เพราะเป็นเทรนด์ที่กำลังเติบโต...
การลงทุนอย่างยั่งยืนถือเป็นแนวทางการลงทุนที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เห็นได้ชัดจากทางฝั่งยุโรปที่เป็นทวีปหลัก โดยมีเม็ดเงินลงทุนที่มากกว่า 70% ของการลงทุนยั่งยืนทั่วโลก รวมทั้งการมีกฎเกณฑ์ที่กำกับดูแลการเปิดเผยข้อมูลในด้านนี้สำหรับกองทุนรวม ซึ่งการเติบโตนี้เป็นผลจากการให้ความสนใจของผู้ลงทุนสถาบัน
...ที่นำไปสู่ระบบนิเวศทางการเงินที่ยั่งยืน
ด้วยเหตุที่ว่าการลงทุนยั่งยืนนั้นไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของมูลค่าการลงทุน แต่ยังรวมถึงความเสี่ยงและโอกาสการเติบโตที่ควรพิจารณาควบคู่ไปกับวิธีการประเมินมูลค่าบริษัทหรือหลักทรัพย์เพื่อการลงทุนแบบเดิมเพื่อประโยชน์ของผู้ลงทุน ซึ่งจะนำไปสู่ระบบนิเวศทางการเงินที่ยั่งยืน เพราะการให้ความสนใจด้าน ESG ของผู้ลงทุนส่งผลให้บริษัทจดทะเบียนตื่นตัวและนำแนวคิดของความยั่งยืนไปผสมผสานกับการวางแผนธุรกิจเพื่อการเติบโตด้วยเช่นกัน
ความยั่งยืนกับผลตอบแทน
การลงทุนอย่างยั่งยืนมักถูกตั้งคำถามในประเด็นการสร้างผลตอบแทน ในอดีตหลายคนอาจมองว่าหากพิจารณาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมหรือสังคมพร้อมกับปัจจัยด้านการเงินหรือผลกำไรอาจส่งผลลบต่อผลตอบแทนในที่สุด แต่ในปัจจุบันมุมมองนี้เริ่มเปลี่ยนไปในลักษณะการผสมผสานการวางแผนด้านสังคม สิ่งแวดล้อมและธรรมาภิบาลเพื่อการพิจารณาหรือตัดสินใจทางธุรกิจที่ดีขึ้น หรือเรียกได้ว่าเป็นการมองปัจจัยอย่างครอบคลุมหรือรอบด้านมากขึ้นนั่นเอง
การเปิดเผยข้อมูล ESG ยังคงต้องพัฒนาเพื่อประโยชน์ของผู้ลงทุน
นอกจากทางปฏิบัติแล้ว เกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลนั้นยังเป็นส่วนที่ควรได้รับการพัฒนา เนื่องจากในปัจจุบันถือได้ว่ามีแนวทางการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนที่ค่อนข้างแตกต่างหลากหลาย และมักจะเป็นไปในลักษณะการเปิดเผยแบบสมัครใจ ซึ่งทางมอร์นิ่งสตาร์มองว่าการสร้างมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้นักลงทุนเข้าใจและสามารถเปรียบเทียบกองทุนได้
สวีเดนมีการเปิดเผยข้อมูล ESG สำหรับกองทุนมาตั้งแต่ปี 2018
ปัจจุบันประเทศสวีเดนถือเป็นผู้นำด้านการเปิดเผยข้อมูล ESG ในระดับกองทุน นับตั้งแต่มกราคม 2018 กองทุนในสวีเดนจะต้องเปิดเผยแนวทางเกี่ยวกับการลงทุนยั่งยืนตามที่กำหนดไว้ในแต่ละหัวข้อเช่น กองทุนพิจารณาปัจจัยด้านการลงทุนยั่งยืนหรือไม่/ในหัวข้อใดบ้าง หรือกองทุนจะไม่ลงทุนในธุรกิจใดบ้าง เป็นต้น ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ได้มีการรวบรวมและเปิดเผยเป็นการทั่วไป
พัฒนาการทางฝั่งเอเชีย
ขณะเดียวกันทางฝั่งเอเชียก็ถือว่าเริ่มมีการตื่นตัวกับการลงทุนยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่นสำนักงานกำกับหลักทรัพย์ของฮ่องกงได้มีการกำหนดแนวทางเพื่อให้สามารถระบุได้ว่าเป็นกองทุนเพื่อความยั่งยืน เช่น คำอธิบายของกองทุนเกี่ยวกับกลยุทธ์ว่ามีการใช้เกณฑ์ความยั่งยืนในการลงทุนอย่างไร มีการวิเคราะห์หรือประเมินด้านความยั่งยืนของหลักทรัพย์เพื่อการลงทุนอย่างไร ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะมีการแจ้งในหนังสือชี้ชวนให้ผู้ลงทุนรับทราบ รวมทั้งสำนักงานกำกับหลักทรัพย์ของฮ่องกงมีการเปิดเผยรายชื่อกองทุนที่เข้าเกณฑ์ที่กำหนดทางเว็บไซต์เป็นการเฉพาะ (Link รายชื่อกองทุน ESG)
ขณะที่ประเทศไทยนั้นเป็นไปในลักษณะคล้ายกับหลายประเทศที่อาจยังไม่มีแนวทางเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนของกองทุนรวมที่ชัดเจน แต่ได้มีการริเริ่มพิจารณาและมีแนวโน้มที่จะถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นสำคัญในอนาคต และปัจจุบันเว็บไซต์ของมอร์นิ่งสตาร์ได้รวบรวมรายชื่อกองทุนที่มี Morningstar Sustainability Rating ซึ่งเป็นการบอกว่ากองทุนมีการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยง ESG ในระดับใด เช่น กองทุนหุ้นที่มี 5 globe (ลูกโลก) หมายถึงกองทุนนั้นลงทุนในหุ้นที่มีความเสี่ยง ESG ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับกองทุนลักษณะเดียวกัน โดยนักลงทุนสามารถดูข้อมูลได้ที่ https://bit.ly/2LASDjY