เรามาทำความรู้จักกองทุนนี้ให้มากขึ้นผ่านบทสัมภาษณ์กันเลยค่ะ
ท่านคิดว่าปัจจัยใดที่ทำให้กองทุนของท่านประสบความสำเร็จในปีที่ผ่านมา
- การวิเคราะห์ปัจจัยเศรษฐกิจมหภาค: ปรัชญาการลงทุนหลักของเราเป็นการลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value Investing) กล่าวคือกลยุทธ์การลงทุนตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเปรียบเทียบมูลค่าที่แท้จริงที่ควรจะเป็นของเส้นอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้เทียบกับเส้นอัตราผลตอบแทนของตลาด รวมทั้งกระบวนการลงทุนที่มีวินัยอย่างสูง เพื่อลดอคติเชิงพฤติกรรมในการตัดสินใจลงทุน หลักการดังกล่าวส่งผลให้เราสามารถหลีกเลี่ยงการลงทุนในช่วงที่ Valuation แพงและเพิ่มการลงทุนในช่วงเวลาที่ Valuation น่าสนใจ อีกทั้งยังมีส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัย (Margin of Safety) ที่มากพอด้วย
- การวิเคราะห์รายบริษัท: บริษัทมีทีมนักวิเคราะห์ภายในผู้เชี่ยวชาญในการพิจารณาเครดิตทำหน้าที่ในการคัดเลือกบริษัทที่มีสถานะการเงินที่แข็งแกร่งและมีความสามารถทนทานผ่านช่วงเวลาที่เศรษฐกิจเลวร้ายได้ ทำให้เรามั่นใจได้ว่าพอร์ตการลงทุนในส่วนของเครดิตสามารถรับมือและก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากที่อาจจะมาถึงในอนาคตได้
- การคัดเลือกตราสาร: เรามุ่งเน้นไปที่การคัดเลือกหลักทรัพย์จากช่วงอายุที่ดีที่สุดของเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลและเส้นส่วนต่างอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นจากพันธบัตรรัฐบาล รวมทั้งคำนึงถึงปัจจัยด้านความเสี่ยงต่างๆมาประกอบในการตัดสินใจการลงทุน อาทิ การวิเคราะห์ส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวและพันธบัตรระยะสั้น (Term Premium Analysis) การวิเคราะห์ส่วนต่าง credit Spreads เมื่ออายุตราสารหนี้สั้นลง (Spread Rolldown Analysis) การวิเคราะห์ผลตอบแทนต่อหนึ่งหน่วยความเสี่ยง (Return-per-unit-of-risk Analysis) และการจัดสรรความเสี่ยงในพอร์ตการลงทุน (Risk Budgeting) ซึ่งการวิเคราะห์เหล่านี้นำมาสู่ผลตอบแทนปรับด้วยความเสี่ยงที่เหมาะสมที่สุด
- การเพิ่มประสิทธิภาพของต้นทุน: เราตระหนักอยู่เสมอว่าในทุกรายการซื้อขายหลักทรัพย์ของกองทุนมีต้นทุนที่ต้องจ่ายเพิ่มแฝงอยู่ด้วยเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะดอกเบี้ยต่ำ ต้นทุนเป็นสิ่งจำเป็นที่ไม่อาจมองข้ามไปได้ การบริหารสภาพคล่องอย่างมีประสิทธิภาพเป็นอีกหัวใจสำคัญที่ช่วยให้เราสามารถประหยัดต้นทุนและทำให้ได้มาซึ่งผลตอบแทนที่ดี
ท่านมีมุมมองต่ออัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันและการปรับอัตราดอกเบี้ยในปีนี้อย่างไร และจะส่งผลต่อการลงทุนของกองทุนอย่างไรบ้าง
สำหรับเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล ในระยะข้างหน้ามีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากแรงกดดันของเงินเฟ้อที่สูงขึ้นและความเสี่ยงเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ขณะที่เศรษฐกิจไทยคงยังต้องใช้เวลาอีกระยะกว่าจะสามารถฟื้นฟูกลับไปที่จุดเดิมก่อนเกิดการระบาดของไวรัสโควิด 19 เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่สามารถฟื้นตัวได้ดีกว่า ทำให้ธนาคารกลางในกลุ่มประเทศดังกล่าวเริ่มลดความผ่อนคลายทางนโนบายการเงินลง ด้วยเหตุนี้ทีมการลงทุนจะเน้นลงทุนในพันธบัตรระยะสั้นซึ่งมีการปรับตัวสอดคล้องกับระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยและในขณะเดียวกันเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่เกิดจากการปรับตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรในต่างประเทศ
