กองทุน LTF และ RMF

กองทุน LTF มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 3.5 แสนล้านบาท ลดลง 14.6% จากสิ้นปี 2019 กองทุน RMF มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิกลับขึ้นมาในระดับ 3 แสนล้านบาทได้อีกครั้งหลังจากที่ปรับตัวลงไปในช่วงกลางปี โดยเพิ่มขึ้น 8.5% จากปี 2019 

Morningstar 20/01/2564
Facebook Twitter LinkedIn

กองทุน LTF มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 3.5 แสนล้านบาท ลดลง 14.6% จากสิ้นปี 2019 แต่เพิ่มขึ้น 10.4% จากไตรมาสที่ 3 จากมูลค่าทรัพย์สินที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นตาม SET Index อย่างไรก็ตามในไตรมาสสุดท้ายของปียังมีเงินไหลออกจากกองทุน LTF ต่อเนื่องอีก 3.7 พันล้านบาท รวมเป็นเงินไหลออกสุทธิทั้งปีรวมเกือบ 1.5 หมื่นล้านบาท ผลตอบแทนเฉลี่ยกองทุน LTF รอบ 1 ปีที่ผ่านมาอยุ่ที่ -8.0% ในขณะที่รอบรอบ 5 ปีอยู่ที่ 2.1% 

LTF RMF TNA

กองทุน RMF มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิกลับขึ้นมาในระดับ 3 แสนล้านบาทได้อีกครั้งหลังจากที่ปรับตัวลงไปในช่วงกลางปี โดยเพิ่มขึ้น 8.5% จากปี 2019 ด้านทิศทางเม็ดเงินกองทุน RMF ในปีนี้ถือว่ามีเงินไหลเข้าในไตรมาสสุดท้ายที่สูงกว่าทุกปีที่ 3.1 หมื่นล้านบาท รวมทั้งปีมีเงินไหลเข้าสุทธิ 3.6 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเงินไหลเข้ากองทุน RMF – Equity รวมราว 2.3 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ในปี 2020 มีกองทุนเปิดใหม่จำนวน 28 กองทุน โดยเกือบทั้งหมดเป็นกองทุนเปิดใหม่ในไตรมาสสุดท้าย รวมทั้งเป็นกองทุนต่างประเทศเป็นหลัก เช่น กลุ่ม Global Equity หรือ China Equity เป็นต้น 

LTF RMF flow

ผลตอบแทนเฉลี่ยกองทุน RMF มีกลุ่มกองทุนทองคำ (ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม RMF - Other) ที่มีผลตอบแทนเฉลี่ยสูงสุดรอบ 1 ปีที่ 15.9% ตามมาด้วยกลุ่มกองทุนหุ้น (RMF – Equity) เฉลี่ยที่ 4.3% ที่เป็นผลจากผลตอบแทนเป็นบวกของหุ้นต่างประเทศแต่กองทุนหุ้นไทยมีผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบ ทั้งนี้ในรอบ 3 เดือนล่าสุดเฉลี่ยที่ 11% เนื่องจากการลงทุนหุ้นไทยที่ฟื้นตัว 

LTF RMF ret

ในรอบปี 2020 นี้ถือได้ว่าเป็นปีแห่งการเติบโตของกองทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะกองทุน RMF นั้นจะพบว่ากองทุนต่างประเทศมีส่วนแบ่งตลาดที่เติบโตขึ้นอย่างชัดเจน แตกต่างจาก RMF ที่ลงทุนในประเทศซึ่งถือว่าไม่เติบโตเลย โดย ณ สิ้นปี ตลาดกองทุน RMF มีสัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศราว 19% เทียบกับเพียง 9% ในปี 2016 แสดงให้เห็นความเชื่อมั่นจากนักลงทุนในการกระจายการลงทุนไปยังต่างประเทศมากขึ้น

RMF local foreign

ทิศทางเงินกองทุนประหยัดภาษีช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่าง LTF และ SSF

ด้วยเหตุที่กองทุน LTF ได้มีการยกเลิกสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อผู้ลงทุนไปแล้ว แน่นอนว่าทิศทางกองทุน LTF ตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นไปจะเป็นเงินไหลออก ในขณะที่กองทุน SSF ที่มาทดแทนนั้นถือว่ายังต่ำกว่าเม็ดเงินกองทุน LTF อยู่พอสมควร หากนำค่าเฉลี่ยเม็ดเงินไหลเข้าสุทธิกองทุน LTF ในรอบ 5 ปี (2015-2019) จะพบว่าอยู่ที่ประมาณ 2.4 หมื่นล้านบาท ในขณะที่กองทุน SSF มีเม็ดเงินราว 9 พันล้านบาท หากนำปริมาณเงินไหลเข้ากองทุน SSFX ที่เปิดขายเฉพาะในช่วงกลางปี 2020 ที่ราว 1 หมื่นล้านบาทมารวมจะอยู่ที่เกือบ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งยังน้อยกว่าค่าเฉลี่ยเม็ดเงินกองทุน LTF ทั้งนี้ยังไม่รวมกับเม็ดเงินกองทุนไหลออกสุทธิในปีล่าสุดที่ราว 1.5 หมื่นล้านบาท แสดงให้เห็นว่าปริมาณเงินลงทุนประหยัดภาษีนั้นน้อยลงจากในอดีต ซึ่งอาจเป็นผลจากข้อกำหนดหรือเงื่อนไขการลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไป ในขณะที่กองทุน RMF นั้นยังมีปริมาณเงินไหลเข้าสุทธิใกล้เคียงกับในอดีต

หากมองไปในอนาคตที่กองทุน LTF มีแนวโน้มเป็นเงินไหลออกโดยใช้ผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนได้รับในการประเมิน ซึ่งมอร์นิ่งสตาร์ได้ใช้ค่า Investor Return ซึ่งเป็นค่าผลตอบแทนที่ให้น้ำหนักกับเงินไหลเข้า-ออกกองทุนที่จะทำให้ทราบว่าผลตอบแทนที่นักลงทุนได้รับจริงโดยเฉลี่ยนั้นเป็นเท่าใด เพื่อให้ช่วยประเมินได้ว่านักลงทุนมีแนวโน้มที่จะสามารถขายกองทุนเพื่อทำกำไรได้หรือไม่ โดยพบว่า ณ สิ้นปี 2020 ค่า Investor return รอบ 5 ปีสำหรับกองทุน LTF โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 1.2% ในขณะที่ผลตอบแทน (total return) โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2.1% ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่อาจไม่เป็นที่น่าพอใจนักสำหรับนักลงทุน 

LTF inv return

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar