จำนวนกองทุนยั่งยืนทั่วโลกมีการเติบโตขึ้นถึง 51% ในไตรมาสที่ 3 หรือรวมมากกว่า 7,000 กองทุน โดยการเติบโตนี้มีสาเหตุหลักมาจากกองทุนในยุโรปเข้าเกณฑ์ “กองทุนยั่งยืน” ของมอร์นิ่งสตาร์ในจำนวนมากขึ้นจากการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นไปตามเกณฑ์ SFDR ขณะเดียวกันในทวีปอื่นก็ยังมีการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการลงทุนแม้จะชะลอตัวลง
กองทุนยั่งยืนทั่วโลกมีมูลค่าทรัพย์สินรวมอยู่ที่ 3.9 ล้านล้านดอลลาร์ โดยการเพิ่มขึ้นของกองทุนในยุโรปทำให้มีส่วนแบ่งตลาดที่ 88% (จากช่วงก่อนมีการบังคับใช้เกณฑ์ SFDR ที่ 82%) เม็ดเงินการลงทุนยั่งยืนทั่วโลกเป็นเงินไหลเข้า 1.3 แสนล้านดอลลาร์ในไตรมาสที่ 3 ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วแต่น้อยกว่าไตรมาสที่ 2 ราว 15% ซึ่งการชะลอตัวลงของเงินไหลเข้านี้มาจากทางยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่มีเม็ดเงินไหลเข้าน้อยลง
กองทุนในยุโรปมีการปรับกลยุทธ์หลังบังคับใช้เกณฑ์ SFDR
หลังจากการเริ่มใช้เกณฑ์ SFDR ในเดือนมีนาคมของปีนี้ ทำให้การเปิดเผยข้อมูล ESG ของกองทุนนั้นสูงขึ้นทั้งคุณภาพและปริมาณ ส่งผลให้บริษัทจัดการกองทุนหลายแห่งใช้โอกาสนี้ในการปรับกลยุทธ์กองทุนเช่น นำเกณฑ์เกี่ยวกับ ESG มาปรับใช้ในกองทุน เพิ่มเกณฑ์ exclusion หรือการเลือกที่จะไม่ลงทุนในธุรกิจบางประเภท ปรับกลยุทธ์ไปเป็นกองทุน ESG ไปจนถึงการ rebrand กองทุน เป็นต้น ยกตัวอย่างเช่นกองทุน AXA Framlington European Fund ได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็นกองทุน AXA ACT Framlington Clean Economy Fund และกลายเป็นกองทุน Article 9 ในช่วงเดือนสิงหาคม โดยมีวัตถุประสงค์การลงทุนเพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งสอดคล้องกับ UNSDG
เกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนอย่างยั่งยืนในยุโรปนั้นยังคงมีการปรับและพัฒนาให้สมบูรณ์มากขึ้น ที่ส่งผลให้ประเทศอื่น ๆ มีการเปลี่ยนแปลงด้วย เช่นกระทรวงแรงงานในสหรัฐเสนอกฎใหม่ที่จะทำให้นายจ้างสามารถเสนอแผนการลงทุนเพื่อการเกษียณสำหรับลูกจ้างที่นำข้อมูลด้าน ESG มาร่วมพิจารณาการลงทุนได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้สำนักงาน ก.ล.ต. ของสหรัฐได้มีความพยายามปรับเกณฑ์การรายงานในด้านของผู้ออกตราสาร เพื่อให้มีการเปิดเผยข้อมูล climate change ที่น่าเชื่อถือและเปรียบเทียบกันได้ โดยได้มีการปิดรับฟังความเห็นเมื่อกลางปีที่ผ่านมาและคาดว่าจะมีข้อมูลเพิ่มเติมในปีนี้
กองทุนยั่งยืนในประเทศไทย
การลงทุนอย่างยั่งยืนในประเทศไทยมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 5.4 หมื่นล้านบาท ลดลง 2.6% จากไตรมาสที่ 2 โดยในไตรมาสล่าสุดนี้มีการเปิดขายกองทุนใหม่อีก 8 กองทุน และทั้งหมดเป็นการลงทุนต่างประเทศ ในจำนวนนี้มี 2 กองทุนที่มีมูลค่า IPO ที่ระดับพันล้านคือกองทุน BCAP Clean Innovation ที่เป็นการลงทุนแบบกองทุนรวมหน่วยลงทุน และกองทุน Krungsri Equity Sustainable Global Growth เป็นกองทุนฟีดเดอร์ไปลงทุนที่ AB Sustainable Global Thematic Portfolio ซึ่งมีการระบุว่าเป็นกองทุน Article 9 ตามเกณฑ์ SFDR ของทางยุโรป ที่หมายถึงกองทุนมีเป้าหมายด้านความยั่งยืนเป็นวัตถุประสงค์การลงทุน กองทุนมาสเตอร์ดังกล่าวได้รับการจัด Morningstar Sustainability Rating ระดับ 5 globe นอกจากนี้กองทุนเปิดใหม่กองอื่นก็มีการลงทุนในกองทุน Article 8 หรือ Article 9 เช่นกัน
ปัจจุบันมีกองทุนฟีดเดอร์จำนวน 35 กอง (นับทุกชนิดหน่วยลงทุน) ที่ลงทุนในกองทุน Article 8 หรือ 9 ตามเกณฑ์ SFDR ซึ่ง Article 8 นั้นหมายถึงกองทุนที่ “promote” การลงทุนเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและสังคม ในขณะ Article 9 มีนโยบายว่าเป็นการลงทุนอย่างยั่งยืนอย่างที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ โดยกองทุนมาสเตอร์ฟันด์เหล่านี้ส่วนใหญ่ได้ Morningstar Sustainability Rating ระดับ 3 globe ขึ้นไป แสดงถึงกองทุนมีความเสี่ยง ESG ที่อยู่ในระดับกลางถึงต่ำ