จีนประกาศตัวเลข GDP เติบโต 4.8% yoy ในไตรมาสแรก ซึ่งแสดงการเติบโตที่ช้าลงโดยรวม ตัวเลขส่งออกมีแนวโน้มที่ชะลอลงจากที่การใช้จ่ายหันไปกลับที่ทางภาคบริการมากขึ้น ทั้งนี้ตัวเลข GDP ในไตรมาสแรกอาจยังไม่สะท้อนผลกระทบในภาคการผลิตและส่งออกจากการ lockdown ในเซี่ยงไฮ้มากนัก แต่จะเริ่มเห็นชัดเจนขึ้นสำหรับตัวเลขในช่วงเดือนเมษายนเนื่องจากมีท่าเรือส่งออกขนาดใหญ่ จากปัจจัยดังกล่าวทำให้มอร์นิ่งสตาร์คาด GDP ปี 2022 จะลดลงมาอยู่ที่ 3.2% ต่ำกว่าที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ที่ 5.5%
การลงทุนได้รับผลกระทบจากภาคอสังหาฯ
ภาคการลงทุนของจีนเติบโต 3.5% yoy ในไตรมาสแรก ในรายอุตสาหกรรมพบว่าการลงทุนในภาคการผลิตเพื่อรับกับอุปสงค์สินค้าที่เพิ่มขึ้น แต่ในภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นตัวฉุดภาคการลงทุนจากอุปสงค์ที่ลดลงและการเงินที่ตึงตัวของบริษัทพัฒนาอสังหาฯ ส่งผลต่อเนื่องไปยังมูลค่าการซื้อที่ดินซึ่งจะกระทบกับการใช้จ่ายโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลท้องถิ่นได้อย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ดีการควบคุมการใช้จ่ายภาคการลงทุนของจีนนั้นสอดคล้องกับเป้าหมายรัฐบาลที่ต้องการลดการพึ่งพาการลงทุนที่ส่งผลต่อการเติบโตในระยะสั้น ซึ่งจะช่วยลดตัวเลขหนี้ที่สูงจากในอดีต แต่ต้องติดตามว่ากลยุทธ์การเติบโตนี้จะส่งผลต่อจีนอย่างไรโดยเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว
การบริโภคยังคงเติบโต
ภาคการบริโภคเติบโต 6% yoy ในไตรมาสแรก มีนัยของการเติบโตต่อเนื่องเล็กน้อย โดยการใช้จ่ายเพื่อการบริการเป็นส่วนที่ทำให้การบริโภคโดยรวมเติบโตในขณะที่การใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าลดลงเล็กน้อย อย่างไรก็ดีหากพิจารณาข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนและแหล่งอื่นแล้วมอร์นิ่งสตาร์มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการเติบโตว่าเป็นจริงหรือไม่ เนื่องจากเป็นไปได้ว่าการบริโภคนั้นจะค่อนข้างทรงตัวมากกว่า (หากยังไม่หดตัว) จากที่จีนกำลังได้รับผลกระทบจากการระบาดที่รุนแรงขึ้นและทำให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลง แม้จะมีข้อมูลที่ค่อนข้างจำกัดแต่ตัวเลขด้านภาคบริการเช่น ร้านอาหารได้ปรับลงในไตรมาสแรก ในขณะที่การโดยสารเครื่องบินยังคงอ่อนแอ
Credit growth ยังไม่เพียงพอให้เศรษฐกิจเติบโต
การกู้ยืมโดยภาครัฐและภาคเอกชนมีการเติบโต ในขณะที่สินเชื่อเพื่อการบริโภคยังคงลดลง โดยรวม credit growth ของจีนเติบโต 10.5% ในเดือนมีนาคม อย่างไรก็ตามการเติบโตที่ระดับนี้ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้เศรษฐกิจจีนเติบโตได้ในช่วงที่มีการ lockdown ประกอบกับมีปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้อง ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาถือว่าทางการจีนยังไม่มีการเคลื่อนไหวด้านนโยบายผ่อนคลายการเงินมากนัก แม้ว่าจะมีนโยบายออกมาบ้างแล้วเช่น การลด required reserve ratios แต่ต้นทุนการกู้ยืมไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
แนวโน้มเศรษฐกิจจีนที่จะได้รับผลกระทบจากการ lockdown ทำให้ตลาดปรับตัวลงโดยเฉพาะในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา สะท้อนไปที่ผลตอบแทนกองทุนหุ้นจีนเฉลี่ยสะสมปีนี้ที่ -23.8% (ข้อมูล ณ วันที่ 13 พฤษภาคม 2022) มูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวมลดลง 18% จากสิ้นปี 2021 มาอยู่ที่ 1.4 แสนล้านบาท ในรอบ 4 เดือนแรกมีเงินไหลเข้าสุทธิ 6.8 พันล้านบาท
แม้การระบาดของโควิดจะไม่ถือว่ามีผลกระทบต่อประชาชนในหลายประเทศในขณะนี้ แต่จากการ lockdown ในเซี่ยงไฮ้แสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงที่มีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจจีนได้ และในระยะยาวผู้ลงทุนควรทราบถึงการเติบโตของจีนที่เปลี่ยนแปลงไปจากการลดการพึ่งพาการลงทุนและ credit growth ที่ลดลง