กัญชา-กัญชง - ความเหมือนและความต่าง
หลายท่านอาจพอทราบถึงความแตกต่างระหว่างกัญชากับกัญชงกันบ้างแล้ว ซึ่งแม้จะเป็นพืชวงศ์เดียวกันแต่ก็มีลักษณะต่างกัน โดยภายนอกจะมีลักษณะต่างกันเช่น ลำต้น ใบ และมีปริมาณสารสำคัญที่อยู่ในกลุ่มแคนนาบินอยด์ (Cannabinoid) 2 ชนิด คือ THC (Tetrahydrocannabinol) และ CBD (Cannabidiol) ในปริมาณที่ต่างกัน โดยกัญชาจะมีสาร THC ที่สูงกว่า แต่มีสาร CBD ที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับกัญชง ซึ่งสาร 2 ตัวนี้มีคุณสมบัติช่วยให้ผ่อนคลาย ลดอาการวิตกกังวล แต่ THC จะสร้างผลข้างเคียงได้เช่น ปากแห้ง หัวใจเต้นเร็ว และกระทบกับการทำงานของสมอง ในขณะที่สาร CBD แทบไม่มีผลข้างเคียง จึงเป็นส่วนให้กัญชงที่มีสาร THC น้อยแต่มีสาร CBD มากกว่าเป็นที่สนใจเพื่อนำมาสกัดสารดังกล่าวและใช้ประโยชน์เช่น ทางการแพทย์
ตลาดกัญชาในต่างประเทศ
ประเทศไทยมีการปรับกฎเกณฑ์เพื่อให้นำพืชชนิดนี้มาใช้ประโยชน์ได้ตามกฎหมาย ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับหลายประเทศเช่น สหรัฐฯ แคนาดา โดยการทำให้ถูกกฎหมายนี้จะช่วยให้การค้าในตลาดมืดลดลงเนื่องจาก ผู้คนหันมาบริโภคจากตลาดที่มีสินค้าถูกกฎหมาย มีคุณภาพและความปลอดภัยซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรมได้มากขึ้น จากข้อมูลตลาด (ที่ถูกกฎหมาย) ในสหรัฐฯ มอร์นิ่งสตาร์คาดว่ามีมูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาทในปี 2020 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.5 ล้านล้านบาท หรือโตกว่า 8 เท่าใน 10 ปีนี้ หรือภายในปี 2030 ทั้งนี้รวมมูลค่าส่วนของกัญชาประเภท recreational หรือที่เรียกว่าเพื่อการสันทนาการด้วย ซึ่งอาจมีรายละเอียดข้อกฎหมายการอนุญาตให้ใช้ที่ต่างกันไปในแต่ละรัฐ
การลงทุนผ่านกองทุนรวม
ด้วยเหตุนี้ธุรกิจที่เกี่ยวกับกัญชาจึงเริ่มได้รับความสนใจมากขึ้น ในประเทศไทยเองก็เริ่มมีผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับพืชชนิดนี้ออกมาให้เห็นกันบ้างแล้ว ความสนใจนี้จึงเริ่มสะท้อนไปในแง่ของการลงทุนเช่นกัน โดยจำนวนกองทุนกัญชาทั่วโลกนั้นเริ่มมีเพิ่มมากขึ้นในช่วงปี 2017-2019
ปัจจุบันมีการออกกองทุนรวมเกี่ยวกับกัญชา-กัญชงให้ผู้ลงทุนไทยได้เลือกลงทุนได้แก่ กองทุน MFC Global Cannabis (MCANN) จากบลจ. เอ็มเอฟซี กองทุนนี้จะลงทุนในกองทุนอีทีเอฟในสหรัฐฯ หลัก 2 กองคือ
1) Amplify Seymour Cannabis ETF (CNBS) ที่มีนโยบายลงทุนแบบเชิงรุก (actively managed) ในบริษัทที่มีรายได้อย่างน้อย 50% เกี่ยวกับกัญชาและกัญชงในด้านการแพทย์ การเกษตร และการส่งเสริมเช่นการเงินการลงทุน โดยพอร์ตการลงทุนเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2021 ลงทุนในหุ้น 33 ตัว มีอัตราส่วนหมุนเวียนการลงทุน (turnover ratio) ที่ 94%
2) Global X Cannabis ETF (POTX) มีการบริหารแบบ passive management หรือเชิงรับที่ให้ผลการดำเนินงานสอดคล้องกับ Solactive Cannabis Index ซึ่งประกอบด้วยธุรกิจเกี่ยวกับกัญชาและกัญชง เช่น การเพาะปลูก ผลิตภัณฑ์สารสกัด การผลิตยา ไปจนถึงการให้บริการทางการเงินที่เกี่ยวข้อง ที่โดยรวมแล้วจะค่อนข้างไปในทิศทางเดียวกันกับ CNBS โดยพอร์ตการลงทุนเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2021 ลงทุนในหุ้น 25 ตัว turnover ratio ที่ราว 60%
อีกกองทุนหนึ่งคือกองทุนจากบลจ. วี คือ We Cannabis Business (WE-CANAB) ซึ่งมีการลงทุนในกองทุน Global X Cannabis ETF (POTX) เช่นกันในสัดส่วน 40% และที่เหลืออีก 60% จะลงทุนใน ETFMB Alternative Harvest ETF (MJ) ที่ลงทุนแบบ passive เช่นกัน เพื่อให้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับ Prime Alternative Harvest Index โดยดัชนีตัวนี้จะลงทุนเกี่ยวกับกัญชาทั้งด้านการแพทย์หรือสันทนาการ รวมถึงผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับยาสูบ พอร์ตการลงทุนเมื่อ 17 พ.ค. 2021 ลงทุนในหุ้น 30 ตัว turnover ratio ที่ 46%
การลงทุนในกัญชา-กัญชงถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับผู้ลงทุนหลายท่าน ก่อนจะเริ่มลงทุนจึงควรศึกษาให้เข้าใจในรายละเอียด เช่น กองทุนมีการลงทุนในธุรกิจใดในห่วงโซ่อุปทานของพืชชนิดนี้ ซึ่งอาจจะนำมาซึ่งมูลค่าที่ต่างกัน ตลอดจนการปรับแก้กฎหมายที่จะมีผลกระทบโดยตรงกับการผลิตและจำหน่ายกัญชา สำหรับความเสี่ยงในกองทุนประเภทนี้ถือว่ามีการกระจุกตัวในอุตสาหกรรม จึงอาจทำให้มีความเสี่ยงมากกว่ากองทุนหุ้นที่มีการกระจายการลงทุนในหลายธุรกิจได้ในบางช่วงเวลา
จากตัวอย่างกองทุนที่ลงทุนเฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับกัญชาทั่วโลก พบว่ามีผลตอบแทนเฉลี่ยสะสม 4 เดือนแรกที่ 30.8% (ข้อมูล ณ วันที่ 30 เมษายน 2021) แต่หากมองย้อนไปช่วงก่อนโควิด หรือ รอบปี 2019 ที่ผลตอบแทนการลงทุนทั่วโลกถือว่าค่อนข้างสูง แต่กองทุนกัญชามีผลตอบแทนเฉลี่ย -18.3% ถือเป็นการสะท้อนถึงความเสี่ยงเฉพาะของกองทุนประเภทนี้เช่นกัน