มอร์นิ่งสตาร์ได้ทำการศึกษาข้อมูลความยั่งยืนในตลาดหุ้นจำนวน 48 ตลาดทั่วโลก หรือเทียบเท่า 97% ของ global market cap เพื่อจะดูว่าประเทศ/ตลาดไหน มีความยั่งยืนมากน้อยเพียงใด โดยใช้ Morningstar Country Index เป็นตัวแทน ซึ่งประเมินโดยการนำ ESG Risk Score ของแต่ละ holding ใน Index นั้นๆ มาคำนวณถ่วงด้วยน้ำหนักตาม Index หรือเป็นลักษณะเดียวกันกับการคำนวณ Morningstar Sustainability Rating ของกองทุนนั่นเอง อย่างไรก็ตามยังไม่มีการให้เรตติ้งสำหรับแต่ละ Country Index แต่จะมีข้อมูลคะแนนของแต่ละประเทศเพื่อให้สามารถเปรียบเทียบกันได้ โดยมีการแบ่งเป็น 5 กลุ่ม (Quintile) ตามภาพ สีเขียวคือคะแนนต่ำ หมายถึงระดับความเสี่ยง ESG ต่ำหรือมีคะแนนความยั่งยืนดีกว่ากลุ่มอื่นนั่นเอง
หมายเหตุ ESG Risk Score ประเมินโดย Sustainalytics เป็นระดับคะแนน 0-100 โดยแบ่งเป็น 5 ระดับคือ Negligible (คะแนน 0-9.99) ที่มีความเสี่ยงต่ำสุดหรือเกณฑ์ดีสุด ไล่ไปที่ Low, Medium, High, และ Severe (คะแนนตั้งแต่ 40 ขึ้นไป) ซึ่งเป็นระดับความเสี่ยงสูงสุดหรือแย่สุดนั่นเอง
ทวีปยุโรป: ผู้นำด้านความยั่งยืนระดับโลก
ทวีปยุโรปถือได้ว่าเป็นผู้นำของความยั่งยืนระดับโลก เห็นได้จากในแผนที่ที่เป็นโซนสีเขียวเข้ม โดยเนเธอร์แลนด์เป็นตลาดที่มีความยั่งยืนสูงสุด จากสัดส่วนของธุรกิจจัดการข้อมูลอย่าง Wolters Kluwer หรือกลุ่มอสังหาริมทรัพย์อย่าง Unibail-Rodamco-Westfield ที่มีความเสี่ยงอยู่ระดับต่ำสุด (Negligible) รวมทั้ง ASML Holding ที่สัดส่วนใน Index สูงสุดและมี ESG Risk Score ระดับ Low
ฮ่องกง-ไต้หวัน: ผู้นำในเอเชีย
ขณะที่ฮ่องกงเป็นตลาดนอกยุโรปที่มีระดับความยั่งยืนสูงสุด หรือที่อันดับ 4 ซึ่งมี AIA Group เป็นสัดส่วนสูงสุดพร้อมกับมีความเสี่ยงที่ต่ำและจัดการความเสี่ยง ESG ที่มีอยู่ได้อย่างดี มีการพัฒนาบุคลากรที่เข้มแข็ง รวมทั้งแสดงถึงการให้ความสำคัญด้าน ESG โดยมีการตั้งมีคณะกรรมการเป็นการเฉพาะ ไต้หวันเป็นอีกตลาดหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มความยั่งยืนระดับดีสุดซึ่งเป็นผลจาก Taiwan Semiconductor ที่มี ESG Risk ระดับ Low ซึ่งมีสัดส่วนใน Index สูงที่สุด
สหรัฐอเมริกา: อันดับ 13 จากบางบริษัทมีความเสี่ยงระดับสูง
สหรัฐอเมริกาอยู่ในอันดับ 13 ซึ่งมีบริษัทยักษ์ใหญ่เช่น Apple, Microsoft, Berkshire Hathaway และ Visa เป็นผู้นำด้านความยั่งยืน แต่ในขณะเดียวกันมี Facebook, Amazon และ Johnson & Johnson ที่มีความเสี่ยง ESG ระดับสูง ซึ่งเกิดจากบางประเด็นเชิงลบของแต่ละบริษัทเช่น ประเด็นข้อมูลหรือความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน Facebook หรือแนวปฏิบัติกับแรงงานในห่วงโซ่อุปทานของ Amazon ที่อยู่ในระดับไม่ดีนัก และทาง Johnson & Johnson ยังเกิดการฟ้องร้องหลายกรณีจากมาตรฐานความปลอดภัยจากการใช้ผลิตภัณฑ์
ประเทศไทย: ระดับปานกลาง-อันดับสองในอาเซียน
คะแนนความยั่งยืนของประเทศไทยอยู่ในกลุ่มสีเหลืองหรือระดับปานกลาง หรืออันดับสองในอาเซียน รองจากสิงคโปร์ หากดูในรายบริษัทจะพบว่า holding อันดับต้นๆ ของ Index นั้นจะประกอบด้วยกลุ่มพลังงาน ค้าปลีก ธนาคาร สื่อสาร เช่น PTT, CPALL, ADVANC, SCB เป็นต้น ซึ่งใน 10 อันดับแรกนั้นมีน้ำหนักเกือบ 40% ของพอร์ต แต่ส่วนใหญ่จะถูกจัดอยู่ในกลุ่มบริษัที่มีความเสี่ยง Medium ไปจนถึง Severe และไม่มีหุ้นตัวใดใน Index ได้ระดับ Negligible ซึ่งสะท้อนไปยังคะแนน Country Index ที่อยู่ในระดับปานกลางเมื่อเทียบกับตลาดอื่นทั่วโลก
Carbon Risk Score กับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ low-carbon economy
นอกจากคะแนนความยั่งยืนแล้ว มอร์นิ่งสตาร์ยังได้ประเมิน Carbon Risk Score ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่า มูลค่าขององค์กรนั้นมีระดับความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสู่ low-carbon economy มากน้อยเพียงใด หรือหมายความว่าบริษัทที่มี Carbon Risk ระดับต่ำจะปรับตัวหรือดำเนินธุรกิจต่อไปได้หากเศรษฐกิจโลกมีการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลที่น้อยลง ทำให้อาจเดาได้ไม่ยากว่าความเสี่ยงประเภทนี้จะมีความเกี่ยวข้องกับบางอุตสาหกรรมมากกว่า เช่น พลังงาน สาธารณูปโภค เป็นต้น หากประเทศหรือตลาดใดมีมูลค่าอุตสาหกรรมดังกล่าวที่สูงในตลาด ก็จะมีส่วนให้ Carbon Risk สูง (แย่) ตามไปด้วย
จากแผนที่ด้านล่างนี้ยังคงแสดงให้เห็นว่าโซนยุโรปยังเป็นกลุ่มที่มี Carbon Risk ระดับต่ำสุด เช่น สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก หรือสวีเดน เป็นต้น นอกจากนี้สหรัฐอเมริกาเองก็มี Carbon Risk อยู่ในระดับต่ำเช่นกัน ซึ่งเกิดจากมูลค่าบริษัทที่เกี่ยวกับทางเทคโนโลยี การแพทย์ที่สูง ในทางตรงกันข้าม ประเทศรัสเซีย มีสัดส่วนเกือบ 55% เป็นบริษัทพลังงาน จึงทำให้เป็นประเทศที่มี Carbon Risk สูงสุดในโลกนั่นเอง