ก็ยังต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อชะลอเงินเฟ้อ
Yield-Curve Inversion
โดยส่วนใหญ่พันธบัตรที่มีอายุครบกำหนดนานมักจะให้อัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าพันธบัตรที่มีอายุสั้นกว่าเพื่อสะท้อนความเสี่ยงที่สูงขึ้นจากการต้องถือลงทุนที่นานกว่า แต่ในภาวะที่ตลาดผันผวนและเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรอายุสั้นสามารถให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าพันธบัตรอายุยาวๆได้จนทำให้เกิดภาวะ Inverted yield curve อย่างเช่นในปีนี้ที่ Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อชะลอเงินเฟ้อให้กลับเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% รวมถึงการคาดการณ์ของนักลงทุนว่า Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลให้ Yield ของพันธบัตรอายุสั้นปรับสูงขึ้นกว่า Yield ของพันธบัตรระยะยาวซึ่งเป็นการสะท้อนมุมมองว่าเศรษฐกิจและเงินเฟ้อจะเติบโตชะลอลงในอนาคต
ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนตุลาคม Yield ของพันธบัตรอายุ 2 ปีอยู่ที่ 4.51% เพิ่มขึ้นจากช่วงสิ้นปีก่อนที่ 0.73% ขณะที่ Yield ของพันธบัตรอายุ 10 ปีอยู่ที่ 4.1% เพิ่มขึ้นจากช่วงสิ้นปีที่ 1.52% อย่างไรก็ดีหลังจากตัวเลข CPI และ Producer Price Index ออกมาซึ่งสะท้อนว่าเงินเฟ้อได้เพิ่มขึ้นจนผ่านจุดที่สูงสุดไปแล้วและน่าจะปรับลดลงจากนี้ ส่งผลให้ Bond yield ปรับลดลง โดยเฉพาะพันธบัตรที่มีอายุครบกำหนดไกลๆที่ปรับลงค่อนข้างมาก ซึ่งอายุ 10 ปีปรับลดลงมาอยู่ที่ 3.67% ขณะที่อายุ 2 ปีลงมาอยู่ที่ 4.35% ทำให้ส่วนต่างของ Bond yield ทั้ง 2 ชนิดนั้นกว้างมากขึ้นเป็น 0.68% ซึ่งหากเทียบกับในอดีตที่ส่วนต่างของพันธบัตรอายุ 10 ปีและ 2 ปี ต่างกันมากๆ พบว่าเคยเกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจ Recession ก่อนปี 2001 โดยมีส่วนต่างของ Bond yield ที่ Inverted ประมาณ 0.65%
แนวโน้มเศรษฐกิจถดถอยจะเกิดขึ้นหรือไม่และรุนแรงเท่าไหร่
Preston Caldwell, chief U.S. economist ที่ Morningstar เชื่อว่ามีความไม่แน่นอนว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือ Recession และถ้าเกิดก็อาจไม่รุนแรงมากและเกิดขึ้นเพียงช่วงเวลาสั้นๆเท่านั้น ขณะที่ Baird’s McAllister เชื่อว่าเศรษฐกิจจะไม่ได้ชะลอตัวมากเนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจของภาคครัวเรือนในสหรัฐยังออกมาดี และสถานะการเงินของภาคธุรกิจและภาครัฐก็ยังแข็งแรงดีอยู่ โดยปัจจัยกระตุ้นเศรษฐกิจและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ให้ยังดีและสูงอยู่นั้นยังมาจากเม็ดเงินของ Fed ที่เคยใส่เข้ามาอยู่ในระบบการเงินจากการเข้าซื้อพันธบัตรในช่วงเกิด COVID-19 และการผ่อนปรนการเปิดประเทศของจีน ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญของเศรษฐกิจสหรัฐที่ต้องติดตามคือตัวเลขการจ้างงาน ตำแหน่งงานเปิดใหม่ และการกลับเข้าทำงาน ซี่งจะช่วยบ่งชี้ได้ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรนั่นเอง
อัตราเงินเฟ้อจะปรับลดลงได้มากขนาดไหน
หลังจากตัวเลขอัตราเงินเฟ้อในเดือนตุลาคมออกมา +7.7% นักวิเคราะห์เริ่มคาดการณ์ถึงทิศทางของเงินเฟ้อว่าจะเป็นอย่างไร อัตราการปรับลดลงเร็วมากน้อยแค่ไหน ขณะที่การจะไปถึงเป้าหมายเงินเฟ้อของ Fed ที่ 2% นั้นอาจเป็นไปได้ค่อนข้างยาก แม้จะค่อยๆปรับลดลงในปีหน้าก็ตามแต่คาดว่าจะไปหยุดอยู่ที่ประมาณ 3% ในช่วงปลายปี 2023 ส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบายคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ 3.75%-4% เป็น 5% ในช่วงปลายปี 2023