เรามาทำความรู้จัก บลจ. กสิกรไทย ให้มากขึ้นผ่านบทสัมภาษณ์กันเลยค่ะ
ท่านคิดว่าปัจจัยใดที่ทำให้กองทุนรวมตราสารหนี้ในประเทศภายใต้การบริหารจัดการของ บลจ. ของท่านประสบความสำเร็จ
บลจ.กสิกรไทยให้ความสำคัญกับหลายองค์ประกอบในการบริหารกองทุน ได้แก่ การรักษาระดับสภาพคล่องที่เพียงพอ ผลตอบแทนของกองทุนที่ดี ความสามารถในการชำระหนี้และความเสี่ยงเรื่องการผิดนัดชำระหนี้และการกระจายการลงทุน
บลจ. ยังเน้นการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน ควบคู่กับการหาจังหวะตลาดที่เหมาะสม การบริหารใช้เหตุผลในการตัดสินใจรอบด้านทั้งในส่วนการพิจารณาจากภาพกว้างทางเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศ (Macro Factor) และเจาะลึกลงในปัจจัยพื้นฐาน(Fundamental Factor) ที่ส่งผลต่อราคาตราสารหนี้ โดยวิเคราะห์ผ่านโมเดลภายใน
ทั้งนี้ การกำหนดกลยุทธ์การลงทุนในภาพใหญ่จะเป็นการตัดสินใจร่วมกันอย่างเป็นระบบจากทีมงานที่มีประสบการณ์ความชำนาญ ส่งผลให้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ได้เหมาะสมในแต่ละสถานการณ์
จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่มีการปรับตัวขึ้นในรอบปี 2021 บลจ.กสิกรไทยได้มีการปรับกลยุทธ์การลงทุนหรือไม่/อย่างไร
ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยปรับสูงขึ้น การลงทุนในหุ้นกู้เอกชนที่อายุไม่ยาวนัก เป็นทางเลือกลงทุนที่จะให้ผลตอบแทนดีที่สุด ตลาดคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวขึ้นหลังจากหดตัวลงอย่างมากในปี 2021 ส่งผลให้อัตราการผิดนัดชำระหนี้มีแนวโน้มลดลง ดังนั้น กองทุนจึงมุ่งเน้นการหาผลตอบแทนเพิ่มเติมจากการเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตราสารหนี้เอกชนภายในประเทศ โดยเน้นช่วงอายุ 2-5 ปี ทั้งนี้การลงทุนสินทรัพย์ดังกล่าวมีการพิจารณาถึงความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ออกตราสารอย่างถี่ถ้วนโดยใช้แบบจำลองการวิเคราะห์ที่ บลจ.กสิกรไทย จัดทำขึ้นเองประกอบด้วย มิใช่เพียงอ้างอิงหรือเชื่อตามที่มีการประกาศโดยบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ
ท่านมีมุมมองต่อการปรับดอกเบี้ยในปีนี้และผลกระทบต่อการลงทุนกองทุนตราสารหนี้ในประเทศอย่างไร
FED และ ECB ทิศทางดอกเบี้ยยังอยู่ในขาปรับขึ้น การดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวมากขึ้นกว่าเดิม แต่อัตราเร่งในการปรับขึ้นอาจไม่มากเท่าที่ตลาดคาดก่อนหน้าช่วงต้นปี จากความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มมากขึ้นซึ่งส่งผลกระทบต่อการเติบโตเศรษฐกิจโลก
ในส่วนไทย อาจมีแรงกดดันด้านเงินเฟ้อจากราคาน้ำมัน แต่ธปท. ยังคาดว่าในระยะยาวเงินเฟ้อจะกลับมาอยู่ในกรอบเป้าหมาย 1.0-3.0%ได้ ธปท.ยังคงให้น้ำหนักความสำคัญเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเงิน คาดการขึ้นดอกเบี้ยของไทยจึงต่างออกไปจากทิศทางดอกเบี้ยโลก อาจต้องรอจนกว่าจะเห็นสัญญาณการฟื้นตัวและจำนวนครั้งในการขึ้นดอกเบี้ยอาจทำได้น้อยกว่าของสหรัฐฯ
ความผันผวนของกองทุนตราสารหนี้ไทยระยะนี้เป็นผลกระทบทางอ้อมมาด้าน Market Risk จากเหตุการณ์ที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯที่ปรับขึ้นเป็นหลัก แต่ภาพรวมด้าน Credit Risk ตลาดตราสารหนี้ไทย Credit Spread ยังอยู่ในระดับต่ำและคาดมีแนวโน้มทรงตัวในระยะข้างหน้า อัตราการผิดนัดชำระหนี้มีแนวโน้มลดลงจากผลของเศรษฐกิจที่ทยอยกลับมาฟื้นตัว
ด้วยทิศทางนโยบายการเงินไทยที่ต่างไป สนับสนุนให้การปรับขึ้นของ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยในปีหน้าจะอยู่ในกรอบแคบ โดยคาดผลตอบแทนที่ได้รับจากกองทุนตราสารหนี้ในปี 2565 จะสูงกว่าปี 2564 อย่างมีนัยยะ เนื่องจากเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรได้ปรับตัวขึ้นมาจากปี 2564 จนอยู่ในระดับที่น่าสนใจสำหรับการทยอยเข้าลงทุนได้
