ยุโรปยังคงเป็นตลาดหลักของกองทุนยั่งยืน
กองทุนยั่งยืนในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมามีการเติบโตถึง 19% จากไตรมาสก่อนหน้าไปอยู่ที่ระดับ 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นสถิติใหม่สูงสุด โดยทางฝั่งทวีปยุโรปยังเป็นตลาดหลักจากที่มีมูลค่าทรัพย์สินถึง 1.0 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 82% ของมูลค่ากองทุนยั่งยืนทั่วโลก ในปัจจุบันมีกองทุนยั่งยืนในยุโรปถึง 2,898 กองทุน และยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากที่หลายกองทุนจะนำปัจจัยด้าน ESG มาพิจารณาในการลงทุนเพื่อสร้างโอกาสหรือลดความเสี่ยงการลงทุน จึงทำให้ยุโรปเป็นทวีปที่มีการพัฒนาและมีความหลากหลายด้านกองทุนยั่งยืนสูงสุด
กองทุนยั่งยืนในสหรัฐฯมีการเติบโตใน Passive Fund
ทางฝั่งสหรัฐอเมริกาก็มีการเติบโตของกองทุนยั่งยืนเช่นกัน โดยล่าสุดมีมูลค่ารวม 1.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้น 13% จากไตรมาสก่อนหน้า ทั้งนี้มีการเปิดกองทุนใหม่รวม 23 กองทุน ทำให้มีกองทุนยั่งยืนในสหรัฐฯรวมทั้งสิ้น 367 กองทุน การเปิดกองทุนใหม่ในปีนี้หลายกองทุนจากบลจ.รายใหญ่อยู่ในรูปแบบกองทุน ETF ที่มีค่าธรรมเนียมต่ำทำให้ได้รับความสนใจจากนักลงทุน เห็นได้จากมูลค่าเงินไหลเข้าสุทธิกองทุนยั่งยืนในไตรมาส 3 9.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในจำนวนนี้เป็นเงินไหลเข้ากองทุน Passive fund รวมกว่า 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
กองทุนยั่งยืนในญี่ปุ่นมีการเติบโตแบบก้าวกระโดด
หากมาดูทางฝั่งเอเชียจะพบว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีปริมาณเงินไหลเข้าที่สูงถึง 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯในไตรมาส 3 โดยมีเงินจากกองทุนเปิดใหม่เป็นหลักเช่น กองทุน AMOne Global ESG High Quality Growth Equity Fund มีเงินไหลเข้าทั้งสิ้น 5.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (AM One หรือ Asset Management One เป็นอีกหนึ่งบลจ.รายใหญ่ในประเทศญี่ปุ่นที่มีส่วนแบ่งตลาดราว 10%) นอกจานี้ยังมีกองทุน Nomura BR Circular Economy Related Equity Funds ที่เปิดใหม่ในเดือนสิงหาคมและมีเงินไหลเข้าสุทธิเกือบ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยในภาพรวมกองทุนยั่งยืนในญี่ปุ่นจะเป็นกองทุนหุ้นที่เป็น Active Fund เป็นหลัก ต่างจากสหรัฐฯที่เป็น Passive Fund เป็นส่วนใหญ่ ทำให้ ณ สิ้นเดือนกันยายนที่ผ่านมากองทุนยั่งยืนในประเทศญี่ปุ่นมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากราว 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯในไตรมาสก่อนหน้า
ในภาพรวมกองทุนยั่งยืนในตลาดขนาดใหญ่ทั่วโลกมีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญและเข้ามามีบทบาทกับการตัดสินใจของนักลงทุนมากขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่ทางฝั่งเอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) อาจยังได้รับความสนใจไม่มากนัก โดยมูลค่ากองทุนยั่งยืนในโซนเอเชียแปซิฟิกที่ไม่รวมประเทศญี่ปุ่น (Asia Pacific ex Japan) อยู่ที่ 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เติบโตขึ้นราว 26% จากไตรมาสก่อนหน้า โดยกองทุนจากไต้หวันมีมูลค่าเงินไหลเข้าสูงสุดในกลุ่มนี้ที่ 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากที่มีการเปิดกองทุนใหม่ รวมกองทุนยั่งยืนในไต้หวันมีมูลค่ารวมทั้งสิ้นเกือบ 2.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
สำหรับประเทศไทยถือว่าเป็นตลาดที่ค่อนข้างเล็กในเอเชีย มูลค่าทรัพย์สินกองทุนยั่งยืน ณ สิ้นเดือนกันยายนรวมอยู่ที่ 41 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1.3 พันล้านบาท (ไม่รวมกองทุนฟีดเดอร์หรือกองทุนรวมหน่วยลงทุน) อย่างไรก็ตามในช่วงระยะที่ผ่านมานี้หลายบลจ.เริ่มให้ความสำคัญกับกองทุนยั่งยืนมากขึ้น แต่อาจอยู่ในรูปแบบกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศหรือฟีดเดอร์ฟันด์ สำหรับนักลงทุนที่สนใจสามารถดูรายชื่อกองทุนรวมไทยที่ได้รับการจัดเรตติ้ง (Morningstar Sustainability Rating) ได้ที่หน้า