กองทุนยั่งยืนมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 5.4 หมื่นล้านบาท หดตัวลง 24.4% จากสิ้นปี 2021 และมีเงินไหลออกสุทธิเกือบ 9 ร้อยล้านบาท การลงทุนโดยส่วนใหญ่ยังคงเป็นกองทุนตราสารทุนต่างประเทศ นำโดยกองทุนในกลุ่ม Global equity รวมมูลค่าเกือบ 3 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 55% ของมูลค่ากองทุนยั่งยืน ในขณะที่กองทุนยั่งยืนที่ลงทุนในประเทศยังเป็นสัดส่วนที่น้อย ซึ่งเป็นกองทุนที่อยู่ในกลุ่มหุ้นไทยทั้งกลุ่มหุ้นขนาดใหญ่และกลุ่มหุ้นขนาดกลาง-เล็ก คิดเป็นสัดส่วนเกือบราว 4%
เม็ดเงินไหลออกจากกองทุนยั่งยืนในปีนี้ถือว่ามีทิศทางเดียวกันกับในต่างประเทศที่มีเงินไหลเข้าชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ เช่นในสหรัฐมีเงินไหลเข้าที่ชะลอตัวลงอย่างชัดเจนในเดือนเมษายนที่ผ่านมา และมีเงินไหลออกในเดือนถัดมา ในขณะที่กลุ่มยุโรปที่เป็นตลาดใหญ่ที่สุดในด้านการลงทุนอย่างยั่งยืนก็สะท้อนภาพเดียวกันคือมีเม็ดเงินชะลอตัวลงในรอบครึ่งแรกของปีนี้
ในรอบครึ่งปีที่ผ่านมาการลงทุนอย่างยั่งยืนมีผลตอบแทนไปในทิศทางเดียวกันกับตลาดหุ้นทั่วโลก Morningstar Global Markets Sustainability Index มีผลตอบแทนสะสมตั้งแต่ต้นปี -21.1% เทียบกับ Morningstar Global Markets Large-Mid Index -20.1% ซึ่ง Sustainability Index มีผลตอบแทนที่แย่กว่าเล็กน้อยนั้นมีเหตุผลจาก มีส่วนของการลงทุนในหุ้นเติบโตมากกว่า และส่วนของ value ที่น้อยกว่า Global Markets Index ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามในรอบปี 2021 หรือในรอบ 5 ปี Sustainability Index มีผลตอบแทนที่สูงกว่าการลงทุนแบบ broad market index ซึ่งแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของการลงทุนยั่งยืนที่นอกจากช่วยลดความเสี่ยง ESG แล้วยังสร้างผลตอบแทนได้ใกล้เคียงหรือดีกว่าการลงทุนโดยทั่วไปได้
(หมายเหตุ: Morningstar Global Markets Sustainability Index สร้างขึ้นโดยนำหุ้นที่มี ESG Risk Ratings ระดับต่ำในดัชนี Morningstar Global Markets Large-Mid Index มาเป็นส่วนประกอบของดัชนี)