ท่านมีแนวทางในการพัฒนาจุดแข็งของทีมงานหรือกระบวนการคัดเลือกตราสารลงทุนให้ดียิ่งขึ้นอย่างไรในอนาคต
ทีมจัดการกองทุนหาช่องทางและเครื่องมือที่เหมาะสมเพื่อพัฒนากระบวนการวิเคราะห์และลงทุนให้ทันสมัย อย่างสม่ำเสมอ โดยการทำงานร่วมกันเป็นทีม เพื่อหาจุดบกพร่องไปปรับปรุง และเพิ่มเครื่องมือใหม่ในการประเมินคุณภาพของตราสารที่ลงทุน
โดยปัจจุบันเรื่องการผิดนัดชำระหนี้ บลจ.กสิกรไทย ใช้ทั้งการวิเคราะห์ในเชิง Qualitative และ Quantitative เพื่อวิเคราะห์ในเชิง Top-down และ Fundamental ของตราสาร เพื่อประเมินคุณภาพและมูลค่าที่เหมาะสมสำหรับการลงทุนในแต่ละสภาวะตลาด โดยมีการจำลอง sensitivity analysis ประกอบเพื่อประเมินโอกาสและความเสี่ยงในระยะข้างหน้า
เรื่องระดับ credit spread และ liquidity spread ที่เหมาะสมของตราสารหนี้เอกชน จะถูกประเมินด้วยหลายองค์ประกอบ ได้แก่ อันดับเครดิตในปัจจุบันและแนวโน้มในระยะ 6 เดือนข้างหน้า กลุ่มธุรกิจของผู้ออกตราสารหนี้ สภาพคล่องของตราสารหนี้ของผู้ออกในตลาดรอง
อย่างไรก็ดีจากแนวโน้มการลงทุนที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง นอกจากความสำคัญในเชิงพื้นฐานของตราสารแล้ว ยังต้องให้ความสำคัญกับการสร้างคุณค่าเพิ่มให้แก่ผู้เกี่ยวข้อง ในด้าน Environment Social and Governance (ESG) เรื่องการผิดนัดชำระหนี้ บลจ.กสิกรไทยจะวิเคราะห์และนำ ESG score เข้ามาใช้เสริมในการร่วมประเมินการคัดเลือกตราสารด้วย เพิ่มเติมจากวิเคราะห์ในเชิง Qualitative และ Quantitative
นอกจากนี้ บลจ.กสิกรไทยให้ความสำคัญมากขึ้นในการประเมินการหาแหล่งเงินทุนของผู้ออกตราสารหนี้ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่ติดหรือคาดว่าจะติด single lending limit (SLL) จากธนาคารพาณิชย์
ท่านมีคำแนะนำกับนักลงทุนสำหรับการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ไทยในปีนี้อย่างไรบ้าง
ปัจจัยความไม่แน่นอนหลายอย่างในระยะข้างหน้า อาทิเช่น ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ เป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยาก การกระจายความเสียงพอร์ตการลงทุนจึงเป็นเรื่องที่สำคัญสุดในช่วงเวลาเช่นนี้ กองทุนตราสารหนี้จึงถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจในการกระจายการลงทุนฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของ asset allocation
อย่างไรก็ดี นักลงทุนควรศึกษาและเลือกประเภทของกองทุนให้เหมาะสมกับความต้องการ โดย บลจ.กสิกรไทยมีความชัดเจนในการบริหารจัดการ แต่ละผลิตภัณฑ์ดังนี้
กองทุนตลาดเงิน/ตราสารหนี้ระยะสั้น (K-Cash, K-Money, K-SF, K-SFPLUS)
ผู้ถือหน่วยสามารถรับเงินได้ใน 1 วันทำการ เหมาะกับผู้ถือหน่วยที่ต้องการพักเงินในช่วงเวลาสั้นๆ หรือเพื่อเป็นสภาพคล่องทางการเงิน มุ่งเน้นผลตอบแทนสูงกว่าการฝากเงินออมทรัพย์ อายุเฉลี่ยของตราสารเคลื่อนไหวระหว่าง 0.25 – 1.0 ปี
กองทุนตราสารหนี้ทั่วไประยะกลาง-ยาว (KPlan1, KCB , K-Fixed) :
เหมาะกับผู้ถือหน่วยที่ต้องการลงทุนในระยะปานกลางถึงระยะยาวประมาณ 1 ปีขึ้นไป เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์สินที่ต้องการกระจายการลงทุน เน้นการลงทุนในตราสารหนี้ภายในประเทศ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่มีความมั่นคงสูง อายุเฉลี่ยของตราสารระหว่าง 1.5 – 3.5 ปี ไม่เหมาะเพื่อใช้พักสภาพคล่องระยะสั้น แต่เหมาะสำหรับนักลงทุนที่มีความประสงค์จะลงทุนในระยะกลางถึงยาว และสามารถรับความผันผวนของ NAV/unit ได้