สำหรับเส้นอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชน เรามีมุมมองเชิงบวกต่อตราสารหนี้เอกชนในประเทศจากการที่เศรษฐกิจไทยจะค่อยๆปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ดีในเชิง Valuation หากพิจารณาจากส่วนต่างอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นจากพันธบัตรรัฐบาล (Credit Spreads) ตราสารหนี้ภาคเอกชนในต่างประเทศมีความน่าสนใจมากขึ้นเมื่อเทียบกับตราสารหนี้ภาคเอกชนในประเทศ เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาส่วนต่างอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ภาคเอกชนในต่างประเทศมีการปรับตัวกว้างขึ้นจากท่าทีที่เข้มงวดมากขึ้นต่อนโยบายการเงินของเฟด ในขณะที่ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ภาคเอกชนในประเทศปรับตัวแคบลงอย่างต่อเนื่องในปีที่ผ่านมา ทีมการลงทุนยังคงคัดเลือกการลงทุนในตราสารหนี้อย่างระมัดระวังโดยหลีกเลี่ยงการลงทุนในตราสารหนี้ของบริษัทที่มีสถานะทางการเงินไม่แข็งแกร่งหรือมีความผันผวนในของกระแสเงินสดมากจนเกินไป
ท่านให้ความสำคัญกับอัตราดอกเบี้ย อันดับความน่าเชื่อถือของตราสาร หรือปัจจัยอื่นในการคัดเลือกตราสารก่อนตัดสินใจลงทุนอย่างไรบ้าง
ในการบริหารจัดการกองทุนทีมการลงทุนคำนึงถึงความเสี่ยงในหลายด้านด้วยกัน อย่างไรก็ดีความเสี่ยงที่มีความสำคัญอันดับต้นคือความเสี่ยงในเรื่องการผิดนัดชำระหนี้ เนื่องจากหากเกิดขึ้นจะส่งผลกระทบในเชิงลบค่อนข้างสูง ผู้ลงทุนในกองทุนตราสารหนี้โดยมากต้องการหลีกเลี่ยงความเสี่ยง (Risk Averse) และมุ่งหวังให้สามารถรักษาความปลอดภัยของเงินต้น (Capital Preservation) ซึ่งเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของสินทรัพย์ประเภทตราสารหนี้ ด้วยเหตุนี้ทีมจึงเข้มงวดในเรื่องของการวิเคราะห์คุณภาพเครดิตและลงทุนเฉพาะในบริษัทที่มีสภาพคล่องแข็งแกร่งและมีความเสี่ยงด้านการผิดชำระหนี้ต่ำ เพราะเราตระหนักว่าเราไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าวิกฤตครั้งถัดไปจะเกิดขึ้นเมื่อใด ทั้งนี้ตั้งแต่จัดตั้งกองทุนนี้มาจนถึงปัจจุบันกองทุนไม่เคยถือครองตราสารหนี้ที่มีปัญหาผิดนัดชำระหนี้เลย
นอกจากนี้ความเสี่ยงด้านสภาพคล่องเป็นอีกปัจจัยเสี่ยงสำคัญของกองทุนรวมตราสารหนี้ ที่โดยธรรมชาติจะมีอายุเฉลี่ยของสินทรัพย์และหนี้สินที่ไม่สอดคล้องกัน ยกตัวอย่างเช่นกองทุนลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาวผ่านตลาด OTC ในขณะที่เปิดให้ผู้ถือหน่วยสามารถส่งคำสั่งซื้อขายหน่วยได้ทุกวัน ในสถานการณ์ที่ตลาดมีปัญหาขาดสภาพคล่อง กองทุนอาจประสบปัญหาในเรื่องของความเชื่อมั่นจากนักลงทุนและนำไปสู่การขายหน่วยลงทุนด้วยความตื่นตระหนก (Panic Selling) ลักษณะเดียวกันกับสถานการณ์ที่ผู้ฝากเงินรีบไปถอนเงินออกจากธนาคารโดยเชื่อว่าธนาคารจะล้มละลาย (Bank Run) ทำให้ทีมการลงทุนของเราให้ความสำคัญในการจัดการความเสี่ยงด้านสภาพคล่องอย่างมากและได้กำหนดกฎเกณฑ์ด้านสภาพคล่องที่เข้มงวดเพื่อให้มั่นใจได้ว่ากองทุนจะมีสภาพคล่องที่เพียงพออยู่ตลอดเวลา ผนวกกับเครื่องมือบริหารสภาพคล่อง (Liquidity Risk Management Tools) ที่ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์กำลังนำออกมาใช้จะส่งผลให้กองทุนตราสารหนี้มีความแข็งแกร่งและต้านทานวิกฤตทางด้านสภาพคล่องไปข้างหน้าได้
