การลงทุนอย่างยั่งยืนเป็นที่กล่าวถึงและได้รับความสนใจมากขึ้น เห็นได้จากเม็ดเงินการลงทุนที่กำลังเติบโต รวมทั้งความมุ่งมั่นจากทางภาครรัฐและเอกชนทั่วโลกที่หันมาตระหนักถึงความสำคัญของความยั่งยืนในการลงทุน ไปจนถึงการออกเกณฑ์โดยหน่วยงานกำกับดูแลที่เข้ามามีส่วนส่งเสริมให้ Sustainable Investing ยังคงมีศักยภาพการเติบโตได้
มอร์นิ่งสตาร์กำหนดให้ “การลงทุนอย่างยั่งยืน” เป็นการลงทุนที่เน้นในเรื่องของความยั่งยืน การสร้างผลกระทบ และ ESG ซึ่งต้องมีการระบุอยู่ในหนังสือชี้ชวนกองทุนหรือเอกสารอื่นใดที่ได้รับการกำกับดูแล ทั้งนี้การลงทุนอย่างยั่งยืนสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ “ESG Fund” ซึ่งเป็นกลุ่มที่กองทุนใช้ปัจจัยด้าน ESG ในการคัดเลือกตราสารลงทุน “Impact Fund” จะเป็นการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนต่อประเด็นต่าง ๆ เช่น เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน เพื่อความหลากหลายและเท่าเทียมทางเพศ เป็นต้น และสุดท้ายคือ “Environmental Sector Fund” ที่เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เช่น พลังงานหมุนเวียน
ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้มูลค่าการลงทุนอย่างยั่งยืนทั่วโลกสูงขึ้นเข้าใกล้ระดับ 2 ล้านล้านดอลลาร์ โดยมูลค่าการลงทุนส่วนใหญ่ยังอยู่ที่ยุโรปราว 1.6 ล้านล้านดอลลาร์หรือเกือบ 82% ของทั่วโลก ขณะที่สหรัฐอเมริกาเป็นตลาดใหญ่อันดับ 2 ด้วยมูลค่ารวม 2.7 แสนล้านดอลลาร์หรือ 13% ของทั่วโลก ด้านญี่ปุ่นถือเป็นผู้นำด้านการลงทุนอย่างยั่งยืนฝั่งเอเชียจากมูลค่าการลงทุนรวม 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์ คิดเป็น 1% ของทั่วโลก
หากมองในภาพระยะยาวจะพบว่ากองทุนยั่งยืนมีมูลค่าทรัพย์สินไต่ระดับขึ้นมาเรื่อย ๆ โดยเคยอยู่ที่ระดับ 6 แสนล้านดอลลาร์เมื่อปี 2018 มาอยู่ที่เกือบ 2 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการเติบโตที่รวดเร็วมากในระยะ 3 ปี ซึ่งมาจากการเติบโตในยุโรปเป็นหลัก สะท้อนว่าภูมิภาคอื่นทั่วโลก็ยังมีศักยภาพการเติบโตได้อีกมาก
(หมายเหตุ ข้อมูลข้างต้นไม่รวมกองทุนตราสารตลาดเงิน ฟีดเดอร์ฟันด์และกองทุนรวมหน่วยลงทุน)
การลงทุนอย่างยั่งยืนถือว่ายังเป็นเรื่องใหม่สำหรับผู้ลงทุนส่วนใหญ่ในประเทศไทย ปัจจุบันมีทั้งการลงทุนในประเทศและต่างประเทศ โดย ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2021 มูลค่ากองทุนยั่งยืนในประเทศไทยรวมอยู่ที่ 5.6 หมื่นล้านบาท หรือโตเกือบเท่าตัวจากสิ้นปี 2020 โดยมูลค่าทรัพย์สินเกือบทั้งหมดเป็นการลงทุนในต่างประเทศ คิดเป็นมูลค่ารวม 5.5 หมื่นล้านบาทหรือราว 97% ของมูลค่าการลงทุนอย่างยั่งยืนในประเทศไทย ในขณะที่การลงทุนในประเทศมีมูลค่ารวมเพียง 1.5 พันล้านบาท โดยในปัจจุบันแต่ละกองทุนอาจมีแนวทางการคัดเลือกหุ้นที่ลงทุนตามหลักการที่ต่างกันไปในแต่ละบลจ. ซึ่งอาจพัฒนาเป็นการภายในหรืออ้างอิงจากงานวิจัยภายนอก
