ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นได้ปรับลดลงทำจุดต่ำสุดใหม่อีกครั้งจนหลายๆคนเริ่มมองว่าจะเป็นจุดต่ำสุดของตลาดหุ้นแล้วหรือยัง ทั้งนี้ Morningstar US Market PR Index ตั้งแต่ต้นปีได้ปรับลดลง 23.05% และลดลง 8.53% ในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา (ข้อมูลสิ้นสุด 27 กันยายน)
ขณะที่ผลตอบแทนของตราสารหนี้ปรับเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบปี โดยผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปีปรับขึ้นไปอยู่ที่ 4.16% และอายุ 10 ปี ขึ้นไปแตะที่ระดับ 4% สูงสุดเป็นครั้งแรกในรอบ 14 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐ (federal-funds rate) ที่จะปรับขึ้นไปสู่ระดับ 4.40% ในสิ้นปีนี้ นอกจากนี้ความกังวลต่อเศรษฐกิจถดถอยในยุโรปและการเติบโตที่ช้าลงของจีนยังทำให้มีความต้องการลงทุนในตลาดพันธบัตรสหรัฐมากยิ่งขึ้นอีกเช่นกัน
5 ปัจจัยที่ทำให้ตลาดหุ้นปรับลดลงทำจุดต่ำสุดใหม่อีกครั้ง
- อัตราเงินเฟ้อเดือนกันยายนที่ยังคงสูงต่อเนื่อง กดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐยังต้องดำเนินนโยบายเข้มงวดทางการเงิน
- การส่งสัญญาณเตือนของบริษัท FedEx ต่ออัตรากำไรที่ปรับลดลงในอนาคต เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทำให้ความต้องการขนส่งสินค้าลดลงโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียและยุโรป ซึ่งหลังจากการส่งสัญญาณดังกล่าวราคาหุ้นก็ปรับลดลงถึง 21% ในช่วงเวลานั้น
- การดำเนินนโยบายที่เข้มงวดของธนาคารกลางสหรัฐ โดยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.75% ในการประชุมเดือนกันยายน ส่งผลให้ปีนี้โดยรวมมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปแล้ว 5 ครั้ง และอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นมาอยู่ที่ 3% เพื่อเป็นการควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในเป้าหมายที่ 2%
- ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่า ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มกำไรของภาคธุรกิจในประเทศปรับลดลง ซึ่งเป็นผลจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐและทำให้มีเงินไหลเข้าตลาดพันธบัตรสหรัฐมากยิ่งขึ้นและทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า
- แนวโน้มอัตรากำไรของภาคธุรกิจที่เติบโตชะลอตัวและการปรับลดคาดการณ์การเติบโตของกำไร ส่งผลให้ราคาหุ้นปรับลดลงตามแนวโน้มของอัตรากำไรเช่นกัน นอกจากนี้ในแง่ PE Multiple ก็อาจปรับลดลงเนื่องมาจากกำไรที่แย่ลงทำให้นักลงทุนมีแนวโน้มที่จะปรับลด PE Multiple ลงตาม Outlook ที่แย่ลงเช่นกัน
แนวโน้มตลาดหุ้นจะเป็นอย่างไรต่อไป
นักกลยุทธ์การลงทุนอย่างเช่น Ned Davis (chief global investment strategist, TimHayes) ได้เสนอให้ลดน้ำหนักในหุ้นลงและถือเงินสดมากขึ้นถึง 10% และกล่าวว่านักลงทุนเองก็เริ่มมีความกังวลว่าตลาดจะเข้าสู่ภาวะหมีมากขึ้น การที่ธนาคารกลางสหรัฐขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อรักษาเสถียรภาพของเงินเฟ้อทำให้ต้นทุนการเงินและลดกำลังซื้อของบริโภคลง รวมถึงกระทบต่อความต้องการในตลาดแรงงาน และนั่นทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะนำพาไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยมากยิ่งขึ้น