สำหรับความเสี่ยงอื่นๆ อาทิ ความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ย ความเสี่ยงในการเปลี่ยนแปลงส่วนต่างด้านเครดิต และความเสี่ยงด้านตลาดอื่นๆ จะมีการควบคุมที่ระดับกองทุนเพื่อให้สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงที่ได้รับการจัดสรร (Risk Budget) โดยให้ความผันผวนของกองทุนอยู่ในระดับที่เหมาะสม นอกจากฝ่ายบริหารความเสี่ยงที่ทำหน้าที่ควบคุมระดับความเสี่ยงดังกล่าวข้างต้นอย่างเข้มงวดแล้ว ทีมการลงทุนยังนำปัจจัยเหล่านี้มารวมอยู่ในส่วนหนึ่งของขบวนการคำนวณหาสัดส่วนการลงทุนเพื่อให้ได้มาซึ่งผลตอบแทนที่สูงสุดเมื่อเทียบกับความเสี่ยงอีกด้วย
ท่านมีแนวทางในการพัฒนาจุดแข็งของทีมงานหรือกระบวนการคัดเลือกตราสารลงทุนให้ดียิ่งขึ้นอย่างไรในอนาคต
ทีมการลงทุนมีความเชื่อว่าการเรียนรู้อย่างไม่มีที่สิ้นสุดเป็นส่วนประกอบสำคัญในเส้นทางอาชีพของนักลงทุนมืออาชีพ โดยสนับสนุนและส่งเสริมให้สมาชิกในทีมแสวงหาและทำในสิ่งที่สนใจด้วยความเชื่อที่ว่าความหลากหลายในองค์ความรู้จะนำมาซึ่งการเสริมสร้างความคิดใหม่ๆ รวมทั้งเปิดโอกาสมีการอภิปรายถกเถียงกันในทีมอย่างมีประสิทธิภาพ ทีมของเรามุ่งมั่นที่จะพัฒนาตนเองอยู่เสมอเพื่อปรับตัวให้ทันต่อสภาวะการลงทุนที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา อาทิเช่น ในช่วงที่ผ่านมาเราเล็งเห็นถึงความสำคัญของการลงทุนแบบที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (Responsible Investing) ที่นอกจากจะสามารถสร้างมูลค่าพอร์ตการลงทุนที่ดีในระยะยาวแล้ว ยังเป็นแนวทางการลงทุนที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงเวลานี้หนึ่งในสมาชิกของทีมอยู่ในระหว่างการลาเพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาโทที่ต่างประเทศในสาขาวิชา Sustainable Finance ซึ่งเป็นหลักสูตรที่เน้นในเรื่อง ESG และจะกลับมาเข้าร่วมทีมอีกครั้งภายหลังจากสำเร็จการศึกษาในช่วงปลายปีนี้
ท่านมีคำแนะนำอย่างไรบ้างสำหรับนักลงทุนที่สนใจกองทุนตราสารหนี้ระยะกลาง-ยาว
กองทุน KKP Active Fixed Income Fund (KKP ACT FIXED) กองทุนมีนโยบายลงทุนเชิงรุกในตราสารหนี้ทั้งในและต่างประเทศ โดยลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐ ตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์หรือบริษัทเอกชน ที่มีปัจจัยพื้นฐานดี และมีฐานะทางการเงินดี โดยผู้จัดการกองทุนจะพิจารณาทั้งสภาพคล่องระยะสั้น (Liquidity) และเสถียรภาพทางการเงินระยะยาว (Solvency) ประกอบกันด้วย ทั้งนี้ กลยุทธ์การลงทุนในปัจจุบันเน้นการบริหารจัดการแบบ Dynamic ทั้งในด้าน Government Duration และ Credit Spread Duration ผ่านการวิเคราะห์แบบ Top-down และวิเคราะห์ตราสารหนี้แบบเข้มข้นบนหลักการการวิเคราะห์แบบ Bottom-up โดยกลยุทธ์การลงทุนในปัจจุบันมีเป้าหมายอายุเฉลี่ยของทรัพย์สินที่ลงทุนประมาณ 1-3 ปี
กองทุนเหมาะกับผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ในระดับปานกลางค่อนข้างต่ำที่ต้องการกระจายเงินมาลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ โดยผู้ลงทุนสามารถรับความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาที่สูงกว่ากองทุนรวมตลาดเงิน และสามารถลงทุนได้ในระยะกลางถึงยาว