กองทุนรวมต่างประเทศ (ไม่รวม Term Fund) มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.2% จากไตรมาสที่ 3 หรือ 37.0% จากธันวาคม 2020 โดยไตรมาสสุดท้ายมีเงินไหลเข้าอีก 5.4 หมื่นล้านบาท รวมทั้งปีเป็นเงินไหลเข้า 3.0 แสนล้านบาท เกือบทั้งหมดเป็นเงินจากกองทุนตราสารทุน
กลุ่มกองทุนตราสารทุนมีเงินไหลเข้าสูงสุด 6.4 หมื่นล้านบาทในไตรมาสสุดท้าย รวมทั้งปีเป็นมูลค่า 3.0 แสนล้านบาท มูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 8.7 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 76% ของกองทุนรวมต่างประเทศที่ไม่รวม term fund ขณะที่กองทุนตราสารหนี้มีเงินไหลออก 2.9 พันล้านบาทในไตรมาสสุดท้าย รวมทั้งปีมีเงินไหลออกสูงสุด 1.9 หมื่นล้านบาท มูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 9.4 หมื่นล้านบาท หรือเท่ากับส่วนแบ่งตลาด 8% กองทุนผสมมีเงินไหลเข้าสุทธิในไตรมาสสุดท้าย 7.7 พันล้านบาท รวมเป็นเงินไหลเข้า 8.0 พันล้านบาทในรอบปี 2021 มูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 9.6 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.5% จากธันวาคม 2020
กองทุนกลุ่ม Global Equity ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายไตรมาสที่ผ่านมา โดยล่าสุดมูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 2.2 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบ 16% จากไตรมาสก่อนหน้า และ 92.0% จากปี 2020 โดยมีเงินไหลเข้า 2.8 หมื่นล้านบาท รวมทั้งปีไหลเข้าสุทธิสะสม 9.4 หมื่นล้านบาท กองทุน MFC Sustained Competitive Edge เป็นกองทุนเปิดใหม่และมีเงินไหลเข้าสูงสุดในไตรมาสสุดท้ายที่ 3.5 พันล้านบาท
บลจ. Baillie Gifford เป็นบลจ. Master fund ที่มีกองทุนกลุ่ม Global equity ลงทุนสูงเป็นอันดับ 2 feed ไปที่กองทุน Baillie Gifford Positive Change โดย บลจ.กสิกรไทย นอกจากนี้ยังมีกองทุน Baillie Gifford Worldwide Discovery และ Baillie Gifford Worldwide Long Term Global Growth ที่ลงทุนผ่านกองทุนจากบลจ.วรรณ และบลจ.กรุงศรี (เฉพาะกองทุน Baillie Gifford Worldwide Long Term Global Growth) โดยทั้ง 3 กองทุนมีผลตอบแทนสูงถึง 80%-100% ในรอบปี 2020 อย่างไรก็ดีด้วยสภาวะการลงทุนที่เปลี่ยนแปลงทำให้ผลตอบแทนในปีที่ผ่านมาค่อนข้างต่างไปจากปีก่อน
ด้านกองทุนหุ้นจีนมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนเล็กน้อย แต่ยังเติบโตได้ดีจากปี 2020 ที่ 45.8% ไปอยู่ที่ 1.7 แสนล้านบาท ไตรมาสสุดท้ายของปียังคงมีเงินไหลเข้าสุทธิ 6.8 พันล้านบาทแม้ว่าจะอยู่ที่ช่วงที่มีผลตอบแทนติดลบ รวมเงินไหลเข้าสุทธิรอบปีนี้ 8.4 หมื่นล้านบาท และยังคงเป็นกลุ่มที่มีผลตอบแทนเฉลี่ยแย่ที่สุดของปีที่ -12.9%
