กลุ่ม Global Bond เป็นอีกกลุ่มกองทุนต่างประเทศที่มีการเติบโตต่อเนื่องที่ 28.3% จากปี 2019 ไปอยู่ที่ระดับ 1.0 แสนล้านบาทได้อีกครั้งหลังจากปี 2017 โดยในปีนี้กลุ่ม Global Bond ติดอันดับกลุ่มเงินเข้าสุทธิ ด้วยเงินไหลเข้าสุทธิต่อเนื่องในไตรมาสสุดท้ายมูลค่า 2.8 พันล้านบาท รวมเป็นเงินไหลเข้าสุทธิตลอดทั้งปีรวม 2.2 หมื่นล้านบาท โดยเน้นไปที่กองทุนเปิดใหม่เช่น Thanachart Eastspring GIS Global (เงินไหลเข้าสุทธิ 5.7 พันล้านบาท) ที่มีการลงทุนไปยังกองทุนจาก PIMCO คือ PIMCO GIS Global Bond Fund Institutional USD Accumulation ซึ่งเป็นกองทุนเก่าแก่ สามารถสร้างผลตอบแทนเทียบกับกลุ่มได้ในระดับสูง และเป็นกองทุนที่มี Morningstar Rating ระดับ 5 ดาวและ Morningstar Analyst Rating ระดับ Gold ซึ่งเป็นระดับสูงสุด โดยมีทีมผู้จัดการกองทุนที่มีประสบการณ์ในการบริหารพอร์ตที่สร้างความสมดุลย์ระหว่างกระจายความเสี่ยงและความยืดหยุ่นได้อย่างเหมาะสม มีสไตล์การลงทุนในตราสารหนี้เอกชนไม่เกินครึ่งหนึ่งของพอร์ต และในตราสารหนี้จากตลาดเกิดใหม่ไม่เกิน 1 ใน 3 ในช่วงที่มีการเทขายตราสารหนี้ต้นปี 2020 กองทุนนี้ไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนการลงทุนมากนัก แต่เป็นการเพิ่มสัดส่วนตราสารการลงทุนที่มีอยู่เดิม ทำให้ผลตอบแทนสามารถกลับขึ้นมาได้ในช่วงตลาด rebound
ในภาพรวมกองทุนกลุ่ม Global Bond ยังมีบลจ. PIMCO ที่ยังครองส่วนแบ่งการลงทุนด้วยสัดส่วน 60% แต่ถือว่ามีการกระจายตัวไปยังบลจ.อื่นมากขึ้น จากที่ก่อนหน้านี้มีการลงทุนในกองทุน PIMCO GIS Income Fund Institutional USD Accumulation ผ่านกองทุน TMB Global Income ที่เคยเป็นกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศขนาดใหญ่ระดับแสนล้านในช่วงปี 2017
อย่างไรก็ตาม พบว่า JPMorgan เป็นบลจ. ที่มีกองทุนรวมตราสารหนี้ของไทยเข้าลงทุนสูงสุดในปีนี้มากกว่า 8 พันล้านบาท โดยเป็นการลงทุนในกองทุน JPM Income C จากบลจ.ธนชาต บลจ.ทหารไทย และบลจ.ยูโอบี
มูลค่าทรัพย์สินกองทุนรวมฟีดเดอร์ฟันด์อยู่ที่ 5.8 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 45% จากปี 2019 เป็นการลงทุนในกองทุนจากบลจ. PIMCO มีสูงสุดที่ระดับ 6 หมื่นล้านบาท ลดลงราว 4% ตรงกันข้ามกับบลจ.ที่มีการขายกองทุนหุ้นซึ่งมีการเติบโตแบบก้าวกระโดดเช่นบลจ. UBS ที่เติบโตเกือบ 400% ทำให้ระยะห่างระหว่าง 2 อันดับแรกเริ่มแคบลงเรื่อย ๆ รวมทั้งสัดส่วนการลงทุนตราสารทุนต่างประเทศที่เติบโตขึ้น จึงทำให้เป็นไปได้ว่าบลจ. ที่มีกองทุนตราสารทุนเป็นจุดขายเช่น UBS, JPMorgan หรือ BlackRock อาจกลับมาเป็นบลจ. Master fund ที่มีมูลค่าทรัพย์สินสูงสุดได้ในอนาคต
ปัจจุบัน master fund ของกองทุนรวมฟีดเดอร์ฟันด์มี Morningstar Rating ระดับ 4 ดาวขึ้นไปรวมกัน 290 กองทุน ส่วนกองทุนที่ไม่มีเรตติ้งมีจำนวน 162 กองทุน ซึ่งอาจเป็นกองทุนที่อายุไม่ถึง 3 ปีจึงยังไม่มีเรตติ้ง หรือเป็นกองทุนที่อยู่ในกลุ่มที่ไม่มีการจัดเรตติ้งเช่นกองทุนทองคำ
หากดูที่มูลค่าเงินลงทุนส่วนใหญ่พบว่าอยู่ในกลุ่มกองทุน master fund ระดับ 4 ถึง 5 ดาว มีมูลค่ารวมมากกว่า 3 แสนล้านบาท ด้านทิศทางเงินลงทุนจะพบว่าในปี 2020 ประเทศไทยมีการเข้าลงทุนใน master fund ระดับ 5 ดาวเป็นส่วนใหญ่ ที่มูลค่าราว 7 หมื่นล้านบาท และมีอีกส่วนหนึ่งไหลเข้ากองทุนที่ไม่มีเรตติ้งเช่นกัน จากเม็ดเงินลงทุนในกองทุน master fund ที่ได้ระดับ 4-5 ดาวนั้นถือเป็นการสร้างประสบการณ์การลงทุนที่ดีแก่นักลงทุนจากการกระจายความเสี่ยงไปต่างประเทศ ซึ่งอาจส่งผลให้กองทุนรวมต่างประเทศเติบโตขึ้นได้อย่างต่อเนื่องในอนาคต