We are currently investigating intermittent issues affecting access to some articles and pages on our site. We apologize for any inconvenience and are working to resolve this as quickly as possible.

สรุปภาพรวมกองทุนรวมไทยไตรมาส 3-2022

กองทุนรวมไทย (เฉพาะกองทุนเปิด ไม่รวมกองทุนปิด, ETF, REIT, Infrastructure fund) มีมูลค่าทรัพย์สินรวม 3.7 ล้านล้านบาท หดตัว 2.6% จากไตรมาสก่อนหน้า และ 13.1% จากสิ้นปี 2021

Morningstar 18/10/2565
Facebook Twitter LinkedIn

มูลค่าทรัพย์สินหดตัว YTD 13.1% เงินไหลออกสุทธิ 9 เดือน 2.3 แสนล้านบาท

กองทุนรวมไทย (เฉพาะกองทุนเปิด ไม่รวมกองทุนปิด, ETF, REIT, Infrastructure fund) มีมูลค่าทรัพย์สินรวม 3.7 ล้านล้านบาท หดตัว 2.6% จากไตรมาสก่อนหน้า และ 13.1% จากสิ้นปี 2021 ในไตรมาสนี้มีเงินไหลออกสุทธิต่อเนื่องอีก 2.5 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการไหลออกจากทั้งกลุ่มกองทุนหุ้น ตราสารหนี้ กองทุนผสม และกองทุนตราสารตลาดเงิน รวมเงินไหลออกสุทธิสะสม 9 เดือน 2.3 แสนล้านบาท

กองทุนตราสารหนี้เงินไหลออกสุทธิชะลอตัวจากครึ่งปีแรก

กองทุนรวมตราสารหนี้เป็นประเภทกองทุนที่มีเงินไหลออกสุทธิมากที่สุดในไตรมาสที่ 3 มูลค่า 1.1 หมื่นล้านบาท และรอบ 9 เดือนมูลค่า 2.4 แสนล้านบาท แต่หากมองในภาพรวมถือว่าเม็ดเงินไหลออกชะลอตัวลงจากครึ่งปีแรกอย่างมาก ซึ่งเกิดจากการเปิดกองทุน term fund ทำให้มีเงินไหลเข้าสุทธิสูง และเงินไหลออกสุทธิที่น้อยลงจากกลุ่ม Short-Term Bond หรือ Mid/Long Term Bond

เงินไหลออกจากกองทุนตราสารทุน 9 เดือน 2.3 พันล้านบาท จากแรงขายกองทุนหุ้นในประเทศ

กองทุนตราสารทุนมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1.3 ล้านล้านบาท มีเงินไหลออกสุทธิ 6.2 พันล้านบาท รวมเป็นเงินไหลออกสุทธิ 9 เดือนมูลค่า 2.3 พันล้านบาท ซึ่งเกิดจากกองทุนหุ้นในประเทศที่มีเงินไหลออกสุทธิต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี โดยเฉพาะแรงขายกองทุน LTF และแรงขายทำกำไรในช่วงที่ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นในไตรมาสที่ผ่านมา ขณะที่กองทุนต่างประเทศเริ่มมีแนวโน้มเงินไหลเข้าชะลอลง แต่โดยรวมกองทุนต่างประเทศยังเป็นเงินไหลเข้าสุทธิในช่วง 9 เดือน

1

กองทุนกลุ่มน้ำมันและทองคำหรือกลุ่ม Commodities มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 2.8 หมื่นล้านบาท ลดลง 10.2% จากสิ้นปีที่แล้ว ในไตรมาสที่ผ่านมามีเงินไหลเข้าสุทธิต่อเนื่องอีก 1.0 พันล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเงินไหลเข้ากองทุนทองคำ 760 ล้านบาท โดยเป็นช่วงที่ราคาทองคำปรับลงต่อเนื่องท่ามกลางการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ ขณะเดียวกันการไหลออกสุทธิจากกองทุนน้ำมันเกิดขึ้นในช่วงราคาน้ำมันปรับลงจากความกังวลภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งนี้กองทุน Commodities มีเงินไหลออกสุทธิช่วง 9 เดือนที่ 2.4 พันล้านบาท

