ประเด็นเรื่องเพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐได้ถูกหยิบมาพูดถึงอีกครั้งหนึ่ง หลังจากมีความกังวลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาล การปิดทำการชั่วคราวของหน่วยงานกลางสหรัฐ รวมทั้งผลกระทบต่อเสถียรภาพต่อเศรษฐกิจและระบบการเงิน ซึ่งความจริงแล้วประเด็นเรื่องเพดานหนี้ของสหรัฐนั้นเคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งในอดีต อย่างเช่นในเดือนตุลาคมปี 2013 ที่รัฐบาลกลางสหรัฐต้องปิดทำการชั่วคราวไปถึง 16 วัน แต่ก็ไม่ได้มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นในตลาดมากนักในช่วงเวลาดังกล่าว ยกเว้นเหตุการณ์ในช่วงเดือนสิงหาคมปี 2011 ที่ประเด็นเรื่องหนี้สาธารณะทำให้สหรัฐถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อของประเทศลง และเกิดผลกระทบต่อตลาดหุ้นและตราสารหนี้ในช่วงนั้นอย่างมาก
ปัจจุบันแม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะค่อยๆฟื้นตัวจากสถานการณ์ระบาดของโควิดท่ามกลางการเพิ่มขึ้นของการแพร่ระบาดในสายพันธุ์เดลต้า รวมถึงความกังวลต่ออัตราเงินเฟ้อที่มากขึ้นก็ตาม แต่ราคาหุ้นในสหรัฐกลับปรับเพิ่มขึ้นทำระดับสูงสุดใหม่อย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ประเด็นเรื่องหนี้สาธารณะของสหรัฐนั้น หากไม่ปรับเพิ่มเพดานการก่อหนี้ก็อาจทำให้รัฐบาลสหรัฐผิดนัดชำระหนี้เงินกู้ภายในเร็วๆนี้เนื่องจากไม่สามารถขอกู้ยืมเงินมาจ่ายคืนหนี้เดิม ซึ่งจะส่งผลเสียหายต่อความมั่นใจของนักลงทุนในตลาดการเงินได้
หากย้อนหลังไปดูเหตุการณ์ในอดีตที่สหรัฐต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องเพดานหนี้รวมถึงการปิดหน่วยงานรัฐชั่วคราว (Government-shutdown) พบว่าโดยรวมแล้วไม่มีผลต่อตลาดหุ้นมากนักในช่วงดังกล่าว
หากดูที่ปี 2013 ในช่วงที่ไม่สามารถตกลงเรื่องเพดานหนี้ได้ทันกำหนดในวันที่ 1 ตุลาคมจนกระทั่งต้องปิดหน่วยงานรัฐเป็นการชั่วคราวตั้งแต่ 1 -17 ตุลาคม จะพบว่าราคาหุ้นได้ปรับลดลงในช่วงดังกล่าวและปรับเพิ่มขึ้นก่อนที่การเจรจาหาทางออกได้เสร็จสิ้นในวันที่ 17 ตุลาคม
ขณะที่ในช่วงปี 2011 หลังจากที่เพิ่งผ่านเรื่องความกังวล Debt crisis ใน eurozone มาไม่นาน พอมีความกังวลเรื่องเพดานหนี้ของสหรัฐทำให้ตลาดหุ้นปรับลงแล้วกว่า 6% และหลังจากที่สหรัฐถูก S&P ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลงซึ่งเป็นผลมาจากทั้งประเด็นเรื่องการเมืองและการขาดดุลงบประมาณอย่างมากในช่วงดังกล่าว ก็ทำให้ตลาดหุ้นปรับลงอีกกว่า 6% ทั้งนี้ การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของ S&P เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงมุมมองต่อเสถียรภาพและการกําหนดนโยบายของรัฐบาลสหรัฐในช่วงที่เศรษฐกิจที่อ่อนแอ