คำว่า เกษียณ เป็นคำที่เราคุ้นเคยและรับรู้ได้ง่าย แต่อาจเป็นการยากที่จะให้คำจำกัดความ แม้แต่นักวิจัยในสายงานนี้มาอย่างยาวนานยังหาความหมายที่เป็นสากลสำหรับทุกกลุ่ม แต่ก็อาจมีความหมายแบบง่าย ๆ คือ อายุที่บุคคลหนึ่งจะออกจากการทำงาน เริ่มใช้สิทธิ์ประกันสังคมและเข้าถึงเงินออมเพื่อการเกษียณโดยไม่มีผลเสียใด
ขณะเดียวกันมีงานวิจัยที่แสดงมุมมองเกี่ยวกับการเกษียณไว้ 3 ข้อ โดยการเกษียณคือ
1) กระบวนการตัดสินใจ ที่เป็นผลมาจากหลายปัจจัยเช่น สุขภาพทางการเงินและสังคม
2) ความเปลี่ยนแปลง โดยการเกษียณเมื่อไหร่และอย่างไรนั้นมีบทบาทสำคัญกับชีวิตวัยเกษียณมากกว่าเพียงการตัดสินใจเกษียณอายุการทำงาน
3) อีกช่วงอายุที่มีการพัฒนาความสามารถที่อาจเปิดโอกาสในอาชีพหรือความสนใจใหม่ ๆ
แต่คำถามคือ แล้วความหมายของวัยเกษียณของแต่ละบุคคลคืออะไร? ซึ่งแน่นอนว่ามีความแตกต่างกันไป โดยผู้ทำการวิจัยของมอร์นิ่งสตาร์ได้ลองให้กลุ่มตัวอย่างนึกถึง 3 คำแรกที่คิดขึ้นมาเมื่อพูดถึงการเกษียณ แล้วนำคำตอบเหล่านั้นมาสร้าง word cloud เพื่อให้มีการเปรียบเทียบว่าในกลุ่มคนนั้นมีการนึกถึงคำว่าอะไรและมากน้อยเพียงใดเมื่อเทียบกับคำตอบอื่น โดยงานวิจัยแบ่งกลุ่มตัวอย่างตามช่วงวัยเพื่อเปรียบเทียบมุมมองการเกษียณของคนที่ใกล้วัยเกษียณและคนหนุ่มสาวหรือกลุ่ม Gen Z
(หมายเหตุ: งานวิจัยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มโดยใช้กลุ่มตัวอย่างชาวอเมริกัน โดยกลุ่มใหญ่กลุ่มแรกคือช่วงอายุ 18-25 ปี และกลุ่มที่สองเป็นกลุ่มเล็กจำนวน 162 คนที่มีอายุมากกว่า 50 ปี โดยทุกกลุ่มตัวอย่างมีคำตอบรวม 1,680 คำ และมีการจัดกลุ่มคำที่มีความหมายเดียวกันเช่นคำว่า relax จะมาจากคำตอบทั้งคำว่า relax และ relaxation)
กลุ่ม Gen Z มองวัยเกษียณอย่างไร?
ภาพด้านล่างเป็นการแสดงให้เห็นว่าคนหนุ่มสาวคิดถึงอะไรเมื่อพูดถึงวัยเกษียณ สังเกตุได้ว่าคำที่อยู่ตรงกลางไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเกษียณเท่าใดนัก ซึ่งดูเหมือนว่าคอนเซ็ปของเการเกษียณสำหรับกลุ่มนี้จะมากับอายุที่มากขึ้นเป็นอันดับแรก ตามมาด้วยการผ่อนคลาย (relaxation) นอกจากนี้ยังมีเรื่องอื่น ๆ อีกเช่น อิสรภาพ การท่องเที่ยว เป็นต้น ซึ่งเป็นที่น่าสนใจว่ามีมุมมองแง่ลบเกี่ยวกับการเกษียณเพียงเล็กน้อยสำหรับคนกลุ่มนี้ เช่น มีความกลัว หรือความเบื่อเมื่อไม่ได้ทำงาน และแน่นอนว่าเรื่องเงินทองก็ยังเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญ ทำให้มีคำว่า เงิน และการออมอยู่ในภาพด้านล่างด้วย
มุมมองของคนวัยใกล้เกษียณหรือเกษียณ
ในกลุ่มที่ 2 นี้จะเป็นการดูมุมมองของกลุ่มคนอายุ 50 ขึ้นไป โดยคำว่า relax ปรากฏอยู่ตรงกลาง และไม่ได้นึกถึงอายุหรือความชรามากเท่ากลุ่มแรก แสดงให้เห็นว่าคนกลุ่มนี้มองเกษียณเป็นความพอใจหรือความสุขมากกว่าจากคำว่า ท่องเที่ยว พักผ่อน อิสรภาพ ครอบครัว เป็นต้น
นอกจากนี้เมื่อเจาะกลุ่มที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปก็จะพบข้อมูลเดียวกันคือไม่ได้นึกถึงอายุเมื่อพูดถึงการเกษียณ แต่นึกถึงการท่องเที่ยว ผ่อนคลาย และความสุข ในขณะที่มุมมองด้านลบนั้นมีความสำคัญน้อยกว่ากลุ่ม Gen Zค่อนข้างมาก
บทสรุปสำคัญจากงานวิจัยนี้อาจเป็นการบอกว่า การเกษียณมีความหมายแตกต่างกันไปแต่ละบุคคล ฉะนั้นโจทย์สำคัญคือแต่ละคนจะต้องรู้ตัวก่อนว่ามีมุมมองต่อการเกษียณอย่างไร หากมีมุมมองที่เปลี่ยนไปก็นำไปสู่การปรับแผนการเงินด้วยเช่นกัน ดังที่กลุ่มตัวอย่างวัยหนุ่มสาวมองว่าการเกษียณนั้นมีความน่าเบื่อ แต่ไม่ปรากฏอยู่ในกลุ่มที่อายุมากกว่า อีกข้อสำคัญคือกลุ่มคนส่วนใหญ่มองการเกษียณคือการมีอิสรภาพ ทั้งจากการมีเวลามากขึ้นเพื่อทำกิจกรรมหรืออาชีพที่สนใจ หรือเพื่อการพักผ่อนท่องเที่ยว ซึ่งล้วนเป็นรูปแบบของความสุขที่การวางแผนการเงินที่ดีจะเป็นส่วนสำคัญให้ไปถึงความสุขนั้นได้