10 อันดับกลุ่มกองทุนมูลค่าทรัพย์สินสุทธิสูงสุดตาม Morningstar Category

มูลค่าทรัพย์สินสุทธิกองทุน Money Market ยังคงสูงเป็นอันดับ 1 ที่ 7.0 แสนล้านบาท ลดลงจากไตรมาสที่ 2 เล็กน้อย แต่ยังคงสูงกว่าสิ้นปีที่แล้ว 8.9% โดยหลังจากมีเงินไหลเข้าสูงสุดในช่วงครึ่งปีแรก ได้เปลี่ยนเป็นเงินไหลออกสุทธิ 5.2 พันล้านบาทในไตรมาสที่ผ่านมา รวม 9 เดือนยังเป็นเงินไหลเข้าสุทธิ 5.4 หมื่นล้านบาท

เงินไหลออกจากกองทุนหุ้นขนาดใหญ่ช่วง SET Index ฟื้นตัว

กลุ่ม Equity Large-Cap มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 5.8 แสนล้านบาท ลดลง 1.2% จากไตรมาสที่ 2 และลดลง 8.5% จากสิ้นปี 2021 ในไตรมาสที่ผ่านมามีเงินไหลออกสุทธิ 7.0 พันล้านบาท โดยในเดือนกรกฎาคมมีเงินไหลเข้าสุทธิเกือบ 400 ล้านบาท ก่อนจะเปลี่ยนเป็นเงินไหลออกสุทธิในเดือนสิงหาคมและกันยายนรวม 7.4 พันล้านบาท แสดงการขายทำกำไรในช่วงที่ดัชนี SET Index ปรับตัวขึ้นตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมจนถึงกลางเดือนกันยายน รวมเงินไหลออกสุทธิรอบ 9 เดือน 3.0 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้กลุ่มกองทุนหุ้นขนาดใหญ่มีผลตอบแทนเฉลี่ยรอบ 3 เดือนที่ 0.6% และรอบสะสม 9 เดือนที่ -3.4%  

กองทุนตราสารหนี้มีเงินไหลออกสุทธิชะลอลงจากครึ่งปีแรก

กลุ่มกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นมีเงินไหลออกสุทธิ 1.7 หมื่นล้านบาทในไตรมาสที่ผ่านมา ชะลอตัวจากครึ่งปีแรกที่ระดับ 1 แสนล้านบาท สะสมเป็นเงินไหลออกสุทธิ 9 เดือน 1.2 แสนล้านบาท หรือไหลออกมากที่สุดในอุตสาหกรรม ทำให้มูลค่าทรัพย์สินหดตัวลง 30.2% จากสิ้นปีที่แล้ว เช่นเดียวกับกองทุนตราสารหนี้ระยะกลาง-ยาวที่มีเงินไหลออกสุทธิน้อยลงที่ 9.8 พันล้านบาท สะสม 9 เดือนที่ 6.4 หมื่นล้านบาท ยังถือว่าค่อนข้างสูงในอุตสาหกรรม

2

กองทุนหุ้นทั่วโลกไหลออกสุทธิครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปี

กองทุน Global Equity มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1.6 แสนล้านบาท หดตัวลง 7.1% จากไตรมาสก่อนและลดลง 28.8% จากสิ้นปีที่แล้ว จากผลตอบแทนที่ติดลบ 9 เดือนที่ -30.1% โดยในไตรมาสที่ผ่านมามีเงินไหลออกสุทธิระดับ 5 ร้อยล้านบาท หรือเป็นเงินไหลออกสุทธิครั้งแรกหลังจากไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง 10 ไตรมาส รวม 9 เดือนยังคงเป็นเงินไหลเข้าสุทธิ 1.2 หมื่นล้านบาท  

3

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar