ปัจจุบันบริษัทต่าง ๆ ต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากความต้องการการมีความรับผิดชอบและความโปร่งใสขององค์กรทั้งที่เกี่ยวข้องกับ สิ่งแวดล้อม ความใส่ใจต่อสวัสดิภาพของลูกจ้างและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในสังคม และมีหลักธรรมาภิบาลในองค์กร โดยทางมอร์นิ่งสตาร์จัดให้ปัจจัยเหล่านี้ (สิ่งแวดล้อม, สังคม, และธรรมาภิบาล หรือ ESG) เป็นความเสี่ยงที่หากองค์กรใดละเลยความเสี่ยงเหล่านี้ก็อาจสร้างความเสียหายหรือมีความเสี่ยงต่อการสร้างผลกำไรอย่างยั่งยืนในระยะยาว
นักลงทุนสามารถจัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับ ESG ในพอร์ตการลงทุนได้โดยทำความเข้าใจถึงความสามารถในการแข่งขันที่มีความยั่งยืนว่าส่งผลอย่างไรต่อความเสี่ยงเหล่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ทางนักวิเคราะห์ของมอร์นิ่งสตาร์ใช้ในการประเมินบริษัทนั่นเอง ตัวอย่างการประเมินโดยนักวิเคราะห์นั้น ได้แก่
- ประเด็นใดในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลมีความสำคัญทางเศรษฐกิจกับบริษัท
- บริษัทมีการจัดการกับความเสี่ยงเหล่านั้นอย่างไร
- ความเสี่ยงเหล่านั้นส่งผลกระทบต่อองค์กรอย่างไรในระยะยาว
จากตัวอย่างข้างต้นนั้นพบว่าผลที่ได้ค่อนข้างหลากหลายและแสดงให้เห็นว่าประเด็นแต่ละด้านของ ESG ค่อนข้างเกี่ยวข้องกัน นอกจากนี้ economic moat และ ESG Risk ยังมีลักษณะเชื่อมโยงกัน โดย Economic Moat ของบริษัทอาจอยู่ในรูปแบบของสินทรัพย์ไม่มีตัวตน, switching cost, network effect , efficient scale และ cost advantage สิ่งเหล่านี้จะถูกใช้ในการประเมิน economic moat โดยเป็นการบ่งบอกถึงความสามารถในการแข่งขันและการสร้างมูลค่าต่อผู้ถือหุ้นในระยะยาว ในส่วนของ ESG Risk นั้นได้รับการประเมินโดย Sustainalytics ที่จะให้เรตติ้ง ESG Risk ของแต่ละบริษัทใน 5 ระดับตั้งแต่ Negligible (ระดับความเสี่ยงต่ำสุด) ไปจนถึง Severe (ระดับความเสี่ยงสูงสุด)
ในการวิเคราะห์พบว่าผลการประเมินของ ESG Risk และ Economic moat มีความสอดคล้องกัน โดยบริษัทที่มีระดับความเสี่ยงด้าน ESG อยู่ในระดับดีสุด (ESG Risk ที่ระดับ Negligible) จะเป็นบริษัทที่มี Economic Moat เป็นสัดส่วนหลัก ในขณะที่กลุ่มบริษัทที่มีความเสี่ยง ESG ในระดับด้อยสุด (ESG Risk ระดับ Severe) จะเป็นบริษัทที่ไม่มี Economic Moat เป็นสัดส่วนหลักซึ่งหมายความว่าขาดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนนั่นเอง ซึ่งเป็นการสะท้อนว่าบริษัทที่มี Economic Moat มักจะมีพื้นฐานที่ดีซึ่งส่งเสริมการจัดการ ESG Risk ในขณะเดียวกันบริษัทที่มีการจัดการความเสี่ยง ESG ที่ดีจะมีต้นทุนด้านบุคลากร หรือการเงินทีดีกว่าในการสร้าง Economic Moat
จากที่กล่าวมาข้างต้นนี้การประเมิน ESG Risk และ Economic moat เป็นการวิเคราะห์ในระดับหลักทรัพย์รายตัว แต่หากดูในระดับกองทุนนั้นทางมอร์นิ่งสตาร์ก็มีการจัดเรตติ้ง ESG ในระดับกองทุนซึ่งนักลงทุนหลายท่านอาจคุ้นเคยกันมาบ้างแล้วหรือที่เรียกว่า Morningstar Sustainability Rating และ Morningstar Rating หรือเรตติ้งรูปดาวที่หลายท่านรู้จักกันเป็นอย่างดี
หากนำกองทุนที่มี Morningstar Sustainability Rating และ Morningstar Rating ของไทยจำนวน 474 กองมาวิเคราะห์แล้วจะพบว่ากองทุนกลุ่มที่มี Morningstar Rating ระดับ 5 ดาวจะมี Morningstar Sustainability Rating ในระดับตั้งแต่ Average ขึ้นไปเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่กลุ่มกองทุนที่ได้ Morningstar Rating ระดับ 1 ดาวจะมีกองทุนที่ได้ Morningstar Sustainability Rating ที่ Below Average และ Low ในสัดส่วนที่สูงกว่ากลุ่มกองทุน 5 ดาว ซึ่งเป็นการสะท้อนว่ากองทุนที่ลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีการจัดการความเสี่ยงด้าน ESG ที่ดีจะส่งผลต่อผลการดำเนินงานของกองทุนเช่นกัน
ที่มา: Morningstar Direct, ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2019
สำหรับนักลงทุนที่สนใจสามารถดูข้อมูลกองทุนรวมของไทยที่มี Morningstar Sustainability Rating ได้ที่หน้า “กองทุนยั่งยืน” หรือคลิกที่นี่ ซึ่งสามารถคัดกรองกองทุนโดยแบ่งตาม บลจ., กลุ่มกองทุนของมอร์นิ่งสตาร์หรือจะแบ่งตาม Morningstar Rating ก็สามารถทำได้เช่นกัน
ในปัจจุบันประเทศไทยถือได้ว่ามีการตื่นตัวในเรื่อง ESG มากขึ้นโดยเฉพาะการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเช่นการงดใช้ถุงพลาสติกของหลายห้างร้าน ซึ่งเป็นการแสดงความรับผิดชอบทั้งต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นอาจทำให้นักลงทุนหลายท่านตระหนักว่า ESG เป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด แม้กระทั่งเรื่องการลงทุนที่จะสะท้อนไปที่ผลการดำเนินงานของกองทุนเช่นกัน ซึ่งในอนาคตอาจมีหลาย บลจ. ที่จะให้ความสนใจในประเด็นดังกล่าวมากขึ้นดังเช่นในตลาดที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกาที่บลจ. และนักลงทุนให้ความสำคัญกับการลงทุนอย่างยั่งยืนกันอย่างแพร่หลาย