บลจ. UBS เป็นบลจ. Master fund ที่มีกองทุนกลุ่ม China equity ลงทุนสูงสุด โดยมีการลงทุนส่วนมากไปที่กองทุน UBS (Lux) Investment China A Opportunity IA2 Acc USD (Morningstar Analyst Rating: Gold) ตามมาด้วยบลจ. JP Morgan ที่มีการลงทุนโดย บลจ. กสิกรไทย เพียง บลจ. เดียวไปที่กองทุน JPM China I (acc) (Morningstar Analyst Rating: Silver) ซึ่งมีการลงทุนทั้งตลาดจีนและฮ่องกง และอันดับ 3 คือบลจ. Allianz ที่มีการลงทุนหุ้น A Shares เป็นหลักคือกองทุน Allianz China A Shares PT USD โดยทั้ง 3 กองทุนต่างมีผลตอบแทนติดลบที่เป็นผลจากกฎเกณฑ์จากทางการจีนในไตรมาสที่ 3 อย่างไรก็ดีกองทุนจาก UBS และ Allianz ที่เน้นลงทุนหุ้น A Shares มีผลตอบแทนที่กลับมาเป็นบวกในไตรมาสสุดท้ายของปี ในขณะที่กองทุนจาก JPMorgan มีผลตอบแทนที่ -5.6% ในช่วงเวลาเดียวกัน
กองทุน Global Health Care มีเงินไหลเข้าสูงเป็นอันดับ 3 ในรอบปีที่มูลค่า 3.2 หมื่นล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นเงินไหลเข้าไตรมาสแรก มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 6.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นกองทุนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีมูลค่าทรัพย์สินเติบโตได้ดีในปีที่ผ่านมาหรือราว 80% จากปี 2020
กองทุนกลุ่ม Global Health Care มีการลงทุนแบบกองทุนฟีดเดอร์ไปที่กองทุนจากบลจ. JPMorgan สูงสุด 1.8 หมื่นล้านบาท เป็นการลงทุนจากบลจ. กสิกรไทยและบลจ. กรุงศรีมูลค่าใกล้เคียงกัน ไปที่กองทุน JPM Global Healthcare มีผลตอบแทนเฉลี่ยราว 11% ด้วยมอร์นิ่งสตาร์เรตติ้งระดับ 4-5 ดาวใน 3 ชนิดหน่วยลงทุน กองทุนจากบลจ. Wellington มีการลงทุนจาก บลจ. บัวหลวง รวมราว 1.5 หมื่นล้านบาท ไปที่กองทุน Wellington Global Healthcare Equity มีผลตอบแทนอยู่ที่ 1.8% ในปีที่ผ่านมา (มอร์นิ่งสตาร์เรตติ้งระดับ 4 ดาว) กองทุน Janus Henderson Global Life Science เป็นกองทุน 5 ดาวที่มีการลงทุนจาก บลจ.ไทยหลายรายรวมกันเป็นมูลค่า 6.3 พันล้านบาท โดยในปีที่ผ่านมามีผลตอบแทนลดลงจากปีก่อนเช่นกัน โดยอยู่ที่ 5.6%
จากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นเพื่อรับกับเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวทำให้มีแรงกดดันต่อการลงทุนตราสารหนี้เช่นกลุ่ม Global Bond ที่มีผลตอบแทนช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา -0.6% และมีมูลค่าทรัพย์สินลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดอยู่ที่ 8.2 หมื่นล้านบาท หดตัวลง 22.8% จากปี 2020 ซึ่งเกิดจากเงินไหลออกสุทธิทุกเดือนตลอดทั้งปีที่ผ่านมา รวมมูลค่า 2.6 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเงินไหลออกจากบลจ.ทหารไทย 9.0 พันล้านบาท
กองทุนกลุ่ม Country Focus Equity เป็นกลุ่มที่รวบรวมกองทุนที่ลงทุนแบบเฉพาะเจาะจงในตลาดหุ้นประเทศใด ๆ เช่น เกาหลีใต้ เยอรมนี และเวียดนาม ซึ่งเป็นกองทุนที่ยังมีจำนวนกองทุนไม่มากพอที่จะจัดตั้งกลุ่ม อย่างไรก็ดีในไตรมาสล่าสุดกองทุนกลุ่มนี้มีเม็ดเงินไหลเข้าสุทธิเกือบ 8 พันล้านบาท สะสมทั้งปีที่ 1.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งเกิดจากเงินไหลเข้าในกองทุนหุ้นเวียดนามเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังที่กองทุนหุ้นเวียดนามกลับมาได้รับความสนใจมากขึ้น รวมทั้งมีการเปิดกองทุนทั้งจากบลจ.บัวหลวง บลจ.แลนด์แอนด์เฮ้าส์ และบลจ.วรรณ ทั้งนี้ทางมอร์นิ่งสตาร์จะมีการจัดตั้งกลุ่มสำหรับกองทุนหุ้นเวียดนามซึ่งจะมีผลในช่วงปลายเดือนเมษายนเป็นต้นไป