กองทุน K Positive Change เป็นกองทุนยั่งยืนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดด้วยมูลค่าทรัพย์สินรวม 1.4 หมื่นล้านบาท มีการลงทุนไปยังกองทุน Baillie Gifford Positive Change ที่มีนโยบายการลงทุนเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกต่อสังคม การศึกษา สภาพแวดล้อม สุขภาพ และจากนโยบายนี้กองทุนจึงมีการลงทุนในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและกลุ่มเฮลท์แคร์ผ่านบริษัทเช่น Tesla, TSMC หรือ Moderna ซึ่งถูกมองว่าเป็นบริษัทที่สร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง จึงทำให้กองทุนนี้อยู่ในประเภท Impact Fund
นอกจากนี้ยังมีกองทุนจากบลจ.อื่นที่เป็นการลงทุนอย่างยั่งยืนใน 5 อันดับแรกตามมูลค่าทรัพย์สินสูงสุด โดยสามารถแบ่งตามประเภทการลงทุนดังตารางด้านล่างนี้
จะเห็นได้ว่ากองทุนอาจมีนโยบายที่เน้นไปทางอุตสาหกรรมที่จะส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อมโดยตรงเช่น ลงทุนเกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียน หรืออาจมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกในด้านสังคม สิ่งแวดล้อม หรืออาจใช้ปัจจัยเกี่ยวกับ ESG ในการพิจารณาเลือกการลงทุนก็ได้ ซึ่งหมายถึง 1 กองทุนจะไม่ได้จำกัดว่าอยู่ในประเภทใดประเภทหนึ่งเท่านั้น โดยการเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ในนโยบายการลงทุนถือว่ามีส่วนให้ผู้ลงทุนเข้าใจมากขึ้นว่ากองทุนมีการลงทุนที่ยั่งยืนโดยมีหลักการอย่างไร
ผลตอบแทนกองทุนยั่งยืน
ในด้านของผลตอบแทนกองทุนยั่งยืน ถือได้ว่ามีผลตอบแทนที่สามารถแข่งขันกับกองทุนทั่วไปได้ โดยข้อมูล ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2021 กองทุนที่ได้ผลตอบแทนสูงสุดรอบ 5 เดือนแรกมีทั้งการลงทุนในประเทศและต่างประเทศ โดยกองทุน Innotech Sustainable Thai Equity Systematic (ชนิดผู้ลงทุนทั่วไป) มีผลตอบแทนสูงสุด 24.1% เทียบกับ SET TR ที่ 11.9%
(หมายเหตุ ข้อมูลผลตอบแทนกองทุนยั่งยืนที่ลงทุนในหุ้นไทยเป็นผลตอบแทนของกองทุนที่เปิดขายให้ผู้ลงทุนทั่วไปที่มีผลตอบแทนสูงสุดของแต่ละ share class , กองทุน Tisco ESG Investment Fund for Society A มีการนำเงินค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ 40 ของค่าธรรมเนียมการจัดการไปบริจาคให้แก่หน่วยงานที่ส่งเสริมธรรมาภิบาลไทย หรืองค์กรอื่นที่เกี่ยวข้อง)
ด้านกองทุนต่างประเทศ (FIF) กองทุน Principal Global Silver Age มีผลตอบแทนสูงสุดรอบ 5 เดือนที่ 12.6% โดยมีนโยบายลงทุนไปกับแนวโน้มประชากรสูงวัยของโลก ขณะเดียวกันกองทุนอื่นก็มีผลตอบแทนระดับ 10% ซึ่งสูงกว่าผลตอบแทนเฉลี่ยกองทุนหุ้นทั่วโลกที่ 6.6%
การลงทุนอย่างยั่งยืนที่เป็น FIF นั้น ส่วนใหญ่เป็นกองทุนที่เพิ่งเริ่มดำเนินการ จึงอาจทำให้ยังมีผลตอบแทนย้อนหลังที่ค่อนข้างสั้น แต่ด้วยลักษณะของ FIF จะเป็นรูปแบบ feeder fund หรือ fund of funds ทำให้สามารถใช้ผลตอบแทนของกองทุนที่กองทุนไทยไปลงทุนประกอบการพิจารณาได้ โดยบางกองทุนอาจมีผลตอบแทนติดลบในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ซึ่งอาจมีส่วนมาจากการกระจุกตัวในอุตสาหกรรมใด ๆ หรือมูลค่าหุ้นที่ย่อตัวลงจากที่ก่อนหน้านี้ปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างสูงแล้ว