แม้ว่าตัวเลข GDP สหรัฐในครึ่งแรกของปีนี้จะขยายตัวติดลบ แต่เชื่อว่าจะยังไม่ถึงขั้นเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยแต่อย่างใด และคาดว่าเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังจะกลับมาเติบโตได้ต่อเนื่องหลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อชะลอเงินเฟ้อ ขณะที่ในปี 2023 คาดว่า FED จะให้ความสำคัญมากขึ้นต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ ภายใต้อัตราเงินเฟ้อที่ลดลงมาสู่ระดับเป้าหมายที่ 2% โดยเราได้คาดการณ์ทิศทางอัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อในอนาคตเป็นดังนี้
1. อัตราดอกเบี้ย คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐในปี 2023 จะอยู่ที่ 1.75% ต่ำกว่าคาดการณ์ของตลาดที่คาดว่าจะอยู่ที่ 3.25% และภายในปี 2026 อัตราดอกเบี้ยนโยบายคาดว่าจะอยู่ที่ 1.75% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีจะอยู่ที่ 2.75%
2. อัตราเงินเฟ้อ คาดว่าในปี 2023 จะเปลี่ยนจากภาวะเงินเฟ้อเป็นภาวะเงินฝืดมากขึ้น หลังจากปัญหาข้อจำกัดทางด้านการขนส่งสินค้าและราคาพลังงานผ่อนคลายลง ส่งผลให้ FED บรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อ โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยจะอยู่ที่ 1.4% ในช่วงปี 2023-26
ทั้งนี้ การวิเคราะห์อัตราเงินเฟ้อมีความสําคัญต่อการคาดการณ์ GDP และอัตราดอกเบี้ยอย่างมาก หากอัตราเงินเฟ้อยังสูงมากขึ้นก็อาจทำให้ FED ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าที่คาดการณ์และทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงักในระยะสั้น อย่างไรก็ดีหาก FED ยังคงผ่อนคลายนโยบายการเงินในปี 2023 ก็คาดว่าจะทำให้ GDP สหรัฐขยายตัวได้ต่อเนื่องในปี 2024-2025 และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยก็จะช่วยฟื้นความต้องการในตลาดที่อยู่อาศัยมากขึ้น
แนวโน้มเศรษฐกิจยังเติบโตได้ดีในระยะยาว
แม้ในระยะสั้นเราคาดว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัว ทั้งจากปัญหา Supply shocks และการเข้มงวดนโยบายการเงินของ FED เพื่อชะลอเงินเฟ้อ แต่เชื่อว่าเศรษฐกิจจะกลับมาขยายตัวอีกครั้งในปี 2024 จากการผ่อนคลายนโยบายการเงินของ FED หลังจากที่อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงตามการผ่อนคลายของปัญหา Supply chain ทั้งนี้เราได้ปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 2022-2023 ลง และปรับขึ้นคาดการณ์ GDP ปี 2025-2026 ดังภาพ
อัตราเงินเฟ้อในปี 2022 ยังคงอยู่ในระดับสูง
จากปัญหา Supply chain ที่ยังต้องใช้เวลาในการแก้ไขทำให้คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในปีนี้ยังคงอยู่ในระดับสูงไปอีกระยะหนึ่ง แต่คาดว่าเงินเฟ้อจะปรับลดลงในปี 2023 เป็นต้นไปหลังจากปัญหา Supply chain ได้รับการแก้ไข รวมถึงราคาพลังงาน รถยนต์ และสินค้าคงทนที่ปรับลดลง และการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวด จึงคาดว่าอัตราเงินเฟ้อในปี 2023 และ 2024 จะอยู่ต่ำกว่า 2%
ขณะที่ในระยะยาวคาดว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยจะปรับลดลงอยู่ในระดับต่ำทั้งในสหรัฐอเมริกาและประเทศเศรษฐกิจหลักของโลก ซึ่งไม่ได้ขึ้นอยู่กับนโยบายการเงินแต่เป็นผลเนื่องมาจากโครงสร้างประชากรและผลิตผลทางเศรษฐกิจที่ลดน้อยลงนั่นเอง