ESG Risk Rating โดย Sustainalytics

ทำความรู้จัก ESG Risk Rating สำหรับหุ้นรายตัวที่มีการประเมินโดย Sustainalytics

Morningstar 10/03/2565
Facebook Twitter LinkedIn

Sustainalytics เป็นผู้นำการวิจัยด้านความยั่งยืนในระดับโลกด้วยประสบการณ์เกือบ 30 ปี โดยให้บริการข้อมูลที่เกี่ยวกับ ESG เช่น ESG Risk Ratings, Carbon Risk Ratings, Product Involvement Research, Index Services ไปจนถึงข้อมูลสำหรับผู้ออกตราสาร โดยในบทความนี้จะเป็นการอธิบายวิธีการประเมิน ESG Risk Rating ที่เป็นเรตติ้งในระดับหุ้นรายตัว ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญที่นำไปใช้ในการคำนวณ Morningstar Sustainability Rating ซึ่งเป็นเรตติ้งระดับกองทุน

ESG Risk Rating ครอบคลุมมากกว่า 13,000 บริษัททั่วโลก

ESG Risk Rating เป็นหนึ่งในข้อมูลจากการวิจัยด้านความยั่งยืนที่ปัจจุบันครอบคลุมมากกว่า 13,000 บริษัททั่วโลก โดยเป็นการวัด unmanaged ESG risk ของแต่ละบริษัท หลักการของ ESG Risk Rating ประกอบด้วย 2 มิติหลักคือ 1) risk exposure หรือความเสี่ยงด้าน ESG ที่เกี่ยวข้อง/มีนัยสำคัญกับแต่ละบริษัท (MEI: Material ESG issues) และ 2) risk management โดยเป็นการวัดผลว่ามีการจัดการความเสี่ยงเหล่านั้นอย่างไร และผลการวิเคราะห์สามารถนำไปใช้เปรียบเทียบกันได้ทั้งหมดโดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นการเปรียบเทียบเฉพาะกับธุรกิจที่คล้ายกันเท่านั้น

1

ฉะนั้นโดยปกติแล้วธุรกิจที่มี Risk exposure ด้าน ESG สูงกว่ามักจะมีค่า ESG Risk Rating ที่สูงกว่าธุรกิจที่มี Risk Exposure ต่ำ (ESG Risk Rating เป็นค่า “ความเสี่ยง” ทำให้ค่ายิ่งต่ำจะยิ่งดี) ยกตัวอย่าง เช่น บริษัทด้านพลังงานจะมีความเสี่ยงเกี่ยวกับผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมสูงโดยธรรมชาติและหลีกเลี่ยงได้ยาก ประกอบกับความเสี่ยงอื่นที่อาจคล้ายกับธุรกิจทั่วไปเช่น ธรรมาภิบาลและบุคคลากร ทำให้โดยรวมมี MEI หลายด้านมากกว่าตั้งแต่เริ่มต้น และ ESG Risk Rating โดยเฉลี่ยที่สูงกว่าธุรกิจด้านการเงิน หรือผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ เป็นต้น

การประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง หรือ Risk exposure

จากข้างต้นจะเห็นว่าวิธีการประเมิน ESG Risk Rating เริ่มจาก Total exposure หรือความเสี่ยง ESG ของธุรกิจนั้น ๆ ว่ามีอะไรบ้าง โดยแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมก็จะมีประเด็นความเสี่ยงแตกต่างกันไป และหากดูในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน บริษัทเหล่านั้นอาจมีค่า risk exposure แต่ละประเด็นไม่เท่ากันได้โดยจะมีการใช้ค่า issue beta ในการปรับให้มีความเฉพาะเจาะจงกับแต่ละบริษัทมากขึ้น โดยค่า beta นี่จะมีการประเมินโดยใช้ปัจจัยหลัก 4 ข้อคือ 1) Product & Production ซึ่งหมายถึงลักษณะของผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการผลิต, 2) Financials ความแข็งแกร่งของฐานะการเงินบริษัท, 3) Events เหตุการณ์สำคัญ, 4) Geographic ที่ตั้งหรือแหล่งที่มาของรายได้

การจัดการความเสี่ยง ESG

ในส่วนของการจัดการความเสี่ยงนั้นจะถูกแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ 1) manageable risk คือความเสี่ยงที่บริษัทสามารถจัดการ/ควบคุมได้จากนโยบายของบริษัทเอง โดยในส่วนที่ไม่มีนโยบายจัดการนั้นจะถูกเรียกว่า management gap ที่จะกลายเป็น unmanaged risk โดยจะนำไปรวมกับส่วนถัดไปคือ 2) unmanageable risk หมายถึง ส่วนของความเสี่ยงที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากกระบวนการทำธุรกิจ

การจัดการความเสี่ยงสามารถวัดได้จากกิจกรรมหรือนโยบายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ยกตัวอย่างเช่น ประเด็นความเสี่ยงด้านการปล่อยก๊าซหรือของเสียสู่ธรรมชาติ จะเป็นการประเมินว่าบริษัทมีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องและครอบคลุมมากน้อยเพียงใด มีการประเมินติดตามผลจากนโยบายเหล่านั้นหรือไม่ เป็นต้น

ESG Risk Rating จะอยู่ในช่วงระหว่าง 0 ถึง 100 โดยค่าต่ำแสดงถึงความเสี่ยง ESG ที่ต่ำ โดยมีการแบ่งออกเป็น 5 ระดับคือ Negligible, Low, Medium, High, Severe

2

แหล่งที่มาของข้อมูลและรอบการประเมิน

ข้อมูลที่ Sustainalytics นำมาใช้ได้การประเมิน ESG Risk Rating นั้นเป็นข้อมูลที่มีการเปิดเผยสู่สาธารณะ เช่น รายงานประจำปี รายงานด้านความยั่งยืน เป็นต้น รวมทั้งจะมีการแจ้งให้บริษัททราบถึงการประเมิน ESG Risk Rating เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันหรือผู้ถูกประเมินอาจมีการแสดงข้อมูลเพิ่มเติมหรืออัพเดทจากการเปิดเผยข้อมูลล่าสุดได้ ทั้งนี้ ESG Risk Rating จะมีการประเมินในรายปี แต่หากเกิดเหตุการณ์สำคัญระหว่างรอบปีก็อาจส่งผลต่อ ESG Risk Rating ได้ในกรณีที่เหตุการณ์นั้นถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่จะก่อให้เกิดผลกระทบระดับสูง

ปัจจุบันมีหุ้นไทยจำนวนกว่า 130 ตัวที่มี ESG Risk Rating โดยผู้ลงทุนสามารถดูข้อมูลแต่ละบริษัทในเบื้องต้นได้ที่ https://www.sustainalytics.com/esg-ratings

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar